Digital Ventures (DV) บริษัทลงทุนในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศความร่วมมือกับเครือซีเมนต์ไทย (SCG) พัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้าง B2P (Blockchain Solution for Procure-to-Pay)
ระบบ B2P พัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยี Blockchain ของบริษัท R3 ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพในสหรัฐที่พัฒนาระบบ Blockchain สำหรับธนาคาร (โซลูชันของ R3 ชื่อว่า Corda ซึ่งหน่วยงานอื่นในไทยที่ใช้งานคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ธนาคารกรุงเทพ)
นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง SCG ระบุว่าเดิมทีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีขั้นตอนที่ต้องตรวจสอบมากมาย เปลืองเวลา แรงงานคน และเอกสารของทุกฝ่าย จึงต้องการปรับปรุงเครือข่าย supply chain ของ SCG ให้สะดวกและโปร่งใสมากขึ้น ที่ผ่านมา B2P เริ่มนำร่องใช้กับบางธุรกิจของ SCG มาแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม
หน้าที่ศึกษา ทดลอง และพัฒนาระบบเป็นของ Digtal Ventures โดยหลังการทดลองใช้งานประมาณ 1 เดือน พบว่าประหยัดทรัพยากรลงได้กว่า 50% และเมื่อรายการสั่งซื้อได้รับการอนุมัติ คู่ค้าของ SCG จะได้รับเงินทันที แถมคู่ค้ายังสามารถนำใบแจ้งหนี้ไปค้ำประกัน (invoice financing) ผ่านระบบได้ทันทีเช่นกัน
ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์ Digital Ventures
บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด จับมือ เอสซีจี ตอกย้ำภาพลักษณ์องค์กรแห่งการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกาศความร่วมมือยกระดับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนครอบคลุมเครือข่าย Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เปิดตัว B2P (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) แพลตฟอร์มจัดซื้อจัดจ้างครบวงจรบน R3 Blockchain ครั้งแรกของโลก ได้นำร่องศึกษา พัฒนาโดยเริ่มใช้จริงกับเครือข่าย Supply Chain บางกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนขยายผลครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจต่อไป พร้อมผลักดัน B2P เป็นต้นแบบของการพัฒนาโซลูชั่นอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้าน Supply Chain ทั้งระบบ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรภาคเอกชนของไทยพาณิชย์ในอนาคต
นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แก้ปัญหาต่างๆ ให้กับผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว จึงเน้นการเปิดโอกาสให้องค์กรชั้นนำทั่วโลกมาเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกัน หรือเรียกว่า Open-Collaboration เพราะเทคโนโลยีหลายด้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันและการดำเนินงานขององค์กรได้พัฒนาไปอย่างมากและรวดเร็ว ดังนั้น การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จะทำให้เอสซีจีสามารถเชื่อมโยงนวัตกรรมใหม่ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีศักยภาพสูง ทำให้ข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจแบบเดิมหายไป พร้อมช่วยเสริมรากฐานระยะยาวให้เอสซีจีเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
และเพื่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เอสซีจี จึงร่วมมือกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินชั้นนำ ในการนำเทคโนโลยี Blockchain จาก R3 มาใช้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) กับคู่ค้าอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งเดิมมีขั้นตอนการตรวจสอบที่ต้องใช้เวลา แรงงานคน เอกสารที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมถึงเชื้อเพลิงในการขนส่งเอกสารต้นฉบับและสำเนาไปมา ทั้งของฝั่งผู้ซื้อ ผู้ขาย และคู่ค้าทางธุรกิจอื่นๆ ด้วยความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เครือข่าย Supply chain ของเอสซีจีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้รับความสะดวกสบาย อุ่นใจในความปลอดภัยและโปร่งใสของกระบวนการ และเป็นโอกาสต่อยอดไปสู่กระบวนการทำงานอื่นๆ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 โดยเบื้องต้นความร่วมมือดังกล่าว ได้เริ่มทดลองใช้กับ Supply chain บางกลุ่มธุรกิจแล้ว ก่อนขยายผลครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีต่อไป
นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับความเชื่อมั่นจากเอสซีจี องค์กรธุรกิจชั้นนำในระดับภูมิภาค โดยมองเห็นศักยภาพและความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีของดิจิทัล เวนเจอร์ส ให้มีโอกาสในการศึกษา ทดลอง และพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน วันนี้จึงร่วมกันเปิดตัว B2P (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ดิจิทัลแพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้างบนเทคโนโลยี R3 Blockchain ครั้งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ และได้เริ่มทดสอบการใช้งานจริงร่วมกับเอสซีจีเมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา โดยโซลูชั่น B2P ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นในการสั่งซื้อสินค้า จนถึงขั้นตอนสุดท้ายในการชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร ทั้งนี้ยังเป็นการขานรับกับนโยบายระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่รัฐบาลกำลังมุ่งขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน
นายไพศาล เกียรติธนานันท์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์ม B2P นี้ ได้นำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามายกระดับกระบวนการจัดซื้อแบบเดิม ด้วยคุณสมบัติของเทคโนโลยีในเรื่องความปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ของข้อมูล โดยระบบจะเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เห็นธุรกรรมในแต่ละขั้นตอนไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งระบบจะช่วยตรวจสอบเอกสารต่างๆ อาทิ ใบสั่งซื้อ ใบรับของ และใบแจ้งหนี้อัตโนมัติ ทำให้กระบวนการทั้งหมดเกิดประสิทธิภาพและสามารถลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีนัยสำคัญ
ด้านการออกแบบ Interface บนแพลตฟอร์ม B2P นั้น ได้ออกแบบภายใต้แนวคิด Humanized Interface & Experience Design ที่สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดี ง่ายต่อการใช้งานในทุกฟังก์ชั่นอย่างแท้จริง นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการจัดซื้อจัดจ้างที่ทาง ดิจิทัล เวนเจอร์ส และเอสซีจีกำลังสร้างขึ้น โดยมีเอคเซนเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Blockchain ในระดับสากลเป็นผู้ร่วมพัฒนาและพร้อมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมร่วมกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส อย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่ได้นำแพลตฟอร์ม B2P มาเริ่มทดลองใช้กับบางกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน พบว่า กระบวนการจัดซื้อรูปแบบใหม่นี้ช่วยให้การดำเนินงานในแต่ละธุรกรรมรวดเร็วขึ้น โดยสามารถประหยัดทรัพยากรตลอดกระบวนการได้กว่า 50% นอกจากนี้ เมื่อแต่ละรายการได้รับการอนุมัติ คู่ค้าของเอสซีจีจะได้รับการชำระเงินผ่านช่องทางการโอนเงินตามวันที่กำหนดชำระเงินทันที ในขณะเดียวกัน ยังได้รับประโยชน์จากความรวดเร็วในการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารด้วยการนำใบแจ้งหนี้ไปค้ำประกัน (Invoice Financing) ซึ่งสามารถแจ้งความจำนงผ่านระบบได้ทันที ในขณะเดียวกัน ธนาคารจะสามารถดำเนินการพิจารณาอนุมัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ผ่านระบบนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่าแพลตฟอร์ม B2P จะช่วยให้เอสซีจีและคู่ค้าประหยัดทรัพยากรต่างๆ ได้ตลอดทั้งกระบวนการ อาทิ จำนวนกระดาษ ความรวดเร็ว กระทั่งส่งผลให้มีต้นทุนทางธุรกิจที่ลดลง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อแพลตฟอร์มนี้ได้ถูกขยายขอบเขตการใช้งานสู่ทุกหน่วยงานในเอสซีจี
“การพัฒนาแพลตฟอร์ม B2P ในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของดิจิทัล เวนเจอร์ส ที่มุ่งมั่นศึกษาเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงินของประเทศ โดยครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้กับบริการทางการเงิน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรธุรกิจภาคเอกชนที่มีเครือข่าย Supply Chain จำนวนมาก และในอนาคตจะผลักดันให้ B2P ผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับระบบนิเวศทางธุรกิจ และเปิดให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป เป็นการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับภาพรวมของอุตสาหกรรม”