ที่ผ่าน World AI Conference ที่เซี่ยงไฮ้ กูเกิลนำเสนอเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่บริษัทได้ทำมาและแนวทางที่กำลังทำต่อไป คนหนึ่งที่มาร่วมนำเสนอด้วย คือ Lily Peng ผู้จัดการโครงการ (product manager) ของกูเกิลที่ดูแลการวิจัยโครงการทำนายเบาหวานได้จากภาพดวงตา และโครงการนี้กำลังทำวิจัยอยู่ในประเทศไทยอยู่ด้วย และผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เธอถึงความคืบหน้าโครงการและการนำเทคโนโลยีเช่นนี้มาใช้งานจริง
เธอระบุว่าก่อนจะมีการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้จริง ต้องมีการยืนยัน (validate) ว่าอัลกอริทึมนี้ใช้ทำนายเบาหวานกับคนไทยได้ โดยต้องเทียบผลกับผู้เชี่ยวชาญว่าเมื่อดูภาพแลัววินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไร จุดสำคัญอย่างหนึ่งที่กูเกิลมาทำวิจัยเรื่องนี้ในเมืองไทย เพราะไทยมีโครงการคัดกรองเบาหวานในระดับชาติอยู่แล้ว
หลายชาติไม่มีโครงการคัดกรองโรคในระดับชาติ บางชาติมีโครงการคัดกรองที่กระจายกันไปตามสิทธิต่างๆ ทำให้มีมาตรฐานบางอย่างที่ต่างกัน และการที่กูเกิลเลือกทำงานกับหน่วยงานในบางชาติ เช่น อินเดีย หรือไทย เพราะชาติเหล่านี้ได้วางพื้นฐานเหล่านี้ไว้ และหากโครงการเหล่านี้มีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยก็จะช่วยให้โครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เป้าหมายของโครงการสร้างปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจเบาหวานจากภาพสแกนม่านตาคือการทำให้สถานพยาบาลปฐมภูมิ (primary care) สามารถสื่อสารกับคนไข้ได้มากขึ้นว่าอาการเป็นอย่างไร มีสถานะที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ต้องการการดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ดีการใช้งานน่าจะจำกัดอยู่ในฐานะเครื่องมือสำหรับแพทย์ โดยอาจจะเป็นแพทย์ทั่วไปไม่ต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางในการอ่านผลสแกน
ก่อนจะนำเทคโนโลยีไปใช้งานได้จริง ยังต้องดูถึงขั้นตอนการรักษาของไทย แนวทางการทำงานและข้อจำกัดเป็นอย่างไร เช่น หน่วยพยาบาลต่างๆ มีอินเทอร์เน็ตหรือไม่ ไปจนถึงอุปกรณ์ที่หน่วยงานต่างๆ ใช้อุปกรณ์ยี่ห้ออะไรบ้าง ตอนนี้โครงการระหว่างกูเกิลและพันธมิตรในไทยยังอยู่ในช่วงไม่เปิดเผยข้อมูล และจะมีการตีพิมพ์ผลที่ได้ต่อไปเมื่อโครงการเสร็จสิ้น