เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา แอปเปิลอัพเดตผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ Apple Watch Series 4 ที่มีไฮไลท์คือการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram - ECG/EKG) สามารถตรวจหาความผิดปกติของการเต้นของหัวใจได้สร้างความฮือฮาและความตื่นตัวในแง่ของการมี ECG บนอุปกรณ์สวมใส่
แต่การมาถึงของ ECG บน Apple Watch ยังมีคำถามตามมามากมาย ทั้งความสามารถว่าอุปกรณ์เหล่านี้ให้ผลเทียบเท่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในสถานพยาบาลหรือไม่ ความน่าเชื่อถือว่าแม่นยำแค่ไหน ไปจนถึงประเด็นว่าเราควรจะเชื่อผลการตรวจ ECG บนอุปกรณ์สวมใส่มากน้อยแค่ไหน
Blognone จึงขอสัมภาษณ์ น.พ. กฤษฎา วิไลวัฒนากร อายุรแพทย์โรคหัวใจ (Cardiologist) โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยตรง เพื่อช่วยอธิบายและให้ความกระจ่างจากคำถามข้างต้นครับ
คุณหมอกฤษฎาอธิบายหลักการพื้นฐานว่า การเต้นของกล้ามหัวใจจะมีการสร้างกระแสไฟฟ้าขึ้นมาเป็นปกติ การตรวจคลื่นไฟฟ้าทำให้ทราบว่า หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติหรือไม่ สม่ำเสมอหรือไม่ โดยจะแสดงออกมาในลักษณะของเวกเตอร์ไฟฟ้า และเป็นแนวทางให้กับแพทย์ในการวินิจฉัยว่าอาจเกิดโรคหรือความผิดปกติอะไรขึ้นได้บ้าง
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตามมาตรฐานที่โรงพยาบาลจะติดตัววัดสัญญาณชีพจร (marker) บนร่างกายทั้งหมด 10 จุด (12-lead) เพื่อให้เห็นการวิ่งของกระแสไฟฟ้าทั้ง 4 ห้องหัวใจ และตำแหน่งของตัวตรวจจับแต่ละจุดก็ทำหน้าที่วัดการวิ่งของกระแสไฟฟ้าจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง
การตรวจ ECG บนอุปกรณ์ที่วางจำหน่ายโดยทั่วไป (Portable/Consumer ECG) จะเป็นแบบ single-lead คือวัดกระแสไฟฟ้าได้ทางเดียว จากมือขวาไปมือซ้ายเท่านั้น ดังนั้นการตรวจจะไม่ได้ภาพรวมของหัวใจทั้งหมด ช่วยบอกได้แค่ว่าจังหวะการเต้นปกติหรือไม่ มีเต้นผิดจังหวะหรือเปล่า
ส่วนอาการผิดปกติที่ ECG แบบ single-lead บ่งบอกได้คืออาการหัวใจเต้นพริ้วหรือเต้นระริก (Atrial Fibrillation) ที่ผนังหัวใจห้องบนเต้นเร็วกว่าหัวใจห้องล่าง ทำให้จังหวะการเต้นของชีพจรไม่สม่ำเสมอ (irregular) ซึ่งการตรวจ Atrial Fibrillation นี้ทำได้เฉพาะการตรวจคลื่นไฟฟ้าเท่านั้น การตรวจจับจากจังหวะการเต้นของหัวใจแบบเดิม อย่างบนสมาร์ทวอชหลายเจ้าที่ไม่มี ECG ทำไม่ได้แน่นอน
การตรวจอาการหัวใจเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) บนอุปกรณ์สวมใส่เหล่านี้ ถึงแม้จะมีประโยชน์ในแง่ความสะดวก และช่วยผู้ป่วยให้รู้ตัวเองได้ไวขึ้นก็จริง แต่ยังไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยโรคเต็มรูปแบบได้ทีเดียว เพราะมีโอกาสเกิดผลบวกลวงหรือ False Positive ได้ กล่าวคือ สมาร์ทวอทช์อาจตรวจพบว่ามีอาการหัวใจเต้นพริ้ว แต่ความจริงคือไม่ได้เป็นอะไร
คุณหมอกฤษฎาอธิบายว่า ปกติหัวใจอาจเกิดอาการเต้นแทรกหรือมีการสร้างกระแสไฟฟ้าแทรกขึ้นมาเล็กน้อย นานๆ อาจจะมีครั้งหนึ่ง แต่อาจทำให้เครื่องตรวจวัดออกมาแล้วพบว่าช่องไฟของจังหวะการเต้นมีความผิดปกติและระบุว่าเป็นอาการของ Atrial Fibrillation ก็ได้ ทว่าเมื่อมาตรวจแบบ 12-lead กับแพทย์แล้วไม่พบความผิดปกติอะไร กลายเป็นผลบวกลวงไป ซึ่งก็อาจสร้างความกังวลกับผู้ป่วยหรือผู้ใช้งานที่เชื่อเทคโนโลยีจนเกินไปได้อีก ว่าทำไมผลบนอุปกรณ์เหล่านี้ถึงไม่ตรงกับที่โรงพยาบาล
คุณหมอยอมรับว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีประโยชน์ ช่วยให้ผู้ใช้ตรวจสอบตัวเองได้ดีมากขึ้น เมื่อพบปัญหาก็สามารถมาพบแพทย์ได้เร็วขึ้น แต่ข้อแนะนำคืออย่าไปยึดติดหรือกังวลกับมันมาก อุปกรณ์ชิ้นเดียวไม่สามารถบ่งบอกโรคได้ทั้งหมด หากมีปัญหาหรืออาการผิดปกติควรมาพบแพทย์ เพื่อซักประวัติหรือตรวจกับเครื่องมือมาตรฐานอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 12 lead ก็ควรตรวจเป็นประจำไปพร้อมๆ กับการตรวจร่างกายประจำปี และแนะนำว่าสำหรับผู้ที่มาอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ควรเข้ามาตรวจเช็คด้วยเครื่องวัด ECG ในโรงพยาบาล
สำหรับ Apple Watch Series 4 บริษัทแอปเปิลระบุว่า ณ ตอนนี้ใช้ได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (แถมเปิดให้ใช้ปลายปีด้วย) เพราะได้รับการรับรองในกลุ่ม Class II จาก FDA (อย. สหรัฐ) แค่ที่เดียว โดยในประเทศไทย เมื่อวางจำหน่ายฟีเจอร์ ECG จะถูกปิดไว้เป็นค่าดีฟอลต์ หากจะเปลี่ยนจาก Series 3 ไปเป็น Series 4 เพราะหวังฟีเจอร์นี้อาจจะต้องผิดหวัง คงต้องรอ อย. ของไทยรับรองและอนุญาตต่อไป