ผู้ก่อตั้ง WhatsApp เปิดใจ ลาออกเพราะไม่เห็นด้วยที่ Facebook เอาข้อมูลผู้ใช้มาทำเงิน

by sunnywalker
27 September 2018 - 13:14

Brian Acton ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp ลาออกเมื่อเดือนกันยายน 2017 โดยลาออกก่อนจะเกิดเหตุอื้อฉาวข้อมูลหลุด ของเฟซบุ๊กผู้เป็นบริษัทแม่ได้ไม่นาน และเมื่อข่าวแพร่ออกไป เขายังเป็นคนจุดเทรนด์ #deletefacebook ชวนผู้ใช้ลบบัญชีเฟซบุ๊กบนทวิตเตอร์ด้วย

ผลของการลาออกคือ Acton ต้องทิ้งหุ้นเฟซบุ๊ก มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นเขาก็ปิดปากเงียบมาตลอด จนกระทั่งนิตยสาร Forbes ได้สัมภาษณ์เปิดใจครั้งแรกถึงสาเหตุที่ลาออก รวมทั้งมุมมองของเขาที่มีต่อเฟซบุ๊ก


ภาพจาก Shutterstock

เฟซบุ๊ก เข้าซื้อ WhatsApp ด้วยดีล 22 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2014 ถือเป็นการควบรวมบริษัทเทคโนโลยีที่สำคัญมากครั้งหนึ่ง WhatsApp มีจุดขายคือให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ มีการเข้ารหัสข้อความจากปลายทางถึงปลายทาง ส่วนเฟซบุ๊ก มีโมเดลธุรกิจที่ต่างออกไป คือเน้นทำเงินจากการโฆษณา การเข้าซื้อ WhatsApp เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ อาจทำให้คนตั้งคำถามว่าเฟซบุ๊กจะทำเงินจาก WhatsApp ได้อย่างไร

Acton เสนอโมเดลการทำธุรกิจของ WhatsApp หลังเข้าไปอยู่กกับ เฟซบุ๊ก เป็นโมเดลเรียกเก็บตามการใช้งาน โดยผู้ใช้จะสามารถส่งข้อความได้ฟรีจำนวนค่อนข้างมาก แต่หากใช้เกินนั้นก็จะเริ่มเก็บเงิน (WhatsApp เคยเรียกเก็บเงินปีละ 1 ดอลลาร์จากผู้ใช้ แต่หลังจากนั้นก็ยกเลิกไป) โดยเขาเชื่อว่าโมเดลนี้ตรงไปตรงมา ขายได้เหมือนกันทุกประเทศ และไม่ต้องใช้ตัวแทนจำหน่ายจำนวนมาก [เหมือนโฆษณา] แต่ Sheryl Sandberg ซีโอโอของ เฟซบุ๊กไม่รับแนวคิดนี้โดยระบุว่าการขยายธุรกิจทำได้ยาก (It won’t scale)


ภาพจาก วิกิพีเดีย

จนกระทั่งปี 2016 ที่ WhatsApp อัพเดตนโยบายความเป็นส่วนตัวนำเบอร์โทรศัพท์ไปใช้กับ เฟซบุ๊ก ช่วยให้ เฟซบุ๊กสามารถทำโมเดลโฆษณาแบบเจาะจงหรือ Target Ads ได้ ซึ่งตรงนี้ Acton บอกว่าเป็นสิ่งที่เขาไม่แฮปปี้ เพราะ WhatsApp ถือคติว่า ไม่มีโฆษณา ไม่มีเกมส์ ไม่มีลูกเล่นกิมมิคใดๆ เขายังบอกด้วยว่าเขาขายบริษัท ขายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เพื่อผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่า มันเป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง

และ Acton ก็ลาออกในเดือนกันยายน ปี 2017 จนถึงตอนนี้ก็ครบรอบ 1 ปีพอดี

ในบทความ Acton ระบุว่า พวกเขา (เฟซบุ๊ก) เป็นนักธุรกิจที่ดี เพียงแต่แนวทางธุรกิจ แต่อาจมีหลักการ จริยธรรม และนโยบายบางอย่างที่เขาไม่เห็นด้วย โดยในช่วงช่วงเจรจาเข้าซื้อว่า เฟซบุ๊กมาพร้อมกับเงินมหาศาล และให้ข้อเสนอที่เขาปฎิเสธไม่ได้ แหล่งข่าวของ Forbes ระบุว่านอกจากหุ้นแล้ว ข้อเสนอยังให้ตำแหน่งบอร์ดและสัญญาว่าจะไม่กดดันให้ WhatsApp สร้างรายได้ไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

ระหว่างการเข้าซื้อ WhatsApp ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนต้องชี้แจงหน่วยงาน European Competition Commission ที่มีความเข้มงวดเรื่องการผูกขาดการค้า และ Acton บอกกับหน่วยงานเหล่านี้ว่าตัวข้อมูลของ WhatsApp และ เฟซบุ๊กนั้นต่างกันมาก ยากที่จะนำมาใช้ร่วมกัน และผู้บริหาร WhatsApps ก็ไม่ได้ต้องการให้เชื่อมข้อมูลเข้ากับเฟซบุ๊กด้วย

แต่ปรากฎว่า เฟซบุ๊กเตรียมการเชื่อมข้อมูลไว้แล้วโดยมีการแก้ไขข้อตกลงการใช้งานหลังจากรวมบริษัทได้ 18 เดือน และทำให้เฟซบุ๊กถูกปรับจากสหภาพยุโรปไปถึง 122 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน Acton ได้ลงทุนใน Signal แอพแชทที่เน้นความปลอดภัยสูง ที่แม้แต่เอดเวิร์ด สโนว์เดนก็สนับสนุนให้ใช้งาน Acton ยังลงทุนในองค์กรการกุศลเพื่อสุขภาพ 1 พันล้านดอลลาร์ สนับสนุนการดูแลทางสาธารณสุขในพื้นที่ยากจนในสหรัฐฯ

ที่มา - Forbes

Blognone Jobs Premium