เล่นยาแรง รอมรุ่นใหม่ของ Xiaomi ติดตั้งข้ามโซนยาก พลาดท่าอาจกลายเป็นที่ทับกระดาษได้

by tekkasit
29 September 2018 - 06:47

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของ Xiaomi เริ่มเป็นที่สนใจของกระแสหลักนอกประเทศจีน เนื่องด้วยกลยุทธ์ในการวางตำแหน่งสินค้าให้มีสเป็คที่ดีในที่ราคาไม่แพง มีการออกรุ่นยิบย่อยมากในแต่ละปีที่ครอบคลุมทั้งตลาดล่างไปจนถึงกลาง รวมถึงล่าสุดที่ออกรุ่นที่มีสเป็คเหมือนรุ่นเรือธงค่ายอื่น แต่ในราคาที่ต่ำกว่าเป็นเท่าตัว ทำให้เป็นที่สนใจในวงกว้าง มีพ่อค้าจำนวนไม่น้อยนำเครื่องรุ่นจีนไปขายในตลาดต่างประเทศเป็นที่เอิกเกริก

ทีนี้ล่าสุด บน XDA มีคนพบว่า Xiaomi แอบใส่ 2 มาตรการดัดหลังคนเล่นของหิ้ว ข้อแรกคือ การห้ามแฟลชรอม MIUI รุ่นเก่ากว่าทับบนเครื่อง ข้อสองคือ การห้ามแฟลชรอม Global ลงไปบนเครื่องรุ่นที่วางขายในจีน ซึ่งถ้าแฟลชไปแล้วจะทำให้เครื่องใช้งานไม่ได้ ค้างอยู่ที่หน้า recovery screen พร้อมขึ้นข้อความว่า "this MIUI version can't be installed on this device" โดยเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผู้ใช้งานทั่วไปจะแก้ปัญหานี้เองไม่ได้ จะต้องนำเข้าศูนย์ เพื่อเข้า Emergency Download Mode (EDL) แฟลชรอมที่ถูกต้องให้ (ซึ่งก็จีนอยู่ดี)

ขณะนี้ พบว่าเครื่องบางรุ่น(บวกกับรอมรุ่นใหม่ๆ)เริ่มมีการป้องกันแฟลชรอมย้อนหลังแล้ว ที่ทราบแน่ชัดแล้วมีบน Mi 8, Max 3, Redmi 5/6X/6 Pro

ส่วนการป้องกันการแฟลชรอมข้ามโซน พบว่าเครื่องรุ่นใหม่เกือบทั้งหมดดังรายการด้านล่าง มีการป้องกันการแฟลชรอมข้ามโซนไว้แล้ว

  • Xiaomi Mi 6X ("wayne")
  • Xiaomi Mi 8 ("dipper")
  • Xiaomi Mi 8 EE ("ursa")
  • Xiaomi Mi 8 SE ("sirius")
  • Xiaomi Mi 8 Lite ("platina")
  • Xiaomi Mi 8 Pro ("equuleus")
  • Xiaomi Mi Max 3 ("nitrogen")
  • Xiaomi Mi Mix 2S ("polaris")
  • Xiaomi Mi Pad 4/Mi Pad 4 Plus ("clover")
  • Xiaomi Poco F1/Pocophone F1 ("beryllium")
  • Xiaomi Redmi Note 5A ("ugg")
  • Xiaomi Redmi Y1 Lite ("ugglite")
  • Xiaomi Redmi Y2/Redmi S2 ("ysl")
  • Xiaomi Redmi 5 ("rosy")
  • Xiaomi Redmi 5A ("riva")
  • Xiaomi Redmi 6 ("cereus")
  • Xiaomi Redmi 6A ("cactus")
  • Xiaomi Redmi 6 Pro ("sakura" and "sakura_india")
  • Xiaomi Redmi Note 5/Redmi 5 Plus ("vince")
  • Xiaomi Redmi Note 5 Pro/Redmi Note 5 AI ("whyred")
  • Xiaomi Redmi Note 6 Pro ("tulip")

ในขณะนี้ ถ้าเครื่องเราเป็นเครื่องจีนและปลดล็อก bootloader ไว้แล้ว เรายังสามารถแฟลชรอม Global ได้อยู่ แต่ถ้าเผลอไปสั่งให้ล็อก bootloader ด้วย ก็จะทำให้เครื่องเป็นที่ทับกระดาษในทันที

ความรู้สึกส่วนตัวคิดว่า ในระยะสั้นมาตรการเหล่านี้มีผลกับผู้ใช้งานมากกว่าพ่อค้า เพราะพ่อค้ารู้มากกว่า ก็หาทางเลี่ยงไม่ให้เครื่องพังแล้วขายออกไปได้ แต่ความซวยตกไปอยู่ที่ผู้ใช้งาน เนื่องจากทาง Xiaomi ไม่เคยประกาศเรื่องมาตรการเข้มเหล่านี้อย่างเป็นทางการ และเมื่อก่อนทาง Xiaomi ก็ค่อนข้างเปิดกว้าง แฟลชข้ามไปข้ามมาได้ ผู้ใช้งานมือสมัครเล่นที่ไม่รู้ข้อจำกัดใหม่ๆ เหล่านี้อาจพลาดเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้เป็นที่ทับกระดาษราคาแพงโดยไม่เจตนา

ส่วนในระยะยาว ก็คงต้องดูกันไปอีกทีว่า มาตรการเหล่านี้จะสามารถสกัดสินค้าหิ้วกันได้จริงๆหรือไม่? เพราะตราบใดที่ยังหาทางลง Google Service ได้เอง ปัญหาเกรย์มาร์เก็ตก็ยังจะเป็นปัญหากันต่อไปสำหรับบริษัทเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอย่าง Xiaomi ในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้

หมายเหตุ:

ปกติ Xiaomi จะผลิตเครื่องที่วางจำหน่ายเป็นสองรุ่น: Chinese และ Global edition

  • รุ่นที่จำหน่ายในประเทศจีน (Chinese) รอมจะไม่มี Google Mobile Services (Gmail, YouTube, Photos, Play Store, Maps, Chrome, ฯลฯ) ใส่รุ่นที่อิงบริการในจีนแทน และอินเตอร์เฟซมีเฉพาะภาษาจีนหรือมีภาษาอังกฤษเท่านั้น
  • รุ่นที่ขายต่างประเทศ (Global) มี Google Services ติดมาในเครื่องเลย รองรับหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย พวกนี้ Xiaomi จะไม่ได้ขายเอง แต่จะขายผ่านพาร์ทเนอร์ในประเทศต่างๆ

ปกติ Xiaomi จะเปิดตัวจำหน่ายในประเทศจีนก่อน เป็นรุ่น Chinese เท่านั้น จากนั้นอาจจะ 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อย จึงวางจำหน่ายรุ่น Global ผ่านคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ได้วางจำหน่ายทุกรุ่น ทุกโมเดล ที่มีการจำหน่ายในประเทศจีน ทำให้มีพ่อค้าอาศัยช่องว่าง หิ้วเครื่องโมเดลจีนมาขายนอกประเทศจีน โดยบางรายจะขายแบบตรงๆ ให้ลูกค้าไปจัดการเอง หรือบางรายจะปลดล็อกบู๊ตโหลดเดอร์แล้วแฟลชรอมรุ่นต่างประเทศทับลงไป นัยว่าเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงทำให้ขายง่ายขึ้นสำหรับผู้ใช้งานนอกประเทศจีน

ที่มา: XDA, XDA

Blognone Jobs Premium