ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวแอพ K PLUS เวอร์ชันใหม่ ตามที่เคยนำบางส่วนมาโชว์ก่อนหน้านี้
การเปลี่ยนแปลงรอบนี้ถือเป็นการเปลี่ยนครั้งใหญ่ในทุกส่วน ตั้งแต่โลโก้ หน้าตาของแอพ ไปจนถึงฟีเจอร์หลายอย่างที่เพิ่มขึ้น เช่น กดเงินสดไม่ใช้บัตร สลิปโอนเงินพร้อม QR ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นของจริง และการนำ AI เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า K PLUS ตัวเก่าออกแบบมาเพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ K PLUS ตัวใหม่ต้องคิดใหม่ เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ไม่ได้เป็นการทำธุรกรรมเพียงอย่างเดียว แต่มีบริการอื่นๆ ที่ไปไกลกว่าธนาคาร และไม่จำเป็นต้องมาจากธนาคารกสิกรไทยเพียงอย่างเดียว
การเปลี่ยนแปลงอย่างแรกสุดที่เห็นได้ชัดเจนคือโลโก้ K PLUS ดีไซน์ใหม่ ที่ใช้แทนโลโก้ตัว K ลายพู่กันที่ใช้มานาน 70 ปี (เปลี่ยนเฉพาะโลโก้ของ K PLUS เท่านั้น โลโก้เดิมยังอยู่ในฐานะโลโก้ของธนาคาร)
หน้าตาของแอพ K PLUS ยังดีไซน์ใหม่หมด ย้ายปุ่มและเมนูไปอยู่ด้านล่างสุดของหน้าจอตามอย่างแอพยุคใหม่ ประกอบด้วย 5 ปุ่มหลักคือ
หน้าแรก (Home) ของแอพ K PLUS ตัวใหม่ ประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ K+ Today ที่เป็นหน้าจอแจ้งเตือนข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ธุรกรรมที่เกิดขึ้น และส่วน Favourites ที่เป็นปุ่มลัดสำหรับธุรกรรมที่ใช้บ่อย
ส่วนหน้าธุรกรรม ซึ่งเป็นเมนูหลักของแอพที่อยู่ตรงกลาง เป็นการรวบรวมคำสั่งเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทั้งหมดมาไว้ที่เดียว เช่น การโอนเงิน เติมเงิน จ่ายบิล ฯลฯ แก้โจทย์ปัญหาของแอพเวอร์ชันเดิมที่เมนูกระจัดกระจาย ทำให้ทำงานธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
อีกเมนูที่น่าสนใจคือ K+ Market เป็นการรวมดีลสินค้าและบริการต่างๆ ที่สามารถกดซื้อได้จากแอพ K PLUS โดยตรง แถมนอกจากจ่ายด้วยเงินในบัญชีแล้ว ยังสามารถใช้แต้มบัตรเครดิตได้ด้วย
อีกฟีเจอร์เล็กๆ ที่สำคัญเพราะผู้ใช้เรียกร้องกันมานาน คือการเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมากดใหม่ทุก 90 วันอีกแล้ว แต่ผู้ใช้ยังสามารถเปิดปิดเองได้เมื่อต้องการ หากต้องการความมั่นใจในการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายมือถือ
ฟีเจอร์น่าสนใจคือ e-Slip สลิปการโอนเงินแบบใหม่ที่เพิ่ม QR Code เข้ามาในสลิปให้ด้วย ช่วยให้ผู้รับโอนปลายทางสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นสลิปของจริง ไม่ได้เป็นสลิปที่ผ่านการปลอมแปลงหรือตัดต่อมา
นอกจากนี้ K PLUS ยังรองรับการกดเงินสดจากตู้ ATM แบบไม่ต้องใช้บัตรแล้ว โดยจะเป็นการสแกน QR บนหน้าจอตู้ ATM ด้วยกล้องมือถือร่วมกับการกรอก PIN เพื่อยืนยันความปลอดภัยอีกชั้น
ฟีเจอร์อีกตัวคือ 'บัตรสมาชิก' ซึ่งเป็นการนำบัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้มต่างๆ มาอยู่ไว้ในแอพ และสามารถใช้แต้มที่สะสมไว้เพื่อใช้จ่ายในแอพได้ด้วย เบื้องต้นมีบัตรสมาชิกของบางบริษัทเข้าร่วมแล้ว เช่น บัตร Blue Card ของกลุ่ม ปตท.
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของตัวแอพทั้งหน้าตาและฟีเจอร์ เป้าหมายในระยะยาวของ K PLUS คือการเป็นแพลตฟอร์ม (K PLUS Intelligence Platform) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจลูกค้าเป็นรายบุคคล
หัวใจสำคัญของ K PLUS ตัวใหม่คือ “เกด” (KADE: K PLUS AI-Driven Experience) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เคยเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ใช้เทคนิคด้าน machine learning เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคน และนำเสนอข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ตัวอย่างการใช้งานคือฟีเจอร์ K+ Today ในหน้าโฮม ผู้ใช้แต่ละคนจะได้รับข้อความแจ้งเตือนที่แตกต่างกัน เช่น หากจะเดินทางไปต่างประเทศก็อาจนำเสนอบริการแลกเงินหรือประกันการเดินทาง นอกจากนี้ยังมี สินเชื่อส่วนบุคคล (K-Personal Loan) และสินเชื่อธุรกิจ ที่ใช้เทคโนโลยีแมชชีน เลนดิ้ง (Machine Lending) มาช่วยประเมินความเสี่ยงด้วย
เป้าหมายระยะยาวของ KADE คือให้เป็นที่ปรึกษาการเงินให้กับผู้ใช้เป็นรายบุคคล (Robo Advisor) สามารถแนะนำการออม การลงทุนให้ลูกค้าเป็นรายบุคคล, เพิ่มความสามารถ Face Recognition ให้จ่ายเงินที่ร้านค้าด้วยใบหน้าได้เลย, รองรับการสั่งงานด้วยเสียงโดยไม่ต้องกดปุ่มบนหน้าจอเลย (เช่น "เติมเงินทางด่วน 300 บาท")
แนวคิดอีกอย่างของ K PLUS เวอร์ชันนี้คือ การออกแบบโครงสร้างเทคโนโลยีให้เป็น Open Platform รองรับการเชื่อมต่อกับช่องทางบริการและพันธมิตรในธุรกิจอื่นๆ ด้วย
แอพ K PLUS ตัวใหม่จะปล่อยอัพเดตทั้งเวอร์ชัน iOS และ Android ในวันนี้ (10 ตุลาคม 2561)