สัปดาห์นี้เราเห็น ซัมซุงเปิดตัวสมาร์ทโฟน 4 กล้องอย่าง Galaxy A9 ที่โฆษณาว่าเป็นมือถือ 4 กล้องหลัง (Quad Camera) ตัวแรกของโลก
ในยุคที่มือถือแข่งเรื่องกล้องกันอย่างรุนแรง โลกมือถือก็ขยับจากกล้องเดี่ยว มาเป็นกล้องคู่ และสามกล้องอย่างรวดเร็ว จนล่าสุดมาถึงยุคของ 4 กล้อง หลายคนอาจเกิดคำถามว่านี่ออกจะเกินความจำเป็นไปแล้วหรือเปล่า บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ทิศทางของซัมซุงและโลกมือถือในภาพรวม ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปหลังนำพาโลกเข้าสู่ยุค 4 กล้อง
ประเด็นแรกที่ควรทำความเข้าใจคือ ในงานแถลงข่าวที่มาเลเซียครั้งนี้ ซัมซุงไม่เพียงแต่เปิดตัวมือถือ 4 กล้อง (Galaxy A9) เพียงอย่างเดียว แต่ยังออกมือถือ 3 กล้อง (Galaxy A7) มาพร้อมกัน ดังนั้นเราต้องมองมือถือทั้งสองรุ่นในฐานะพี่น้องกัน
หากพิจารณาให้ละเอียดแล้ว กล้องของ Galaxy A7 กับ Galaxy A9 แทบเหมือนกันทุกประการ กล้องหน้าความละเอียด 24MP F/2.0 เท่ากัน
กล้องหลังของ Galaxy A7 ประกอบด้วยกล้อง 3 ตัวคือ
ส่วนกล้องหลังของ Galaxy A9 มีทุกอย่างเหมือนของ A7 แต่เพิ่มเลนส์ Telephoto 10MP สำหรับการซูม 2X optical เข้ามา
ดังนั้นในภาพรวมแล้ว เราสามารถมอง A7/A9 เป็นผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกันแต่เป็นคนละรุ่นย่อย ตามระดับราคาเท่านั้น (จ่ายแพงเพิ่มอีกหน่อยได้ 4 กล้องแทนที่จะเป็น 3 กล้อง)
คำถามสำคัญคือซัมซุงยัด 4 กล้องเข้ามาทำไม คำตอบที่ชัดเจนย่อมหนีไม่พ้นเหตุผลด้านการตลาด เพราะการโฆษณาว่ามือถือมี 4 กล้อง ถ่ายรูปได้ดีกว่า 3 กล้องหรือ 2 กล้อง ย่อมเข้าใจง่ายและตรงไปตรงมากว่าการดูคะแนนรีวิวหรือคุณภาพของรูปถ่ายมาก
Huawei แสดงให้เห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจนกับ P20 Pro ที่มี 3 กล้อง และสร้างความแตกต่างจากสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นอื่นๆ ในปี 2018 ได้
ซัมซุงถือว่ามาช้าในเกมจำนวนกล้องมาโดยตลอด เพราะบริษัทเพิ่งยอมใช้ 2 กล้องครั้งแรกใน Galaxy Note 8 ช่วงปลายปี 2017 ในขณะที่คู่แข่งนำหน้าไปได้สักพักแล้ว การกลับมาคราวนี้จึงต้องแซงหน้าด้วยจำนวนกล้องที่เยอะกว่าคือ 3 กล้องและ 4 กล้องในทีเดียวไปเลย
คำว่า World's First ยังขายได้เสมอ
แต่ถ้าพิจารณาดูให้ลึกซึ้งกว่านั้น กล้องทั้ง 4 แบบที่ซัมซุงใส่เข้ามาใน A9 ต่างก็มีประโยชน์ในสถานการณ์การถ่ายภาพที่แตกต่างกันไป
นอกจากนี้ ซัมซุงยังโชว์ความสามารถการรวมแสงจาก 4 กล้องเพื่อช่วยคำนวณภาพถ่ายในสภาพแสงน้อยๆ ถือเป็นข้อดีอีกอย่างของการมีกล้องจำนวนมากๆ คอยรับแสงพร้อมกัน
หากถามว่าการถ่ายภาพทั้งหมดจำเป็นต้องใช้ 4 กล้องหรือไม่ ตัวอย่างในด้านกลับที่ชัดเจนคือ Pixel 3 ที่ยังคงแนวทาง "กล้องตัวเดียว" อย่างเหนียวแน่น และสามารถทำงานทั้งหมดข้างต้นด้วยฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทอื่นจะมีซอฟต์แวร์กล้องดีระดับกูเกิลคงไม่ใช่เรื่องง่าย (บางรีวิวยังให้ iPhone XS แพ้ Pixel 2 ด้วยซ้ำ) การใช้ฮาร์ดแวร์หลายตัวช่วยกันอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า รวมถึงเหตุผลด้านการตลาดดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
คลิปสรุปไฮไลท์งานเปิดตัว Galaxy A7/A9
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือในงานแถลงข่าวของซัมซุง ระบุชัดเจนว่ากลุ่มลูกค้าของ Galaxy A7 และ A9 คือ "Generation Instagram" ซึ่งอาจไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มเดียวกับมือถือเรือธงกระแสหลัก
นิยามของ Generation Instagram อาจไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน แต่ความหมายกว้างๆ คงหมายถึงวัยรุ่นที่เน้นการถ่ายภาพเพื่อแชร์ในเชิงไลฟ์สไตล์นั่นเอง
เหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ Galaxy A7/A9 รุ่นปี 2018 เลือกใช้สีและวัสดุที่แตกต่างออกไปจากมือถือซีรีส์เรือธง เน้นสีสันสดใสโดดเด่น เหมาะกับวัยรุ่นมากขึ้น, ธีมงานเปิดตัวที่ใช้คำว่า 4x fun รวมถึงการเลือกเวทีเปิดตัวเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาเลเซีย แตกต่างไปจาก Galaxy S/Note ที่ซัมซุงเลือกเปิดตัวที่นิวยอร์กมาโดยตลอด
ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ซัมซุงมองกลุ่มลูกค้า A7/A9 แตกต่างออกไปจากมือถือซีรีส์อื่นๆ และคาดเดาว่าการนำเสนอมือถือ 4 กล้องจะตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ (ที่อาจไม่มีเงินเยอะระดับซื้อมือถือเรือธง แต่ก็ต้องการมือถือที่ถูกกว่าสักหน่อย และได้ฟีเจอร์ขั้นสูงลักษณะเดียวกัน)
คลิปโฆษณา Galaxy A9 ที่แสดงให้เห็นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นอย่างชัดเจน
ก่อนหน้านี้ DJ Koh หัวหน้าฝ่ายธุรกิจสมาร์ทโฟนของซัมซุง ให้สัมภาษณ์ว่าซัมซุงจะปรับยุทธศาสตร์ของ Galaxy A Series ใหม่ นำเทคโนโลยีใหม่บางอย่าง มาไว้ในรุ่นที่ราคาถูกกว่าก่อน
DJ Koh ขึ้นเวทีงานเปิดตัว Galaxy A7/A9 ด้วย และเขาก็ยืนยันประเด็นนี้โดยบอกว่ามือถือสองรุ่นนี้ถือเป็น "ก้าวแรก" ของนโยบายใหม่ ที่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ของซัมซุงไปจากเดิม (เขาใช้คำว่า reinventing breakthrough technology)
สิ่งที่น่าจับตาคงหนีไม่พ้นประเด็นว่า ซัมซุงจะประสบความสำเร็จกับ A7/A9 ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่มากน้อยแค่ไหน ตรงนี้คนนอกอาจประเมินได้ยากเพราะซัมซุงแทบไม่เคยเปิดเผยยอดขายมือถือเฉพาะรุ่น แต่เราอาจดูได้ทางอ้อมจากแนวทางการออกมือถือใหม่ของซัมซุงในปีหน้า 2019 ว่าไปในทิศทางใดต่อ มีการต่อยอดจากทิศทางของ A7/A9 หรือไม่
หลังการเปิดตัวมือถือ 4 กล้องมาสั่นสะเทือนโลกมือถือ สิ่งที่น่าจับตามองคงมีแค่ 2 ประเด็น
อย่างแรกคือ ซัมซุงจะนำเทคโนโลยี 3 หรือ 4 กล้องเข้ามาใส่ในมือถือเรือธงรุ่นถัดไป (Galaxy S10) หรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นการสะท้อนมุมมองของซัมซุงให้โลกเห็นว่า ตกลงแล้วมือถือตัวไหนกันแน่ที่มีกล้องทรงพลังกว่ากัน คุณค่าของมือถือ 4 กล้องที่เน้นการถ่ายภาพ กับมือถือเรือธงที่ควรให้คุณภาพของภาพออกมาดีที่สุด แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร
อย่างที่สองคือ คู่แข่งของซัมซุง ผู้ผลิตมือถือรายอื่นๆ จะตอบสนองปัจจัย 4 กล้องอย่างไร จะใส่ 4 กล้องเข้ามาแข่งเหมือนกัน หรือจะเพิกเฉยแล้วปล่อยให้ซัมซุงมุ่งไปกับ 4 กล้องเพียงรายเดียว
เราคงได้เห็นคำตอบเหล่านี้กันภายในช่วงต้นปี 2019 ที่มือถือใหม่ๆ รอบต้นปีจะทยอยเปิดตัวกัน