Donald Fischer อดีตผู้บริหาร Red Hat ที่ทำงานกับบริษัทในช่วงปี 2003 ถึง 2008 โดยสามปีแรกเป็นผู้จัดการดูแลโครงการ RHEL ได้ออกมาเขียนบล็อกอธิบายว่าทำไมบริษัทที่เน้นขายแต่ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ถึงได้มีคนมาซื้อบริษัทไปด้วยมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านบาท
เขาระบุว่า Red Hat มองเห็นก่อนคนอื่นส่วนใหญ่ว่าโลกโอเพนซอร์สกำลังทำให้องค์กรเลิกจ่ายเงินค่าโค้ด ขณะที่บริษัทเหล่านี้ต้องการให้มีหน่วยงานมาดูแลความปลอดภัยซอฟต์แวร์ และรับผิดชอบเมื่อมีปัญหาทางกฎหมาย และพร้อมจะจ่ายเงินค่าซัพพอร์ตมากขึ้นเรื่อยๆ
องค์กรขายซอฟต์แวร์ปิดซอร์สแทบทั้งหมด มักรวมเอาค่าใช้งานซอฟต์แวร์ เข้ากับบริการซัพพอร์ตมาพร้อมกัน แต่ Red Hat (และบริษัทโอเพนซอร์สอื่นที่ใช้โมเดลคล้ายกัน) แยกส่วนออกออกจากกัน พร้อมกับรวบรวมโครงการย่อยๆ จำนวนมากมาขายเป็นชิ้นเดียวกันโดยมี Red Hat เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
ตัวอย่างของการดูแลเช่นนี้คือการดูแล PHP เวอร์ชั่น 5.3 ใน RHEL 6 ที่แม้โครงการ PHP จะเลิกซัพพอร์ตไปแล้ว แต่ Red Hat ก็ต้องพอร์ตแพตช์ระดับสำคัญกลับไปยัง PHP ใน RHEL 6 ต่อไป โดย RHEL 6 จะหมดซัพพอร์ตปี 2020 และยังซื้อแพ็กเกจ ELS เพิ่มต่อไปได้
Fischer ตอนนี้ออกมาก่อตั้งบริษัท Tidelift ที่เป็นตัวกลางขายซัพพอร์ตให้กับนักพัฒนา โดยลูกค้าซื้อเป็นแพ็กผ่าน Tidelift แล้วบริษัทจะแบ่งส่วนแบ่งไปยังผู้ดูแลโครงการต่อไป
ที่มา - Tideliift Blog