ย้อนผลงาน Microsoft ในยุค Satya Nadella ที่ทำให้บริษัทเติบโตจนมีมูลค่ามากกว่า Apple

by arjin
1 December 2018 - 01:56

ถ้าย้อนไปไม่กี่ปีก่อน ไมโครซอฟท์อาจมีภาพลักษณ์เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ไม่โดดเด่นในด้านผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าทั่วไป ออกสินค้าอะไรมาก็สู้คู่แข่งรายอื่นที่ดูตื่นตาตื่นใจกว่าไม่ได้ สิบปีที่ผ่านมาในโลกของไอทีมีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมากมาย อาทิ สมาร์ทโฟน, เสิร์ชอินเทอร์เน็ต, โฆษณาออนไลน์ หรือบริการคลาวด์ ทุกอย่างที่ว่ามา ไมโครซอฟท์ล้วนไม่ใช่ผู้ชนะในแต่ละหมวด จนดูราวเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่น่าเบื่อ และไม่น่าสนใจในสายตานักลงทุนอีกต่อไปเมื่อเทียบกับบริษัทใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ใครที่ยังเชื่อเช่นนี้อาจต้องกลับความคิดใหม่ เพราะไมโครซอฟท์ในยุคของ Satya Nadella ที่เข้ามาเป็นซีอีโอได้เกือบ 5 ปี ได้เปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ไมโครซอฟท์กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการมากที่สุดในโลกกว่า 8.5 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าแชมป์เก่าหลายปีอย่างแอปเปิล ที่ราคาหุ้นปรับลงมามากในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้อาจมองได้ว่าการที่ไมโครซอฟท์ขึ้นเป็นเบอร์ 1 เป็นเพราะหุ้นแอปเปิลราคาตก แต่เมื่อมองย้อนไปในช่วงที่ Satya มาเป็นซีอีโอนั้น หุ้นไมโครซอฟท์ก็ราคาเพิ่มขึ้นมามากถึงเกือบ 3 เท่าตัวเลย

เกิดอะไรขึ้นกับไมโครซอฟท์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนทำให้บริษัทเติบโตได้ขนาดนี้

ยอมรับความพ่ายแพ้ในสมาร์ทโฟน

ไมโครซอฟท์ซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือของโนเกียมาในปี 2013 ผลลัพธ์ต่อมานั้นทราบกันอยู่แล้ว แต่ในตอนนั้นซีอีโอ Steve Ballmer บอกว่า สมาร์ทโฟนคือก้าวกระโดดครั้งสำคัญของบริษัท ขณะที่ Satya ไม่คิดเช่นนั้น เขาเลือกถอนตัวจากธุรกิจนี้ โดยตัดบัญชีสินทรัพย์ด้อยค่าของโนเกียถึง 7.6 พันล้านดอลลาร์ จนผลประกอบการออกมาขาดทุน และปลดพนักงานชุดสุดท้ายถึง 7,800 คน

ถึงเลือกยอมแพ้ในศึกสมาร์ทโฟนแก่แอปเปิลและกูเกิล แต่ไมโครซอฟท์ก็ยังไม่หายไปจากโลกโทรศัพท์มือถือ บริษัทมาเปลี่ยนเน้นพัฒนาแอปมือถือและซอฟต์แวร์สำหรับลูกค้าธุรกิจ ซึ่งได้ผลดีด้วย

เดิมพันครั้งใหญ่ด้วยคลาวด์

ถ้าพูดถึงโลกอินเทอร์เน็ต ไมโครซอฟท์ไม่ใช่คนใหม่ในวงการนี้ เราคุ้นเคยกับบริการหลากหลายในเครือ MSN และเสิร์ช Bing ซึ่งมีอยู่มานานแล้ว แต่กับบริการคลาวด์นั้น ไมโครซอฟท์เพิ่งเริ่มเข้ามาในปี 2010 ซึ่งช้ากว่า Amazon ถึง 4 ปี และเริ่มอยู่ในระดับแข่งขันได้ในปี 2013

ภาพในตอนนั้นบริการคลาวด์สำหรับไมโครซอฟท์ดูเป็นธุรกิจเสริมมากกว่าจะเป็นธุรกิจหลัก ยิ่งรายได้หลักบริษัทยังมาจากการขาย Windows และ Office แต่เมื่อ Satya เข้ามา เขาชูกลยุทธ์บริษัทคือ Mobile-First คู่ไปกับ Cloud-First แม้ยังไม่ชนะ แต่ก็เติบโตมากทุกปี Azure มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นเบอร์ 2 รองจาก Amazon ส่วนธุรกิจทำเงินอย่าง Office ก็ผลักดันการขาย Office 365 ที่ทำงานผ่านคลาวด์มากขึ้น ซึ่งช่วยให้แข่งขันกับกูเกิลได้

การปรับมาโฟกัสที่ธุรกิจคลาวด์ทำให้ไมโครซอฟท์กลับมาเป็นบริษัทเติบโตระดับเลขสองหลักได้ทุกไตรมาส และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทำสถิติตลอด สิ่งนี้จึงสะท้อนกลับไปที่ราคาหุ้น

ไมโครซอฟท์ยุคเปิดกว้าง ทั้งกับผู้ใช้และนักพัฒนา

ดีลซื้อกิจการที่สำคัญของไมโครซอฟท์ในยุค Satya มีสองรายการที่น่าสนใจคือการซื้อ LinkedIn และ GitHub เพราะทั้งสองรายการเป็นโลกของนักพัฒนามืออาชีพที่อยู่บนหลากหลายแพลตฟอร์ม สะท้อนว่าไมโครซอฟท์พร้อมเปิดกว้างกับเทคโนโลยีที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่บน Windows

ท่าทีหนึ่งคือการที่ไมโครซอฟท์มีเป้าหมายให้ซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้บนทุกระบบปฏิบัติการ จากเดิมที่มีแค่ Windows และ macOS เป็นหลัก เมื่อเปิดกว้างไปถึงโอเพ่นซอร์ส ก็มีความชัดเจนและจริงใจมากขึ้น เห็นได้จากผู้อำนวยการของ Linux Foundation ยังยอมรับว่าไมโครซอฟท์มีท่าทีเปิดกว้างมากขึ้น

Michael A. Cusumano อาจารย์ของสถาบัน Sloan แห่ง MIT ยังให้ความเห็นว่า ไมโครซอฟท์ปรับองค์กรไปหลายอย่างจนทำให้บริษัทดูเท่และน่าทำงานอีกครั้ง

โครงสร้างรายได้ที่กระจายความเสี่ยง

ไมโครซอฟท์แบ่งโครงสร้างรายได้ออกเป็น 3 หน่วยธุรกิจในยุคของ Satya ประกอบด้วย Productivity and Business Processes (Office, Office 365, LinkedIn), Intelligent Cloud (Azure) และ More Personal Computing (Windows, Surface, Xbox, Bing) ที่น่าสนใจคือรายได้ทั้ง 3 หน่วยนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน และเติบโตในระดับเลขสองหลักได้ทั้งหมด เท่ากับไมโครซอฟท์ไม่ได้เป็นบริษัทที่พึ่งพารายได้จากธุรกิจประเภทใดมากเป็นพิเศษ ดังตัวเลขผลประกอบการไตรมาสล่าสุดในภาพ

หากเทียบกับ 5 บริษัทกลุ่มเทคโนโลยียุคใหม่ตัวย่อ FAANG จะเห็นว่าทั้ง 5 บริษัท พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ กล่าวคือ Facebook มีรายได้จากโฆษณา 99%, Apple มีรายได้จาก iPhone สินค้าเดียว 59%, Amazon มีรายได้จากอีคอมเมิร์ซในอเมริกา 58%, Netflix รายได้ทั้งหมดมาจากค่าสมาชิก และ Alphabet (Google) มีรายได้จากโฆษณา 87%

ไมโครซอฟท์ จึงกลายเป็นบริษัทที่กระจายความเสี่ยงธุรกิจออกมาได้ดีกว่ารายอื่น นักวิเคราะห์ประเมินว่าหุ้นไมโครซอฟท์จะค่อย ๆ เติบโตไปเรื่อย ๆ แต่ไม่รวดเร็ว และน่าจะทำให้บริษัทมีมูลค่ากิจการแตะระดับล้านล้านดอลลาร์ได้เช่นกันภายในปีหน้า

ที่มา: The New York Times

Blognone Jobs Premium