จากเหตุการณ์จับกุม Meng Wanzhou รองประธานและซีเอฟโอของ Huawei ในประเทศแคนาดา ที่ยังขาดรายละเอียดของคดีในช่วงแรกๆ วันนี้เริ่มมีรายละเอียดออกมาเพราะเธอถูกส่งขึ้นศาลแคนาดาแล้ว
John Gibb-Carsley อัยการของรัฐบาลแคนาดา (ซึ่งเป็นผู้ยื่นฟ้อง Meng ต่อศาล) ให้ข้อมูลว่า Meng มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมในอิหร่าน โดยใช้บริษัทลูก Skycom Tech ในฮ่องกงของ Huawei หลอกให้สถาบันการเงินบางแห่งในสหรัฐทำธุรกิจกับประเทศอิหร่าน (ซึ่งถูกสหรัฐคว่ำบาตรและห้ามทำธุรกิจด้วย)
เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างปี 2009-2014 ที่ Huawei ขายอุปกรณ์โทรคมนาคมให้อิหร่านผ่าน Skycom โดยมีธนาคารบางแห่งในสหรัฐช่วยอนุมัติธุรกรรมให้ ซึ่งธุรกรรมเหล่านี้ถือว่าผิดกฎหมายของสหรัฐ
ประเด็นเรื่อง Skycom ขายสินค้าให้อิหร่าน เคยเป็นข่าวลง Reuters มาแล้วในปี 2013 ซึ่งสถาบันการเงินเหล่านี้ (ที่ระบุชื่อคือ HSBC) ก็สอบถามว่า Huawei มีความเกี่ยวข้องกับ Skycom หรือไม่ และ Meng ที่พบกับนายธนาคารสหรัฐในช่วงนั้น ก็ยืนยันว่า Huawei ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ Skycom เพราะเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกันตามปกติ และ Huawei ก็ขายหุ้นที่เคยถืออยู่ใน Skycom ทิ้งหมดแล้ว
อัยการระบุว่าในความเป็นจริงแล้ว Skycom เป็นบริษัทลูกแบบลับๆ ของ Huawei โดยพนักงานของ Skycom ใช้ที่อยู่อีเมลเดียวกับ Huawei และมีป้ายห้อยคอเป็นโลโก้ Huawei ด้วย ดังนั้นพฤติกรรมของ Meng ที่โกหกเรื่องนี้ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวง (fraud) ให้เกิดธุรกรรมผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐก็เคยสั่งแบน ZTE จากการขายสินค้าให้อิหร่านและเกาหลีเหนือ ซึ่งผิดกฎหมายสหรัฐในลักษณะเดียวกัน
อัยการบอกว่า Meng เดินทางเข้ามาสหรัฐเป็นประจำ โดยทริปสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2017 แต่หลังจาก Huawei พบว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังสอบสวนเรื่องนี้ ผู้บริหารของบริษัทจึงหยุดเดินทางเข้าสหรัฐ
สหรัฐออกหมายจับ Meng มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2018 และประสานงานไปยังแคนาดาด้วย เมื่อทางการแคนาดาทราบว่าเธอจะเดินทางมาต่อเครื่องบินไปยังเม็กซิโกที่เมืองแวนคูเวอร์ จึงออกหมายจับและดำเนินการจับกุม
ตอนนี้กระบวนการสอบสวน Meng ยังดำเนินต่อไป เธอยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นอสังหาริมทรัพย์ในแคนาดา แต่ศาลแคนาดายังไม่ได้อนุมัติเรื่องนี้ โดยจะสอบสวนต่อในวันจันทร์หน้า
รัฐบาลสหรัฐสามารถยื่นขอให้แคนาดาส่งผู้ร้ายข้ามแดนภายใน 60 วันหลังจับกุม หาก Meng ถูกส่งไปดำเนินคดีในสหรัฐ เธออาจถูกตัดสินโทษสูงสุดคือจำคุก 30 ปีตามกฎหมายสหรัฐ
ที่มา - New York Times, BBC, Washington Post