ตั้งแต่งาน Google I/O 2018 กูเกิลเปิดตัวโครงการวิจัยที่ใช้ AI วิเคราะห์อาการเบาหวานขึ้นตา ด้วยการใช้ AI อ่านภาพถ่ายนัยน์ตาและวิเคราะห์ว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ และเปิดเผยในภายหลังว่าจะทำวิจัยในประเทศไทยด้วย
วันนี้กูเกิลแถลงข่าวประกาศความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วยในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกทั่วประเทศ
นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดวงตา ระบุประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งทุกคนมีความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (diabetic retinopathy) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้ตาบอดได้
ภาวะนี้สามารถป้องกันได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้แค่ประมาณ 1,400 คน แถมส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และไม่ครอบคลุมผู้ป่วยที่อยู่ทั่วประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ป่วยจะตาบอดไปก่อนเข้ามาตรวจด้วยซ้ำ
ดังนั้นหากใช้ AI เข้ามาวิเคราะห์ภาพถ่ายดวงตาและสร้างโมเดล machine learning เพื่อเรียนรู้รูปแบบ จนสามารถแยกแยะความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีขึ้นมาก
ประเทศไทยมีโครงการคัดแยกผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอประสาทตามาตั้งแต่ปี 2000 และเริ่มงานวิจัยกับกูเกิลมาตั้งแต่ปี 2017 โดยยังเป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังเพื่อพิสูจน์ว่าโมเดลถูกต้อง พอในปี 2018 ก็จะเริ่มการวิจัยเพื่อพยากรณ์ล่วงหน้าว่าผู้ป่วยจะเกิดอาการหรือไม่
นพ.ไพศาล ระบุว่าโมเดลของ AI ของกูเกิลสามารถตรวจจับภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้แม่นยำกว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกมาแล้วอย่างมาก (ความแม่นยำ 97% vs 74%)
ในขั้นถัดไปจึงจะขยายผลการทดลองไปเป็นการทดลองทางคลินิก (clinical trial) โดยเริ่มจากพื้นที่แรกที่โรงพยาบาลคลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2018 และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น (จังหวัดถัดไปคือเชียงใหม่)
Lily Peng ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของ Google Health และผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ระบุว่านอกจากในประเทศไทยแล้ว กูเกิลยังเริ่มทดลองทางคลินิกในประเทศอินเดีย โดยได้รับการสนับสนุนจาก Verily บริษัทลูกในเครือ Alphabet ส่วนเหตุผลที่เลือกไทยและอินเดีย เป็นเพราะทั้งสองประเทศมีโครงการคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานในระดับชาติอยู่ก่อนแล้ว จึงต่อยอดไปยังการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด
Jay Yagnik ผู้บริหารตำแหน่ง Vice President and Engineering Fellow at Google ที่รับผิดชอบดูแลงานในโครงการ Google AI ระบุว่าหลังเทคโนโลยี AI มีความก้าวหน้ามากขึ้น การนำ AI มาวิจัยในด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผน AI for Social Good ของกูเกิลที่ต้องการนำ AI มาแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และสุขภาพ ตัวอย่างโครงการย่อยภายใต้ AI for Social Good ได้แก่การใช้ AI มาช่วยพยากรณ์น้ำท่วมที่เขต Patna ในอินเดีย หรือการใช้ AI ช่วยพยากรณ์ aftershock ล่วงหน้า หลังการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เพื่อให้อพยพคนได้ทัน
นอกจากโครงการวิจัยของกูเกิลเองแล้ว กูเกิลยังสนับสนุนให้หน่วยงานอื่นๆ นำ AI ไปใช้ในทางสร้างสรรค์ด้วย ผ่านเครื่องมือที่กูเกิลสร้างขึ้นและโอเพนซอร์สให้ทุกคนไปใช้งาน (เช่น TensorFlow) ซึ่งก็มีคนนำไปใช้วิจัยหลากหลายด้าน เช่น มีนักศึกษาในแคลิฟอร์เนียทำอุปกรณ์ติดต้นไม้ อ่านค่าสัญญาณต่างๆ เพื่อพยากรณ์การเกิดไฟป่า หรือแอพ Ubenwa ที่วิเคราะห์อาการป่วย birth asphyxia ของเด็กทารกแรกเกิด จากเสียงร้องของทารก