เมื่อวานนี้กูเกิลได้แถลงข่าวความร่วมมือระหว่างกูเกิลและโรงพยาบาลราชวิถีถึงกรตรวจโรคเบาหวานขึ้นตา ผู้บริหารที่มาเปิดงานนี้คือ Kent Walker รองประธานอาวุโสและผู้บริหารฝ่ายกฎหมายของกูเกิล นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในคนผลักดัน AI Principle หรือหลักการพัฒนาและใช้งานปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลที่กลายเป็นหลักการที่กูเกิลไม่ต่อสัญญาพัฒนาระบบให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ภายใต้ความหวังว่าปัญญาประดิษฐ์จะมาเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น และความกลัวว่าปัญญาประดิษฐจะสร้างหายนะต่อมนุษยชาติ มุมมองของ Kent น่าจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทอย่างกูเกิลมีมุมมองต่อปํญญาประดิษฐ์ในอนาคต
เราผลักดันหลักการปัญญาประดิษฐ์ (AI principle) เพื่อบอกว่าเราจะปล่อยเครื่องมืออะไรสู่โลกภายนอกและเครื่องมืออะไรที่เราต้องคิดหน้าคิดหลังก่อน เพราะมีโอกาสที่จะมีคนนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ เรามาจัดงาน AI ในวันนี้ที่เราต้องมีการพูดคุยถึงเครื่องมือที่ใช้งานได้หลากหลาย และรูปแบบการใช้งานเฉพาะอย่าง
วันนี้เราเปิดเผยผลวิจัยงานของเราสู่สาธารณะ (หมายถึงงานวิจัยการวิเคราะห์เบาหวานขึ้นตา ช่วงเวลาสัมภาษณ์ยังไม่ถึงเวลาประกาศ) ที่มีประโยชน์ต่อคนทั่วไป แต่ขณะเดียวกันงานวิจัยพื้นฐานเหล่านี้ก็อาจถูกใช้ไปในทางที่ผิดด้วย และเราต้องคิดว่าจะมีการควบคุมอะไรได้บ้าง
เมื่อเราเปิดซอร์สเครื่องมืออย่าง Tensorflow เราเปิดทางให้มีนวัตกรรมจำนวนมาก แต่ก็มีการใช้งานในทางที่ผิด แต่เราคิดว่าประโยชน์ต่อสังคมทั้งด้านสาธารณสุข, พัฒนาเศรษฐกิจ, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เหล่านี้รวมกันแล้วเหนือกว่าความเสี่ยงของการใช้งานในทางที่ผิดมาก อย่างไรก็ตามเราคำนึงถึงการใช้งานในทางที่ผิดและคิดถึงหนทางที่จะเพิ่มการป้องกัน ขณะที่เราปล่อยเทคโนโลยีเหล่านี้ให้คนจำนวนมากใช้งาน
การป้องกันเป็นเรื่องท้าทายในตัวมันเอง และตอนนี้ก็ยังเป็นช่วงเริ่มต้น เริ่มจากวิศวกรของเราเองจะพัฒนาอะไร พร้อมกับการสนับสนุนให้พูดคุยกันมากขึ้นว่าการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบใดที่ยอมรับและแบบใดที่ยอมรับไม่ได้
ตัวอย่างการพูดคุยเช่นเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ที่อาจจะนำไปใช้ในทางที่ดีอย่างการหาเด็กหาย หรีอการค้นหารูปภาพ ขณะเดียวกันก็อาจมีการใช้ไปสอดส่องคนในรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือกระทั่งประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นคำถามระดับเดียวกับการวิจัยทางการแพทย์ แนวทางเหล่านี้ไม่ได้แก้ด้วยการควบคุมทางกฎหมายอย่างเดียว แต่บริษัทเองก็ต้องมีแนวทางที่กำกับตัวเองไม่ให้เทคโนโลยีถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
คำอธิบายหนึ่งเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ คือถ้าเราใช้งานมันทุกวัน เราก็ไม่ได้เรียกมันว่าปัญญาประดิษฐ์อีกต่อไป ทุกวันนี้คนทั่วไปใช้งานระบบอัตโนมัติจำนวนมากที่เป็นปัญญาประดิษฐ์อยู่แล้ว เช่น จีเมลใช้ปัญญาประดิษฐ์, การแปลภาษาด้วย Google Translate หรือแม้แต่ระบบง่ายๆ อย่างประตูอัตโนมัติ เมื่อเรามองระบบ มันคือการหารูปแบบข้อมูลและตอบสนองข้อมูลนั้น
ดังนั้นเกือบทุกที่ที่ข้อมูลมีรูปแบบ และสามารถทำนายได้ว่าอะไรน่าจะเกิดขึ้นต่อไป ก็มีโอกาสที่จะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทั้งสิ้น เช่น การเกษตรที่มีต้องทำนายว่าควรใส่ปุ๋ยเมื่อใด หรือการจัดการคงคลังสินค้าทำนายการสต็อกสินค้า
เราคงหาการทำนายปัญญาประดิษฐ์ได้ทั้งที่ว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่ประเสริฐยิ่ง หรือเป็นเทคโนโลยีที่น่ากลัว แต่ในความเป็นจริงก็จะมีทั้งประโยชน์จริงจำนวนมากและความเสี่ยงอยู่จำนวนหนึ่ง เพราะโดยตัวคำว่าปัญญาประดิษฐ์เองก็เป็นคำที่กว้างมาก หลายคนใช้โดยหมายถึงหุ่นยนต์ไปด้วย
แต่โดยทั่วไปแล้ว ปัญญาประดิษฐ์จะทำงานที่ซ้่ำซากและน่าเบื่อแทนเรา และเปิดทางให้เราไปทำอะไรที่น่าสนใจขึ้น
ผมเองมองโลกในแง่ดีกว่าช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา สังคมโลกปรับตัวกับเทคโนโลยีมาได้เสมอ และเกิดงานใหม่ๆ ทุกวันนี้เรามีอาชีพอย่างนักออกแบบเกม พ่อผมเองมองว่าการทำงานต้องยกย้ายสิ่งของและเมื่อเขามองงานของผมที่ต้องพูดคุยกับคนจำนวนมาก เขาก็มองว่านี่ไม่ใช่งาน
ต้องย่้ำอีกทีว่าผมมองโลกในแง่ดีว่าปัญญาประดิษฐ์จะสร้างสิ่งที่ดีได้มากมาย แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง แบบเดียวกับอินเทอร์เน็ตที่ทุกวันนี้เชื่อมคนเข้าด้วยกัน สร้างคุณค่าให้กับผู้คนและธุรกิจ แต่ก็มีคนนำไปใช้ในแง่ร้ายทั้งการก่อการร้ายหรือการใช้งานเป็นอันตรายอื่น
ปัญญาประดิษฐ์เองก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน เราพยายามลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ถ้าเราจะเปิดตัวรถไร้คนขับ เราอยากเปิดตัวให้มันช่วยชีวิตคน ไม่ใช่เน้นแต่วางตลาดให้ได้ก่อน แต่เราจะทำให้แน่ใจว่าเราทำได้ดีกว่าคนขับรถอย่างมาก
ตัวหลักการเองอีกด้านหนึ่งก็ดีต่อบริษัทเราเอง คนส่วนมากอยากทำงานที่ทำให้โลกดีขึ้น มีหลักการเช่นนี้ก็ทำให้วิศวกรที่อยากทำให้โลกให้ดีขึ้นอยากมาทำงานกับเรา
ที่ผ่านมาเราได้พูดคุยกับหน่วยงานและบริษัทจำนวนมากที่อยากให้แน่ใจว่าปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม หลีกเลี่ยงการเลือกปฎิบัติ, ทำให้ปัญญาประดิษฐ์อธิบายได้
รัฐบาลเองก็เริ่มมีการศึกษาออกมาบ้างแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มวางแนวทางบางส่วน, ในยุโรปเองมีประเด็นการปกป้องข้อมูลกับปัญญาประดิษฐ์ โดยทั่วไปแล้วการพูดคุยก็มักเห็นตรงกันมากกว่าจะเห็นต่าง แต่การกำกับดูแลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราคงไม่อยากให้มีกฎมากำกับก่อนที่จะเข้าใจว่ากำกับอะไรเพราะจะกลายเป็นการสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาโดยไม่จำเป็น ขณะที่ประโยชน์ของเทคโนโลยีนั้นมีมหาศาล
การพูดคุยในตอนนี้จึงเป็นเรื่องทีดี และเมื่อเราเรียนรู้มากขึ้นแล้ว ถึงเวลานั้นรัฐบาลต่างๆ จะมีแนวทางที่ชัดเจนในการกำกับดูแลก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม
เราต้องยอมรับว่าความกังวลถึงข้อมูลนั้นมีเหตุผลของมันเอง และเราก็ต้องแน่ใจว่าตัวผู้ป่วยยินยอมให้ข้อมูลกับเรามาทำวิจัย แต่แนวทางนี้ก็ไม่ใช่แนวทางใหม่แต่อย่างใด การวิจัยทางการแพทย์ต้องขอความยินยอมผู้ป่วยอยู่แล้ว
เราทำงานร่วมกับหน่วยงานทางการแพทย์สนับสนุนให้ผู้ป่วยยอมให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม และข้อมูลส่วนมากก็เป็นข้อมูลที่ตามกลับไปยังตัวผู้ป่วยไม่ได้ เช่น ข้อมูลการส่งผู้ป่วยกลับบ้านและการกลับมานอนโรงพยาบาลอีกครั้ง เราไม่ได้ต้องการข้อมูลรายละเอียดของตัวผู้ป่วยรายคน เช่น ชื่อหรือที่อยู่ แต่ข้อมูลที่ได้สามารถสร้างระบบที่ช่วยให้โรงพยาบาลตัดสินใจได้ดีขึ้น
ผมคิดว่าจะมีประโยชน์มากหากมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ คนจำนวนมากไม่ตระหนักว่าข้อมูลที่นำไปทำวิจัยสามารถสร้างผลดีต่อสังคมรวมได้มากเพียงใด ขณะเดียวกันผลกระทบต่อตัวผู้เข้าร่วมก็ต่ำมาก การแชร์ข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตน ต่างจากการบริจาคอวัยวะหรือบริจาคเลือดมาก
หากมีการสื่อสารถึงประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น คนจำนวนมากก็น่าจะเข้าใจถึงประโยชน์มากชึ่น
ความไว้ใจหรือไม่ไว้ใจคงเปลี่ยนไปมาอยู่เรื่อยๆ และการทำนายอนาคตก็ทำได้ยากมาก มันมีช่วงเวลาที่ทุกคนพากันตื่นเต้นกับเทคโนโลยี และช่วงเวลาที่พบว่ามีคนนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ไม่ดี
เราหวังว่าเราจะสื่อสารออกไปได้ว่ามันมีความท้าทายที่ยาก เช่น การแสดงผลค้นหาเราก็อยากให้การแสดงผลทำได้ดีที่สุด ซึ่งหมายถึงการนำผลบางอย่างออกไป หรือ YouTube เองที่มีการใช้ในทางที่ไม่ดีหลายอย่าง เราเองพยายามสื่อสาร แสดงนโยบายว่าอะไรยอมรับได้ไม่ได้
มุมมองสังคมคงแกว่งไปมาเรื่อยๆ เราหวังว่าสังคมจะมองเทคโนโลยีด้วยมุมมองที่นิ่งขึ้น และเทคโนโลยีโดยรวมก็มีผลดีต่อสังคม คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นอย่างมาก เฉพาะ 30 ปีที่ผ่านมามีคนหลุดจากความยากจนอย่างมากถึงพันล้านคน