หลังจากวิกฤตข่าวปลอม Facebook ก็ทำงานร่วมกับหน่วยงานข่าวราว 40 แห่งเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Associated Press, PolitiFact และ Facebook ก็เผยอยู่เรื่อยๆ ว่าการทำแบบนี้นั้นได้ผลและช่วยลดข่าวปลอมได้จริง
ล่าสุด The Guardian สัมภาษณ์บุคคลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวบน Facebook พวกเขาต่างบอกว่า Facebook ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้เท่าไร บางครั้งก็ให้ตรวจสอบข้อมูลที่อาจกระทบลูกค้าของ Facebook เอง และมันทำให้พวกเขาที่ทำงานด้วยนั้นสูญเสียศรัทธาใน Facebook
จากข่าวก่อนหน้าที่ Facebook จ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ขุดประวัติของคู่แข่งและคนที่ต่อต้าน Facebook อย่าง George Soros ทำให้นักข่าวคนหนึ่งที่ช่วยตรวจข่าว Facebook แต่ไม่ประสงค์ออกนามให้ความเห็นว่า ทำไมสังคมถึงควรเชื่อใจ Facebook ที่ทำตัวเป็นแหล่งเผยแพร่ข่าวปลอมเสียเอง
Brooke Binkowski อดีตบรรณาธิการบริหารของ Snopes เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวที่ได้ร่วมมือกับ Facebook สองปี บอกว่า Facebook สนใจแค่อย่างเดียวคือทำทุกอย่างให้ภาพลักษณ์ของ Facebook ดูดี
Binkowski บอกว่าเคยมีอย่างน้อยครั้งหนึ่งที่ Facebook ให้นักข่าวช่วยลบข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อผู้ลงโฆษณาของ Facebook ซึ่งBinkowski คิดว่าเรื่องนี้เริ่มจะข้ามเส้นและแสดงให้เห็นว่า Facebook ไม่ได้ทำข่าวแต่กำลังทำโฆษณาชวนเชื่อ
Facebook ออกมาโต้ทันควัน ว่าไม่เคยให้นักข่าวช่วยทำอย่างที่ Binkowski บอก จริงๆ แล้ววิธีการตรวจสอบของ Facebook คือใช้ Machine Learning คัดเอาข้อมูลที่ผิดแน่ๆ ส่งให้ทีมข่าวตรวจต่อโดยทีมเป็นคนจัดลำคับควาสำคัญและให้คะแนนเองว่าควรให้ข่าวนี้กี่คะแนนเรื่องข้อเท็จจริง ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ดังนั้น การนำข้อมูลใดออกจากแพลตฟอร์มจึงเป็นกระบวนการอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม Facebook รับรู้ว่ามีนักข่าวที่ต้องการข้อมูลว่าการให้หน่วยงานข่าวภายนอกช่วยตรวจสอบให้ผลอย่างไร โดย Facebook จะทำข้อมูลตัวเลขสถิติอย่างละเอียดออกมาเผยแพร่ต่อไป
ที่มา - The Guardian, Facebook