ความล้มเหลวด้าน esports ของ Heroes of the Storm อาจเกิดจากรูปแบบการเล่นที่ต่างกันเกินไประหว่างการเล่นทั่วไปและการแข่งขัน

by geekjuggler
17 December 2018 - 04:35

ถึงแม้ Heroes of the Storm (HotS) เกม MOBA จากค่าย Blizzard จะยังได้รับการอัพเดตต่อไปในอนาคต แต่การยกเลิกลีกการแข่งขัน HGC ของตัวเอง น่าจะเป็นสัญญาณความผิดพลาดอะไรบางอย่างสำหรับการแข่งขันในระดับอาชีพของเกมนี้

VentureBeat ได้ออกบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจถึงเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า อาจจะเกิดจากการที่ HotS ไม่สามารถดึงความสนใจของผู้เล่นทั่วไปสู่การแข่งขันระดับอาชีพได้ เนื่องจากรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันเกินไป

บทวิเคราะห์ดังกล่าวเริ่มที่การไล่เรียงถึงวิธีการออกแบบเกมของ Blizzard ที่ใช้การนำแนวเกมที่มีอยู่แล้วในตลาดมาปรับปรุงให้ดีขึ้นและเล่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้เล่นทั่วไปที่ต้องการศึกษาเกมให้ลึกยิ่งขึ้น จนเปลี่ยนพวกเขาเป็นผู้เล่นที่จริงจังขึ้นและสนใจในการแข่งขันระดับอาชีพในที่สุด

แต่ความผิดพลาดของ HotS ที่ไม่สามารถดึงผู้เล่นมาสนใจในการแข่งขันระดับ esports คือ ความแตกต่างในรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันเกินไประหว่างการเล่นในโหมดทั่วไปอย่าง Quick Match และการแข่งขันจริงจัง

ตัวอย่างที่ VB ยกขึ้นมาคือตำแหน่ง Solo laner หรือตัวละครที่ยืนเลนด้วยตัวคนเดียว ด้วยรูปแบบการแข่งขันระดับอาชีพ ตัวละครที่ผู้เล่นอาชีพเลือกใช้มักจะเป็นตัวละครที่มีค่าพลังชีวิตเยอะ หรือ ฟื้นฟูพลังชีวิตของตัวเองได้ โดยมีหน้าที่เพื่อเอาตัวรอดได้ด้วยตัวคนเดียว ขณะที่ผู้เล่นที่เหลือในทีมไปทำหน้าที่เก็บค่าประสบการณ์และทำภารกิจในเกม

ตำแหน่งดังกล่าวที่มีชื่อเล่นว่า “bruiser” โดยไม่ได้เป็นหนึ่งในสี่ประเภทตัวละครหลักที่เกมแบ่งให้กับผู้เล่น (Assassin, Support, Warrior และ Specialist) ยิ่งไปกว่านั้น ตัวละครที่เกมแนะนำแก่ผู้เล่นใหม่ว่าเป็นตัว solo laner ที่ดีที่สุดกลับเป็นตัวละครที่มีความสามารถดันเลนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตัวละครเหล่านี้เก่งมากในการเล่นแบบ Quick Match แต่อ่อนแอมากในการเล่นระดับอาชีพที่ผู้เล่นในทีมมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดีและตอบสนองต่อการเล่นได้อย่างรวดเร็ว

ผลที่เกิดขึ้นคือผู้เล่นระดับอาชีพมีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกับผู้เล่นทั่วไปอย่างชัดเจน ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ที่เล่นในโหมด Quick Match ไม่สนใจที่จะเรียนรู้มิติของเกมที่มากขึ้น และไม่นำไปสู่ความสนใจของเกมนี้ในฐานะ esports นั่นเอง

ที่มา: VentureBeat

Blognone Jobs Premium