Bukalapak สตาร์ทอัพสายอีคอมเมิร์ซ ที่เป็นสตาร์ทอัพรายล่าสุดของอินโดนีเซียที่เพิ่มทุนจนทำให้มีมูลค่ากิจการสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นเมื่อปีที่แล้ว ต่อจาก Tokopedia, Go-Jek และ Traveloka โดยล่าสุดบริษัทได้ประกาศรับเงินทุนซีรี่ส์ D เพิ่มอีก 50 ล้านดอลลาร์ จากกองทุน Mirae Asset-Naver Asia Growth ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง กองทุน Mirae Asset และ Naver จากเกาหลีใต้
รายชื่อผู้ลงทุนก่อนหน้านี้ใน Bukalapak ก็มีทั้ง Ant Financial บริษัทการเงินเครือ Alibaba, Emtek ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในอินโดนีเซีย และกองทุน GIC ของประเทศสิงคโปร์
ถ้าพูดถึงอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในอินโดนีเซียก็ต้องเป็น Tokopedia ซึ่งเพิ่งรับทุนก้อนใหญ่กว่าพันล้านดอลลาร์เมื่อปลายปีที่แล้ว แม้ Bukalapak จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็มีแนวทางในการดำเนินงานที่น่าสนใจเช่นกัน
Bukalapak เป็นภาษาอินโดนีเซียแปลว่าเปิดร้านขายของ ก่อตั้งเมื่อ 9 ปีที่แล้ว มียอดขายสุทธิ (GMV) ในปีที่ผ่านมาราว 4 ล้านล้านรูเปีย หรือเกือบ 9 พันล้านบาท มีจำนวนร้านค้าในแพลตฟอร์มกว่า 4 ล้านราย และผู้ใช้งานเป็นประจำกว่า 50 ล้านคน
แนวทางของ Bukalapak คือเป็นให้มากกว่าอีคอมเมิร์ซ โดยต้องการเป็นแพลตฟอร์มแนวไลฟ์สไตล์ มีสินค้าที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน อาทิ บัตรโดยสารเครื่องบิน รถไฟ ไปจนถึงสินค้าด้านการเงินการลงทุน นอกจากนี้ยังพยายามเพิ่มช่องทางการขายแบบออฟไลน์ โดยมีโครงการชื่อ Mitra Bukalapak เพื่อเป็นพันธมิตรกับร้านค้ารายย่อย สำหรับเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าดิจิทัล เจาะกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และให้เปอร์เซ็นต์กับร้านค้า ปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 5 แสนราย และตัวแทนอิสระอีกกว่า 7 แสนคน
อีกทิศทางที่น่าสนใจของ Bukalapak คือการพัฒนาสินค้าด้านการลงทุน โดยผู้ใช้งานสามารถซื้อกองทุนรวมได้ผ่าน Buka Reksa ที่ตอนนี้มีคนซื้อหน่วยทุนหลายแสนราย โดยผลิตภัณฑ์ทางการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือการซื้อกองทุนทองคำ
นอกจากนี้ Bukalapak ยังมีแผนในอนาคตซึ่งเป็นไปในทิศทางเหมือนสตาร์ทอัพรายใหญ่ของภูมิภาคนี้ ก็คือการเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่ง Tokopedia ได้ทำอยู่แล้ว แต่ Bukalapak มาผิดจังหวะเวลา ทำให้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล แต่ก็ได้เริ่มร่วมมือกับพาร์ทเนอร์สาย FinTech หลายรายในประเทศไปก่อน
สำหรับเงินทุนรอบล่าสุดนั้น Bukalapak บอกว่าจะนำไปใช้ในการขยายพาร์ทเนอร์ร้านค้ารายย่อย รวมทั้งนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ การซื้อประกันภัยออนไลน์ และกระเป๋าเงินดิจิทัล
ที่มา: TechCrunch และ KrASIA