รีวิว ThinkPad X1 Extreme ครั้งแรกของซีรีส์ X1 ที่ใช้หน้าจอ 15 นิ้ว และจีพียู GeForce

by mk
10 February 2019 - 04:31

ชุมชน Blognone คงรู้จักโน้ตบุ๊กแบรนด์ ThinkPad กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เมื่อปีที่แล้ว Lenovo ตัดสินใจออกสินค้าไลน์ใหม่ของ ThinkPad ที่เป็นการหลอมรวมกันระหว่างซีรีส์ X1 (บางเบาพรีเมียม) กับซีรีส์ T (ใหญ่หน่อยแต่สมรรถนะสูง) จนออกมาเป็น ThinkPad X1 Extreme ที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ความบางแบบ X1, ยืดจอใหญ่ขึ้นเป็น 15 นิ้ว และอัดด้วยสมรรถนะระดับซีพียู Core i7 H และจีพียู GeForce 1050 Ti ไปพร้อมกัน

ทาง Lenovo ส่ง ThinkPad X1 Extreme มาให้ทดสอบกัน และนี่คือรีวิวครับ

ตำแหน่งแห่งที่ของ ThinkPad X1 Extreme

ก่อนหน้าการจุติของ X1 Extreme โน้ตบุ๊กซีรีส์ ThinkPad แยกกลุ่มเป้าหมายกันชัดเจน ระหว่าง

  • ซีรีส์ X ที่เน้นความบางเบา พกพาสะดวก หน้าจอขนาดใหญ่ไม่เกิน 14" (กรณีของ X1 Carbon คือหน้าจอ 14" ในบอดี้ขนาด 13") แต่ต้องแลกกับสมรรถนะที่ไม่สูงนัก เช่น ซีพียูสูงสุดที่ระดับ U และไม่มีการ์ดจอแยก
  • ซีรีส์ T ที่มีหน้าจอขนาด 14" ขึ้นไป (สูงสุดคือ 15") น้ำหนักเยอะขึ้นหน่อย แต่ใส่ซีพียู แรม สตอเรจได้มากขึ้น ใส่การ์ดจอแยกได้

ตรงนี้กลายเป็นช่องโหว่ทางการตลาดของ ThinkPad ที่ไม่มีโน้ตบุ๊กขนาด 15" สายพรีเมียม ขนาดเล็ก แต่สเปกแรง ในขณะที่คู่แข่งต่างกลับมีสินค้าระดับเดียวกัน เช่น Dell XPS 15, MacBook Pro 15, HP EliteBook 1050 G1 มาจับลูกค้าที่ต้องการสินค้าแบบนี้

ThinkPad X1 Extreme จึงเป็นสินค้าที่ออกมาเพื่อจับตลาดเดียวกัน นั่นคือโน้ตบุ๊ก 15" ที่พรีเมียมระดับ X1 ซึ่งเป็นเรือธงของแบรนด์ ThinkPad แต่มีสมรรถนะสูงพอสำหรับงานมัลติมีเดียหรือเกมมิ่งด้วย

หมายเหตุ: Lenovo ยังออก ThinkPad P1 โน้ตบุ๊กเกรดเวิร์คสเตชันที่เป็นฝาแฝดกับ X1 Extreme ที่หน้าตา ขนาด น้ำหนัก แทบจะเหมือนกันทุกประการ เว้นแต่ว่า ThinkPad P1 สามารถใส่ซีพียูได้ถึง Xeon และจีพียูเป็น Quadro ซึ่งถือว่าไม่ใช่โน้ตบุ๊กเกรดคอนซูเมอร์ไปแล้ว

สเปก

สเปกของ ThinkPad X1 Extreme รุ่นที่ทาง Lenovo Thailand ให้ยืมมารีวิว มีดังนี้

  • ซีพียู: Intel Core i7-8850H (6 คอร์, ความถี่ 2.60GHz)
  • แรม: 64GB DDR4 2666 (เป็น 32GB x2)
  • สตอเรจ : 1TB SSD NVMe
  • จีพียู: GeForce GTX 1050 Ti MaxQ แรม 4GB
  • หน้าจอ: 15.6" 4K (3840x2160) touchscreen
  • ระบบปฏิบัติการ: Windows 10 Pro 64 บิต
  • แบตเตอรี่: 4 cell 80 Wh พร้อมระบบชาร์จเร็ว Rapid Charge
  • กล้องหน้า: เว็บแคมพร้อม IR รองรับ Windows Hello
  • น้ำหนัก: ประมาณ 1.8 กิโลกรัม

ถ้าดูจากสเปกแล้ว ThinkPad X1 Extreme ตัวนี้ถือเป็นคอนฟิกสูงที่สุดของ Lenovo แล้ว ส่วนรุ่นที่วางขายจริงๆ เริ่มต้นตั้งแต่ซีพียู Core i5-8400H, แรม 8 GB, จอ Full HD ไม่สัมผัส, สตอเรจ 256GB

น้ำหนักของ ThinkPad X1 Extreme แบบจอ 4K อยู่ที่ 1.8 กิโลกรัม ถือว่าใกล้เคียงกับ MacBook Pro 15" (1.83 กิโลกรัม) และ Dell XPS 15" (1.8 กิโลกรัม) ส่วนรุ่นที่เป็นจอ Full HD จะเบากว่าเล็กน้อยคือ 1.7 กิโลกรัม

ดีไซน์

ThinkPad X1 Extreme มาพร้อมป้ายยี่ห้อ X1 ดังนั้นมันจึงใช้ดีไซน์แบบเดียวกับ X1 Carbon แทบทุกประการ

ตัวเครื่องยังคงความบางแบบ X1 แค่ขยายขนาดเครื่องให้ใหญ่ขึ้น จากเดิม 14" มาเป็นโน้ตบุ๊ก 15.6" แทน

ฝาหลังของตัวเครื่องใช้สีดำด้านตามสไตล์ ThinkPad X1 (ซีรีส์ X1 ไม่มีสีอื่นให้เลือกนอกจากสีดำ) โดยมีตัวหนังสือ X1 สีขาวแดงที่มุมขวาล่างเพื่อให้รู้ว่าเป็น X1 (ฝาแฝดกันอย่าง ThinkPad P1 ไม่มี)

เนื่องจาก ThinkPad X1 Extreme เป็นโน้ตบุ๊กธรรมดา ไม่ใช่โน้ตบุ๊กจอพับได้แบบตระกูล Yoga จึงกางบานพับได้สูงสุดแค่ 180 องศาเท่านั้น

คีย์บอร์ด-ทัชแพด

แต่ถึงแม้เป็นโน้ตบุ๊กขนาด 15" เหมือนกัน จุดต่างของ X1 Extreme กับ T580 ที่มองเห็นได้ชัดเจนทันทีคือ คีย์บอร์ด โดยคีย์บอร์ดของ T580 มีปุ่มตัวเลข (numpad) มาให้ด้วย ในขณะที่ X1 Extreme มีเฉพาะปุ่มตัวอักษรตามมาตรฐาน (ขนาดของตัวเครื่อง X1 Extreme เล็กกว่า)

คีย์บอร์ดของ X1 Extreme ไม่ต่างอะไรกับคีย์บอร์ดของ ThinkPad X1 Carbon รุ่นหลังๆ ที่เปลี่ยนมาเป็นปุ่มคีย์แบบ chiclet กันหมดแล้ว และมีไฟ backlight ในตัวสำหรับการใช้งานยามค่ำคืน (ชาว Blognone คงคุ้นเคยกับคีย์บอร์ดของ ThinkPad กันพอสมควร คงไม่ต้องอธิบายกันให้มากความ) รุ่นที่ขายในประเทศไทยก็มีสกรีนปุ่มภาษาไทยมาให้เสร็จสรรพแล้ว

คีย์บอร์ดตัวนี้ยังมีฟีเจอร์ป้องกันน้ำหก (spill resistant) โดยมีรูระบายน้ำที่เจาะลงไปยังตัวเครื่องด้านล่าง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ThinkPad มายาวนาน

ตรงกลางของคีย์บอร์ดมีปุ่มแดง Trackpoint และปุ่มกดเมาส์ซ้าย-ขวาตามปกติ ส่วนตัวทัชแพดเป็นแบบคลิกลงไปได้ทั้งอัน และเป็น precision touchpad ตามอย่างโน้ตบุ๊กสมัยใหม่

ด้านข้างขวาของคีย์บอร์ดเป็นปุ่ม Power สำหรับเปิดเครื่อง และมีตัวสแกนนิ้วมือที่ใช้กับ Windows Hello ซึ่งจากการลองใช้งานจริงก็พบว่าใช้งานได้ดี สแกนเร็ว ไม่มีปัญหาอะไร

ในภาพรวมแล้ว คีย์บอร์ดของ ThinkPad X1 Extreme ก็ยังคงความดีดเด้งที่เป็นเอกลักษณ์ของ ThinkPad มายาวนาน แฟนประจำคงไม่ต้องปรับตัวอะไรกันมากนัก ส่วนคนที่เพิ่งเคยจับ ThinkPad เป็นครั้งแรกก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้และสร้างความคุ้นเคยกันอีกสักพักหนึ่ง

พอร์ตเชื่อมต่อ

พอร์ตเชื่อมต่อของ X1 Extreme ให้มาพร้อมสรรพ ชนิดว่าแทบไม่ต้องหาสายแปลงหรือ dongle ใดๆ อีกเลย

พอร์ตด้านซ้ายได้แก่ สายชาร์จ AC, USB-C x2 (รองรับ Thunberbolt 3), HDMI 2.0, ช่องเสียบหัวแปลงสายแลน, ช่องเสียบหูฟัง/ไมโครโฟน

ในกล่องมีอุปกรณ์เสริมเป็นหัวแปลงสายแลนมาให้ด้วย เรียกว่าครบครันดี

พอร์ตด้านขวาได้แก่ Kensington Lock, USB-A 3.1 x2 (มีพอร์ตนึงที่ always on), SD Card Reader รองรับ SD ขนาดเต็ม, ตัวอ่าน Smart Card

อแดปเตอร์ของ ThinkPad X1 Extreme ค่อนข้างใหญ่เล็กน้อย รองรับระบบชาร์จเร็ว (rapid charge) โดยเป็นพอร์ตแบบเดียวกับ ThinkPad รุ่นหลังๆ ที่เปลี่ยนจากหัวกลมมาเป็นหัวแบนแล้ว

ThinkPad X1 Extreme ยังรองรับการชาร์จผ่าน USB-C เช่นเดียวกับโน้ตบุ๊ก ThinkPad ตัวใหม่ๆ ดังนั้นต่อให้ลืมสายชาร์จเฉพาะของ ThinkPad ก็สามารถชาร์จผ่านสายชาร์จ USB-C ของโน้ตบุ๊กตัวอื่นได้

จอภาพ

ThinkPad X1 Extreme มีประเภทของจอให้เลือก 2 แบบคือ Full HD non-touch และ UHD (4K) touchscreen ซึ่งตัวนี้เป็นแบบหลัง

จอทัชสกรีนของ X1 Extreme ตัวนี้ต้องบอกว่าค่อนข้างสว่าง (ตามสเปกมีความสว่าง 400 nits) เรียกว่าเปิดมาครั้งแรกถึงกับต้องลดแสงลงไม่ให้แสบตาจนเกินไป จอตัวนี้ยังรองรับ HDR มาตรฐาน Dolby Vision สามารถใช้ดูภาพยนตร์ที่รองรับ HDR มาตรฐานใหม่ๆ ได้

เนื่องจากเป็นจอทัชสกรีน มันจึงรองรับการเขียนบนจอด้วยปากกา Active Pen แต่ทาง Lenovo ไม่ได้ให้ปากกามาด้วย (เป็นอุปกรณ์เสริมขายแยก ไม่รวมมาในชุด) เราจึงทดสอบด้วยปากกาของโน้ตบุ๊กยี่ห้ออื่น ซึ่งก็พบว่าเขียนได้ดีไม่มีปัญหาใดๆ แต่ก็ต้องระลึกไว้ว่า X1 Extreme เป็นโน้ตบุ๊กที่พับจอ 360 องศาไม่ได้ (ไม่ใช่ซีรีส์ Yoga) โอกาสที่จะได้ใช้ปากกาเขียนจอจึงมีไม่เยอะนัก

เว็บแคมรองรับ Windows Hello

ThinkPad รุ่นปี 2018 มีของใหม่คือ ฝาปิดกล้องหน้า Think Shutter สำหรับคนที่กลัวเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ฝาปิดกล้องนี้ใช้ได้เฉพาะกับเว็บแคมปกติเท่านั้น หากเราคอนฟิกเอากล้อง IR สำหรับล็อกอินผ่าน Windows Hello ด้วย จะไม่สามารถใส่ Think Shutter เข้ามาได้อีก (ปัญหานี้แก้แล้วใน ThinkPad รุ่นปี 2019 ที่ตอนนี้ยังออกมาแค่ไม่กี่รุ่นเท่านั้น)

ThinkPad X1 Extreme ตัวที่ได้มารีวิว มาพร้อมกล้อง IR จึงไม่มี Think Shutter มาให้ สิ่งที่ได้มาแทนคือการล็อกอินด้วยใบหน้าผ่าน Windows Hello ที่รองรับจากตัว Windows 10 เลย ซึ่งคนที่เคยใช้ Windows Hello มาก่อนน่าจะทราบกันดีว่าเป็นฟีเจอร์ที่สะดวกมาก ทำให้การล็อกอินง่ายขึ้นมาก (ง่ายกว่าการสแกนนิ้วมาก) ถึงระดับที่ควรมีมาให้ในโน้ตบุ๊กสายวินโดวส์ทุกตัว

ส่วนตัวเว็บแคมของ X1 Extreme เป็นความละเอียด 720p HD เน้นสำหรับการวิดีโอคอลล์เป็นหลัก ซึ่งก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษกว่าเว็บแคมทั่วไป

ผู้ที่กังวลเรื่องไม่มีฝาปิด Think Shutter ยังสามารถสั่งปิดกล้องได้จากแอพ Lenovo Vantage ที่มาพร้อมกับเครื่อง (อยู่ในหมวด Hardware Settings)

สมรรถนะ

จุดเด่นที่สุดของ X1 Exteme ย่อมเป็นเรื่องสมรรถนะที่สูงที่สุดในบรรดาซีรีส์ X ทั้งหมด ตั้งแต่ซีพียูที่เป็น Core i7-8850H (Coffee Lake) ซึ่งให้สมรรถนะสูงกว่าซีพียูระดับ U ที่พบในโน้ตบุ๊กตัวอื่นๆ ไปจนถึงจีพียูที่เป็น GeForce GTX 1050 Ti Max-Q Design ที่ยัดจีพียู GeForce ซีรีส์ 10 ลงมาในโน้ตบุ๊กสายบางเบาได้สำเร็จ

กลุ่มเป้าหมายของ X1 Extreme จึงเป็นคนที่ต้องการโน้ตบุ๊กพรีเมียม กึ่งๆ เป็นเวิร์คสเตชันขนาดเล็ก สำหรับรันงานที่ต้องการสมรรถนะสูงๆ เช่น ตัดต่อวิดีโอ หรือ เล่นเกมสามมิติ เรียกว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ตอบโจทย์ทั้ง Work & Play ในตัวเดียว ซื้อตัวที่แรงๆ ไปเลย ไม่ต้องซื้อเครื่องสำหรับเล่นเกมแยกอีก

ในการทดสอบสมรรถนะของ X1 Extreme เราจึงใช้ซอฟต์แวร์เบนช์มาร์คหลายตัว ดังนี้

PCMark 8

รันชุดทดสอบ Work โดยตั้งค่าพลังงานของระบบเป็นแบบ high performance ได้ 4,216 คะแนน (ผลการทดสอบ) ถือว่าใกล้เคียงกับผลทดสอบของเว็บไซต์ Notebookcheck ที่ทำได้ 4,381 คะแนน

รันชุดทดสอบ Storage Test 2.0 เพื่อวัดค่าความเร็วของ SSD ที่เป็น NVMe ได้ 5,045 คะแนน (ผลการทดสอบ)

3DMark

รันชุดทดสอบ Time Spy โดยอัพเดตไดรเวอร์จีพียูเป็นรุ่นล่าสุด (GeForce Driver 471.71) และตั้งค่าพลังงานของระบบเป็น high performance ได้ 2,159 คะแนน (ผลการทดสอบ) ถือว่าใกล้เคียงกับผลทดสอบของเว็บไซต์ Notebookcheck ที่ทำได้ 2,196 คะแนน

Tomb Raider (2013)

การรันชุดเบนช์มาร์คอย่างเดียวอาจไม่สะท้อนประสิทธิภาพของเกมจริง ดังนั้นเรามาลองกับเกมจริงๆ กันบ้าง เกมที่ใช้ทดสอบคือ Tomb Raider ภาครีบูตปี 2013

วิธีการทดสอบคือรันเกมในโหมด Benchmark ที่ความละเอียด 2 ระดับคือ 1080p (เทียบได้กับการเล่นเกมสามมิติทั่วไป) และ 4K (ท้าทายความละเอียดเนทีฟของหน้าจอ)

ผลคือพลังของ GeForce 1050 สามารถเล่นเกมที่ 1080p ได้แบบลื่นๆ เหลือๆ และตอบโจทย์ของการเล่นเกมสามมิติระดับนี้ได้สบาย ส่วนการรีดพลังไปถึง 4K คงไม่ไหวจริงๆ ถ้าอยากได้ระดับนี้ควรไปเล่นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งเต็มขั้นน่าจะดีกว่า

ความละเอียด 1920x1080@60Hz ตั้งค่า Quality: Ultra (Anisotropic 16X, Anti-Aliasing: FXAA)

  • Min FPS: 43.3
  • Max FPS: 60.1
  • Average FPS: 57.5

ความละเอียด 3840x2160@60Hz ตั้งค่า Quality: High (Anisotropic 8X, Anti-Aliasing: FXAA)

  • Min FPS: 16.9
  • Max FPS: 34.9
  • Average FPS: 22.9

Civilization VI

นอกจาก Tomb Raider แล้ว เบนช์มาร์คอีกตัวที่ใช้ทดสอบคือเกม Civilization VI ซึ่งมีโหมดเบนช์มาร์ค เพื่อวัดการประมวลผล AI ของเกม ซึ่งสะท้อนสมรรถนะซีพียูของ X1 Extreme ด้วย ไม่ได้เป็นการวัดผลกราฟิกจากพลังจีพียูเพียงอย่างเดียว

เราลองรันเบนช์มาร์คที่ความละเอียด 2 ระดับคือ 4K และ Full HD พบว่าค่าไม่แตกต่างกันนัก ตีความได้ว่าสมรรถนะของ X1 น่าจะเหลือเฟือแล้วสำหรับเกมวางแผนอย่าง Civ 6 ที่ไม่ต้องการพลังกราฟิกมากเหมือนเกมแนว FPS

  • 3840x2160 @60Hz

    • Average Frame Time: 39.761ms
    • Average Turn Time: 35.71
  • 1920x1080 @60Hz
    • Average Frame Time: 36.805ms
    • Average Turn Time: 34.36

แบตเตอรี่

X1 Extreme ใช้แบตเตอรี่แบบก้อนเดียวถอดเปลี่ยนเองไม่ได้ ตามแนวทางของซีรีส์ X1 ซึ่งต่างไปจาก ThinkPad รุ่นหลังๆ ที่ใช้แบตสองก้อน

Lenovo คุยว่า X1 Extreme รันเบนช์มาร์คทดสอบแบตเตอรี่ได้นานถึง 14 ชั่วโมง แต่ในชีวิตจริงคงไม่มีอะไรสมบูรณ์ขนาดนั้น จากการทดสอบของเราพบว่าอยู่ได้ประมาณ 6 ชั่วโมง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่ได้แบตเต็มเม็ดเต็มหน่วย คงมาจากหน้าจอ 4K ความละเอียดสูงกว่าจอ Full HD ด้วย

สรุป

ThinkPad X1 Extreme ถือเป็นจุดสูงสุดของโน้ตบุ๊กสายพกพาขนาด 15" แล้ว เรียกว่ามีทุกอย่างเพียบพร้อม

  • บอดี้ที่แข็งแกร่งและคีย์บอร์ดของ ThinkPad X1 ที่พิสูจน์ตัวเองมานาน
  • หน้าจอใหญ่ขึ้นเป็น 15.6" และอัดความละเอียดได้สูงสุด 4K แถมเป็นจอสัมผัส
  • สมรรถนะระดับซีพียู Core รหัส H ที่เหนือกว่ารหัส U และการ์ดจอ GeForce Max-Q
  • พอร์ตเชื่อมต่อครบครัน ชนิดว่าไม่ต้องหาหัวแปลงอะไรเพิ่ม
  • ฟีเจอร์ใหม่ๆ ของโน้ตบุ๊กสายวินโดวส์ ทั้งกล้อง IR, ตัวสแกนลายนิ้วมือ, ชาร์จด้วย USB-C และชาร์จเร็ว

ข้อเสียเดียวที่พบคงมีแค่เรื่องอายุของแบตเตอรี่ที่น้อยไปสักนิด (แต่ถ้าเป็นรุ่น Full HD แบตน่าจะได้เยอะกว่านี้) ข้อเสียอย่างอื่นคงเป็นจุดร่วมของซีรีส์ ThinkPad ทั้งหมด ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ชอบสีดำหรือคีย์บอร์ดแบบ ThinkPad

ในภาพรวมแล้ว ThinkPad X1 Extreme เหมาะกับคนที่ทำงานนอกสถานที่ และต้องใช้พลังประมวลผลเยอะหน่อย รวมถึงอาจนำมาเล่นเกมด้วย (ใน/นอกเวลางาน) การที่หน้าจอขยับขึ้นมาเป็น 15.6" ทำให้เห็นข้อมูลได้มากขึ้น ลดความจำเป็นในการต่อจอนอกหรือต่อ dock ลงได้ ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากในตลาดโน้ตบุ๊กจอ 15 นิ้ว

ราคาของ ThinkPad X1 Extreme ที่ขายในไทย ราคาเริ่มต้นที่ 79,990 บาท เป็นรุ่น Core i5

Blognone Jobs Premium