ประเทศไทยติดอันดับ 11 ผลสำรวจ Connectivity Scorecard 2009

by mk
24 February 2009 - 03:08

Connectivity Scorecard เป็นผลสำรวจด้าน "การเชื่อมต่อ" กับข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ (ไม่เฉพาะว่ามีจำนวนผู้ที่ใช้ระบบไอทีเท่าไร แต่รวมไปถึงตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น แบนด์วิธออกต่างประเทศ งบประมาณด้านไอทีของภาคเอกชน e-Government ภาครัฐ อีกด้วย) สำรวจโดยบริษัทที่ปรึกษา LECG และนักวิจัยจาก London Business School มีสปอนเซอร์คือบริษัท Nokia Siemens Network

สำหรับของปี 2009 เป็นปีที่สองที่มีการสำรวจ และเป็นปีแรกที่ประเทศไทยอยู่ในการสำรวจ วิธีการสำรวจจะแบ่งประเทศออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 25 ประเทศ ซึ่งสองกลุ่มนี้จะใช้ตัวชี้วัดที่ต่างกันและจัดอันดับแยกกัน กลุ่มแรกคือประเทศพัฒนาแล้ว (Innovation driven economies) และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Efficiency and resource driven economies - เป็นภาษาสวยๆ ของ World Economics Forum)

ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มหลัง และผลสรุปคืออยู่อันดับ 11 จาก 25 ประเทศ ได้คะแนน 3.75 (สูงสุดในกลุ่มนี้คือมาเลเซีย 7.07 ต่ำสุดคือไนจีเรีย 1.30) ในรายงานฉบับที่เผยแพร่ไม่ได้บอกว่าประเทศไทยได้คะแนนแต่ละส่วนเท่าไรบ้าง

ส่วนตัวชี้วัดของกลุ่มประเทศที่สองมีดังนี้ครับ

  • โครงสร้างพื้นฐาน (ฝั่งผู้บริโภค)

    • จำนวนหมายเลขโทรศัพท์บ้านต่อประชากร
    • จำนวนหมายเลขโทรศัพท์มือถือต่อประชากร 100 คน
    • จำนวนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (internet subscribers) ต่อประชากร 100 คน
    • อัตราส่วนผู้ใช้บรอดแบนด์
    • อัตราส่วนของประชากรที่อยู่ในเขตที่มีสัญญาณมือถือ
  • การใช้งานของผู้บริโภค
    • อัตราการรู้หนังสือ
    • จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (internet users) ต่อประชากร 100 คน
    • อัตราส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นสตรี
    • จำนวนนาทีเฉลี่ยที่ใช้ในการคุยโทรศัพท์ (ผ่านโทรศัพท์บ้าน, มือถือ, VoIP) ของประชากร
    • จำนวน SMS เฉลี่ยต่อเดือนของประชากร
  • โครงสร้างพื้นฐาน (ฝั่งธุรกิจ)
    • จำนวนอินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์ที่ปลอดภัย (เข้าใจว่าหมายถึง HTTPS) ต่อประชากร 1 ล้านคน
    • จำนวนพีซีต่อประชากร 100 คน
    • แบนด์วิธออกต่างประเทศต่อประชากร
    • จำนวนบรอดแบนด์ภาคธุรกิจ (enterprise access lines) ต่อประชากร
    • งบประมาณใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจต่อประชากร
  • การใช้งานของภาคธุรกิจ
    • อัตราเด็กเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา
    • จำนวนนาทีที่โทรออกต่างประเทศเฉลี่ยของประชากร (คิดเฉพาะโทรศัพท์บ้าน)
    • corporate data revenue ต่อประชากร (ผมเข้าใจว่าหมายถึงการใช้บริการ data ของมือถือ คิดเป็นจำนวนเงิน และคิดเฉพาะภาคธุรกิจ)
    • งบประมาณใช้จ่ายด้านบริการไอทีเฉลี่ยต่อประชากร คิดเฉพาะจากภาคธุรกิจ
  • โครงสร้างพื้นฐาน (ฝั่งรัฐบาล)
    • อันดับในรายการ e-Government ของรัฐบาลทั่วโลก
    • งบประมาณใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับรัฐบาลต่อประชากร
  • การใช้งานของภาครัฐบาล
    • งบประมาณใช้จ่ายด้านบริการไอทีเฉลี่ยต่อประชากร คิดเฉพาะจากภาครัฐบาล
    • บริการของภาครัฐที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต

ประเทศในกลุ่มแรกนั้นจะมีตัวชี้วัดที่ต่างออกไป เช่น มีจำนวนผู้ใช้ 3G, อินเทอร์เน็ตแบบไฟเบอร์, จำนวนหมายเลข IP ฯลฯ เพิ่มเข้ามาด้วย

ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในการจัดอันดับ มีดังนี้

  • สิงคโปร์ (9 - กลุ่มแรก) 5.99
  • มาเลเซีย (1 - กลุ่มหลัง) 7.07
  • จีน (15 - กลุ่มหลัง) 3.19
  • ฟิลิปปินส์ (16 - กลุ่มหลัง) 3.17
  • เวียดนาม (19 - กลุ่มหลัง) 2.75
  • อินเดีย (20 - กลุ่มหลัง) 1.88
  • อินโดนีเซีย (21 - กลุ่มหลัง) 1.87

ตัวเอกสารฉบับเต็มดาวน์โหลดได้จาก Connectivity Scorecard (PDF)

ที่มา - Ars Technica

อัพเดต เนื่องจากผมอ่านแต่ตัวเปเปอร์ฉบับเต็ม เลยพลาดข้อมูลที่อยู่บนเว็บของ Connectivity Scorecard ไป

คะแนนของประเทศไทยเป็นไปตามกราฟและตาราง

เนื่องจากว่าเรามีเฉพาะข้อมูลแบบแยกเป็นหมวด ไม่มีข้อมูลละเอียดของแต่ละตัวชี้วัด แต่แค่นี้เราก็คงเห็นว่าส่วนของผู้บริโภคไทยนั้นแข่งขันกับประเทศที่เป็นผู้นำได้สบาย ในขณะที่ส่วนของภาคธุรกิจและภาครัฐบาลนั้นมีคะแนนต่ำมาก ในผลการสำรวจครั้งนี้ได้ให้น้ำหนักกับภาคธุรกิจสูงมาก (ดูตามตารางคือ 67% ในขณะที่ภาครัฐบาลรวมกันแค่ 4% เท่านั้น) ดังนั้นถ้าจะตอบคำถามว่าทำไมคะแนนของประเทศไทยในการสำรวจนี้ถึงต่ำ ก็ต้องบอกว่าเป็นปัญหาที่ภาคธุรกิจนั่นเอง

ส่วนสำคัญที่ประเทศไทยได้คะแนนน้อยที่สุดคือ "โครงสร้างพื้นฐาน (ฝั่งธุรกิจ)" ตรงนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนที่ดีว่า ภาคธุรกิจไทยต้องนำไอทีมาใช้งานให้มากกว่านี้ เพื่อความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก

เพิ่มเติม: หน้าของประเทศไทยบน Connectivity Scorecard, เอกสารเฉพาะข้อมูลของประเทศไทย (PDF)

Blognone Jobs Premium