แบงค์ชาติประกาศ 5 แนวทางเพื่อให้การจ่ายเงินช่องทางดิจิทัลเป็นช่องทางหลัก

by sunnywalker
15 February 2019 - 05:44

ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับ 4 ช่วงปี 2562 - 2564 มุ่งสู่ Digital Payment เต็มตัว ให้กลายเป็นช่องทางหลักสำหรับการจ่ายเงินในอนาคต โดย น.ส.สิริธิดา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ระบุหลักการ 5 ข้อ ที่แบงก์ชาติจะนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ฉบับที่ 4 ที่จะนำมาใช้ในช่วงปี 2562 - 2564 ดังนี้

  • Interoperable Infrastructure พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินให้ได้มาตรฐานยกระดับการใช้ ISO20022 รองรับการส่งข้อมูลทางธุรกิจและการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ, ยกระดับการบริหารความเสี่ยงของระบบพร้อมเพย์, ออกมาตรฐาน e-KYC เพื่อรองรับนวัตกรรมการชำระเงินในอนาคต
  • Innovation ส่งเสริมนวัตกรรมการเงินที่หลากหลาย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อพัฒนา digital payment และต่อยอดพร้อมเพย์ต่อไป, พัฒนาบริการโอนและชำระเงินต่างประเทศที่สะดวก และมีต้นทุนต่ำ, ส่งเสริมการแฃ่งขันของผู้ให้บริการการเงิน สามารถพัฒนานวัตกรรมการเงินของตัวเองได้ใน own sandbox, ส่งเสริมดิจิทัลครบวงจรผ่านโครงการนำร่องของภาครัฐ
  • Inclusion ส่งเสริมการใช้ Digital Payment ในภาครัฐเพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง
  • Immunity การกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้นกันพร้อมรับมือภัยไซเบอร์
  • Information เชื่อมโยงข้อมูลการชำระเงินอย่างบูรณาการและพัฒนาการวิเคราะห์เชิงลึก

แบงก์ชาติให้ความสำคัญในการผลักดัน ISO20022 เนื่องจาก มีโครงสร้างข้อมูลการทำ Payment ที่ครบถ้วน แก้ปัหาการออกแบบไม่สอดคล้องกัน ช่วยให้โครงสร้างข้อมูลเชื่อมโยงกับภูมิภาคได้มากขึ้น หน่วยงานกำกับดูแลยังสามารถนำข้อมูล Payment ทีได้ไปวิเคราะห์เศรษฐกิจ ความเสี่ยง ความผันผวนต่างๆ ได้

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อัพเดตสถิติ Digital Payment ที่ผ่านมาว่ามีปริมาณการใช้ถึง 5,868 ล้านรายการต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 83% จากปี 2559

โดยปี 2561 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 89 ครั้ง/คน/ปี ส่วนปี 2559 อยู่ที่ 48 ครั้ง/คน/ปี

ส่วนการใช้พร้อมเพย์มีการลงทะเบียนรวม 46.5 ล้านเลขหมาย มีกิจกรรมทางการเงินเฉลี่ย 4.5 ล้านรายการต่อวัน มูลค่าเฉลี่ย 5,000 บาทต่อรายการ ในปี 2561 เติบโตเฉลี่ย 20% ต่อเดือน

การใช้ Mobile Payment มีจำนวน 47 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 21 ล้านบัญชีในปี 2559 และ Internet Banking มีจานวน 27.8 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 14.6 ล้านบัญชี ในปี 2559

ด้านการใช้บัตรเดบิตและเครดิตทาง Online มีจำนวนการทำรายการเพิ่มขึ้น 155%

Blognone Jobs Premium