จุดต่างสำคัญของ Galaxy S10 และ S10+ นอกจากขนาดหน้าจอ ก็คือเรื่องของ "กล้องหน้า" ที่เพิ่มจากเป็น 2 กล้อง (กล้องหลังเป็น 3 กล้องเท่ากัน) แต่ในเวทีงานแถลงข่าวของซัมซุงกลับไม่ได้เน้นเรื่องนี้มากนัก
กล้องตัวที่สองของ Galaxy S10+ คือกล้อง RGB Depth Camera ความละเอียด 8MP ซึ่งมันก็คือกล้องสำหรับ "วัดระยะลึก" ทำให้ Galaxy S10+ มีความสามารถเทียบได้กับกล้องหน้า TrueDepth ของฝั่ง iPhone X/XS/XR หรือกล้อง IR camera ของ Windows Hello
ด้วยเหตุนี้ทำให้ Galaxy S10+ (เฉพาะรุ่น Plus) สามารถปลดล็อคด้วยใบหน้า (Facial Unlock) ได้ในทุกสภาพแสง ต่างไปจากมือถือตัวอื่นๆ ของซัมซุงที่แล้วๆ มานั่นเองครับ
Galaxy S10+ ไม่ใช่มือถือรุ่นแรกที่มีกล้องหน้า 2 ตัว แต่มือถือรุ่นก่อนหน้านี้ที่ให้กล้องหน้ามา 2 ตัว เน้นไปที่การถ่ายเซลฟี่เป็นหลัก เช่น Pixel 3 ที่ให้กล้องหน้ามุมกว้างมาด้วย เพื่อให้ถ่ายเซลฟี่หมู่ได้ง่ายขึ้น
แต่การที่กล้องหน้าของ Galaxy S10+ เป็นกล้อง RGB Depth Camera ทำให้มันได้ประโยชน์ด้านการปลดล็อคด้วยใบหน้า เพิ่มเข้ามาจากประโยชน์ด้านการถ่ายเซลฟี่ด้วย
การปลดล็อคด้วยใบหน้าได้ในทุกสภาพแสง ไม่ว่าจะมืดแค่ไหนก็ตาม ทำให้กระบวนการปลดล็อคเครื่องของ S10+ ในภาพรวมลื่นไหลขึ้นมาก เทียบชั้นได้กับ iPhone X/XS/XR และโน้ตบุ๊กที่มีกล้อง IR สำหรับ Windows Hello
เมื่อบวกกับตัวสแกนลายนิ้วมือที่กลับมาอยู่บนหน้าจอด้านหน้า ปิดจุดอ่อนของตัวสแกนลายนิ้วมือที่อยู่หลังเครื่องไปทั้งหมด การกลับมาใช้นิ้วโป้งสแกนได้เป็นท่าที่เป็นธรรมชาติกว่ามาก
จุดนี้ทำให้ Galaxy S10+ กลายเป็นมือถือที่ครบเครื่องที่สุดในแง่ของการปลดล็อคด้วย biometric ในท้องตลาด แน่นอนว่า Galaxy S10+ ไม่ใช่มือถือตัวแรกที่ปลดล็อคใบหน้าได้ในที่มืด (iPhone ทำมาก่อน) หรือมีตัวสแกนนิ้วใต้จอ (มือถือจีนทำกันเกือบทุกยี่ห้อแล้ว) แต่กลับเป็นมือถือตัวแรกที่ใส่มาทั้งสองอย่าง
จากการใช้งาน Galaxy S10+ เป็นมือถือเครื่องหลักมานาน 2 วัน ผมพบว่าการปลดล็อคด้วยใบหน้าในทุกสภาพแสง ถือเป็น killer feature อย่างหนึ่งที่ยังไม่มีใครพูดถึงสักเท่าไร แถมในสถานการณ์ที่เราปลดล็อคด้วยใบหน้าลำบาก เช่น วางมือถือราบบนโต๊ะ ก็ไม่จำเป็นต้องเอื้อมไปยกมือถือขึ้นมาชูขึ้นให้ตรงกับใบหน้า เพราะสามารถเอานิ้วโป้งหรือนิ้วชี้ไปแตะตรงเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือได้แทน
ก่อนหน้านี้ ถ้าหากให้ต้องเลือกระหว่าง Galaxy S10 กับ S10+ ผมคงเลือก S10 เพราะราคาประหยัดกว่ามาก แต่พอมาเจอฟีเจอร์นี้เข้าไป ก็เริ่มหวั่นไหวเลยครับ ถ้าใครกำลังลังเลระหว่าง S10 กับ S10+ ปัจจัยนี้ควรเอามาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ว่าจ่ายแพงขึ้นอีกหน่อยจะคุ้มค่าแค่ไหนในระยะยาว
แต่แน่นอนว่าคงไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อมไปซะทั้งหมด การที่ Galaxy S10+ มีกล้องหน้า 2 ตัว ย่อมส่งผลให้ "รู" ที่เจาะหน้าจอใหญ่ขึ้นกว่า Galaxy S10e/S10 อีกพอสมควรเช่นกัน ในแง่ความสวยงามย่อมมีผลแน่นอน (ใครที่ไม่ชอบติ่งก็คงไม่ชอบรูตามไปด้วย)
ซัมซุงเองทราบเรื่องนี้ดี และพยายาม "พราง" รูโหว่ขนาดใหญ่นี้ทุกวิถีทาง ตัวอย่างในภาพข้างบนเป็นภาพพื้นหลัง default ของ Galaxy S10+ ซึ่งจะเห็นว่าที่มุมบนขวาไล่เฉดสีเป็นสีเข้ม เพื่อให้รูตรงนี้มองไม่เห็นชัดเจนนักเวลาที่เราไม่เปิดแอพนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การพรางด้วยภาพพื้นหลังคงใช้ไม่ได้ทุกกรณี และจากภาพข้างบนสุดของบทความ ในกรณีที่แอพพื้นหลังเป็นสีขาว เช่น แอพของกูเกิล หรือแอพมาตรฐานของเครื่องอย่างนาฬิกา เราย่อมเห็นสีที่ตัดกันอย่างชัดเจนของรูกล้องกับพื้นหลัง
จากที่ใช้งาน Galaxy S10+ มาสักพักใหญ่ๆ จนเริ่มคุ้นชินกับรูกล้องเหล่านี้ สายตาของเราจะเริ่มมองข้ามมันเองโดยธรรมชาติ (ลักษณะเดียวกับติ่ง แค่ว่าย้ายที่จากตรงกลางมาอยู่ด้านขวา) ในการใช้งานทั่วๆ ไปก็พอจะยอมรับมันได้ไม่ยากนัก
แต่อันที่ผมขัดใจจริงๆ คือระยะจากขอบบนของหน้าจอลงมาจนถึงรูกล้องที่ค่อนข้างยาวกว่าปกติ (ยาวกว่ากล้องแบบติ่งแน่นอน) ส่งผลให้แถบ status bar ของ Android หนาขึ้นด้วย เพราะต้องยืด status bar ให้ลงมาเท่ากับขอบล่างของรูกล้อง
จากภาพข้างบนจะเห็นได้ชัดเจนว่าแถบ status bar (สีน้ำเงินเข้ม) มีขนาดสูงกว่าปกติมาก และช่องว่างระหว่างขอบบนของหน้าจอ กับขอบบนของรูกล้อง ก็เว้นไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร
ระยะของ status bar ที่ยืดขึ้นจากเดิมอีกหน่อยอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับการใช้งานแม้แต่น้อย (เพราะจอของ S10+ ใหญ่มากอยู่แล้ว) แต่ก็นั่นล่ะครับ มันขัดใจ!