หลังจาก Arm เปิดตัวซีพียูชุดใหม่สำหรับบริการคลาวด์ ก็มีการพูดคุยกันในเว็บบอร์ด real world technologies ถึงความตื่นเต้นถึงการที่จะมีตัวเลือกใหม่ๆ เข้ามาในบริการคลาวด์ แต่ระหว่างการพูดคุยไลนัส ผู้ดูแลโครงการเคอร์เนลลินุกซ์ก็ถูกพาดพิงว่าเชื่อในการพัฒนาแบบ native ที่ต้องพัฒนาบนสถาปัตยกรรมเดียวกับเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้รันแอปพลิเคชั่นมากเกินไป
ไลนัสเข้ามาตอบความเห็นนี้ โดยยืนยันว่าหากนักพัฒนายังไม่สามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มเดียวกันกับบนคลาวด์ได้ แพลตฟอร์มอื่นก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ
เขายกตัวอย่างความสำเร็จของ x86 ที่สุดท้ายสามารถครองตลาดเซิร์ฟเวอร์ได้แทบเบ็ดเสร็จ เป็นเพราะบริษัทจำนวนมากใช้พีซีบ้านๆ รันงานบางอย่างอยู่ในบริษัทเรื่อยมา และเมื่องานเหล่านั้นสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องการเซิร์ฟเวอร์ x86 พัฒนาการเช่นนี้ทำให้สุดท้ายแล้วผู้ให้บริการคลาวด์ต้องรองรับ x86 เป็นหลัก พีซีครองโลก และซีพียูสายอื่นๆ ตายไปทั้งหมด
เขาชี้ว่าแม้ Arm จะพยายามขายโมเดล hyperscaling ที่รองรับคอร์ได้มากถึง 128 คอร์ แต่ก็ไม่มีประโยชน์เพราะนักพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ราคาถูกๆ ที่ใช้สถาปัตยกรรมเดียวกันได้ และความเชื่อว่า Arm จะถูกกว่าก็ไม่มีทางเป็นจริงหากไม่สามารถขายได้ปริมาณระดับเดียวกับอินเทลทุกวันนี้
เขาแย้งนักพํฒนาที่เชื่อว่าเราสามารถพัฒนา cross-platform แบบอุปกรณ์เคลื่อนที่ทุกวันนี้ ว่าที่ทุกวันนี้นักพัฒนาทนกับการพัฒนา cross-platform เพราะแพลตฟอร์มเหล่านั้นอ่อนด้อยเกินกว่าจะพัฒนาจริงจังบนตัวแพลตฟอร์มเองได้โดยตรง แต่กับเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ที่ปกตินักพัฒนาสามารถพัฒนาบนเครื่องของตัวเองได้แล้ว แรงกดดันว่าทำไมจึงต้องทำ cross-platform จะหนักขึ้น
ที่มา - real world technologies