ย้อนไปในปี 2014 ที่ พรรค BJP (Bharatiya Janata Party) ได้เป็นรัฐบาล ประเทศอินเดียมีนโยบายเปิดกว้างกับบริษัทเทคโนโลยีอย่างมาก พยายามดึงดูดต่างชาติให้มาลงทุนเต็มที่ นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ก็เคยไปเยือนและพบผู้บริหารแทบจะทุกบริษัทในซิลิคอนวัลเล่ย์ Jeff Bezos ซีอีโอ Amazon เองยังเคยบอกว่าอินเดียเป็นตลาดที่ดีที่จะมาทำธุรกิจด้วย
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ปี 2019 ที่กำลังก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป เรียกได้ว่าอินเดียมีนโยบายต่อบริษัทต่างชาติเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ปี 2019 กฎหมายห้ามอีคอมเมิร์ซขายสินค้าที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียมีผลบังคับใช้ กระทบ Amazon และ Flipkart เต็มๆ ต้องนำสินค้าออกนับแสนรายการ โดยจุดประสงค์ของกฎหมายนี้คือป้องกันการผูกขาดโดยบริษัทใหญ่ และยังมีการออกคำสั่งด้านกฎระเบียบที่กำหนดให้บริษัท payment สหรัฐฯจัดเก็บข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้ชาวอินเดียไว้ในประเทศ ซึ่ง MasterCard และ Visa และบริษัทล็อบบี้ยิสต์ตัวแทนของ Google และ Facebook ก็พากันคัดค้านคำสั่งแต่ก็ไม่เป็นผล
และในเร็วๆ นี้ อินเดียยังออกกฎใหม่ให้ ตัวกลางของบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้งานเกิน 5 ล้านคน ต้องตั้งสำนักงานท้องถิ่น และหัวหน้าทำหน้าที่ดูแลในประเทศ กรณีเกิดปัญหา เช่น การคุกคามออนไลน์ ความเกลียดชัง เนื้อหาที่เป็นอันตราย
บริษัทล็อบบี้ยิสต์ตัวแทนบริษัทอื่นๆ ในสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า บรรยากาศการต้อนรับอันอบอุ่นของอินเดียนั้นหายไป มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่เปิดโอกาสให้หารือต่อรองหรือขยายระยะเวลาเลย
Aruna Sundararajan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคมของอินเดียกล่าวกับกลุ่มสตาร์ทอัพอินเดียว่ารัฐบาลกำลังทำงานเพื่อกำหนดนโยบายใหม่เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของบริษัทอินเดีย และยังไม่มีการให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่านโยบายดังกล่าวจะทำอย่างไร
ภาพจาก Wikipedia
Mukesh Ambani ชายที่รวยที่สุดในอินเดียและเป็นเจ้าของ Reliance Industries และยังเป็นพันธมิตรของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi เคยกล่าวกับบรรดาพ่อค้าว่า อินเดียต้องลุกขึ้นมาต่อต้านการล่าอาณานิคมของข้อมูล ซึ่งคล้ายกับการเคลื่อนไหวของมหาตมะคานธี ต้องทำให้ความมั่งคั่งของอินเดียกลับคืนสู่อินเดีย
สำหรับบริษัทต่างชาติ อินเดียอาจเป็นฐานลูกค้าใหญ่ แต่ในแง่รายได้ไม่ได้มากขนาดนั้น ในปี 2018 Google สร้างรายได้ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในอินเดียในปีที่แล้วสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2018 เทียบกับตัวเลขรายได้ทั่วโลก 110.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก Paper.vc บริษัทวิจัยในอินเดีย) ส่วน Facebook สร้างรายได้ได้ 78 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับรายได้ทั่วโลก 39.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน Amazon ในอินเดียที่มีการลงทุน 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีรายได้ในอินเดัยอยู่ที่ 754.2 ล้านเหรียญสหรัฐเทียบกับรายได้ทั่วโลก 177 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Prasanto K Roy นักวิเคราะห์เทคโนโลยีและนโยบาย เตือนว่า การเดินหน้านโยบายเช่นนี้ของอินเดีย จะเป็นผลเสียแก่บริษัทอินเดียเอง เพราะบริษัทต่างชาติก็จะเลี่ยงไม่ลงทุนในบริษัทอื่นด้วย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพตั้งใหม่ที่มักได้เงินลงทุนจากบริษัทลงทุนต่างชาติมากกว่าจะเป็นบริษัทในอินเดีย
ที่มา - Venture Beat