ตีแผ่ชีวิตคนคัดกรองเนื้อหา Facebook : รายได้น้อย, ระบายกับใครไม่ได้, ใช้กัญชา และเซ็กส์แก้เครียด

by sunnywalker
27 February 2019 - 16:16

ปัจจุบัน Facebook มีคนช่วยคัดกรองเนื้อหาราว 30,000 คน (ตามที่ Facebook ระบุไว้) และหลายคนคงพอจะเดาออกว่าคนที่คัดกรองเนื้อหาต้องดูเนื้อหา รูปภาพ คลิปที่อาจมีความรุนแรงมาก เพื่อจะระบุได้ว่าเนื้อหานี้ผิดกฎแพลตฟอร์ม ควรเอาออก ซึ่งถือเป็นงานที่หนัก และส่งผลต่อสภาพจิตใจ

The Verge ได้สัมภาษณ์คนทำงานคัดกรองเนื้อหาหลายคน โดยพวกเขาก็เซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลกับบริษัท Cognizant ที่มี Facebook เป็นลูกค้าอีกที ทำให้สังคมภายนอกไม่รู้ว่าประสบการณ์การทำงานแบบนี้ต้องเจออะไรบ้าง พวกเขามักจะโดนกดดันให้ห้ามเล่าเรื่องที่ทำงานให้คนอื่นฟัง แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่ได้ ชื่อบุคคลในเนื้อหาจึงเป็นชื่อสมมติทุกคน

รายงานของ The Verge ได้ตีแผ่ชีวิตคนคัดกรองเนื้อหาให้ Facebook ในสหรัฐฯ ว่าวันๆ พวกเขาต้องเจอกับเนื้อหาแย่ๆ ทำให้พวกเขาหาทางออกด้วยการใช้กัญชาบ้าง มีเซ็กส์กันบ้างตามสถานที่หลบมุมในสำนักงาน หรือแม้กระทั่งห้องให้นมเด็กเพื่อคลายเครียดจากจุดนั้น โดยพวกเขามักจะมีอาการเคลิบเคลิ้มจากกัญชาตลอดเวลาที่ทำงาน พนักงานที่ไม่ได้ทำงานนี้ต่อ ยังต้องเจอกับภาวะกระทบกระเทือนจิตใจไปอีกระยะใหญ่ด้วย


ภาพจาก Shutterstock

ค่าจ้างที่บุคคลเหล่านี้ได้ยังน้อยกว่าพนักงานใน Facebook มาก ผู้ดูแลเนื้อหาที่ทำงานให้กับ Cognizant ในรัฐแอริโซนาจะได้รับเพียง 28,800 ดอลลาร์ต่อปี เทียบกับพนักงาน Facebook ที่ได้ 240,000 ดอลลาร์ต่อปี (เงินเดือน,โบนัสและตัวเลือกหุ้น) ในขณะที่ Facebook มีกำไร 6.9 พันล้านดอลลาร์

บรรยากาศการทำงานของคนคัดกรองก็ไม่มีอิสระ เวลาพักน้อย และถูกจับตามองตลอดเวลาเพราะเป็นตำแหน่งที่เห็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเยอะ เป็นชีวิตคนละโลกกับพนักงานที่ทำงานที่สำนักงานใหญ่ Facebook โดยสิ้นเชิง

Miguel หนึ่งในคนคัดกรองเล่าว่า เขาได้รับอนุญาตให้หยุดพัก 15 นาทีสองครั้งและทานอาหารกลางวัน 30 นาที พักแต่ละที่ก็เจอคิวห้องน้ำยาวเหยียด พนักงานทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้เอามือถือติดตัว ทุกคนต้องเก็บไว้ในล็อกเกอร์ โดยแต่ละคนมีเวลาให้พักเบรกถ้ารู้สึกว่าเนื้อหามันหนักเกินจะรับไหวประมาณ 9 นาที คนที่เป็นมุสลิมบางคนไม่สามารถทำละหมาดได้ด้วยซ้ำ

ในการคัดกรองเนื้อหา Facebook มีมาตรฐาน "ความแม่นยำ" หรือความเข้าใจตรงกันระหว่างคนคัดกรอง กับพนักงานเต็มเวลาของ Facebook เช่น คนคัดกรองระบุว่าเนื้อหา A ควรลบ พนักงานเต็มเวลาก็เห็นด้วยว่าควรลบ โดย Facebook คาดหวังว่าจะมีความเข้าใจตรงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย 95% แต่ความเป็นจริงแล้วมันน้อยกว่านั้น ยังมีเนื้อหาหลายตัวที่ยังถกเถียงว่า ควรลบหรือไม่

Miguel เล่าว่า บางคำพูด เช่น “Autistic people should be sterilized” หรือที่แปลตรงตัวว่า คนออทิสติกควรถูกทำหมัน ถือเป็นคำพูดที่หยาบคาย แต่ Facebook บอกคำพูดนี้ไม่ผิดกฎ แต่ถ้าเปลี่ยนคำว่าคนออทิสติกเป็นคำอื่นที่ระบุเพศเชื้อชาติชัดเจน คำพูดนี้จะผิดกฎ ซึ่ง Miguel มองว่า มันไม่ถูกต้องเสียเลย

อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์หลายคนในรายงาน มีจำนวนไม่น้อยที่ภาคภูมิใจในงานที่ทำ Li หนึ่งในอดีตคนคัดกรองเนื้อหาบอกว่าถ้าพวกเขาไม่ทำหน้าที่นี้ Facebook ก็จะกลายเป็นสิ่งที่อัปลักษณ์กว่านี้ เพราะพวกเขาได้เห็นด้านนั้นมาแล้วตอนที่ทำหน้าที่เป็นผู้คัดกรอง และพวกเขาก็หวังว่า Facebook จะปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นพนักงาน เป็นเพื่อนร่วมงานเหมือนๆ กัน

ที่มา - The Verge

Blognone Jobs Premium