จากข่าว ธนาธรทวีตโชว์รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทย วันนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข้อมูลเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้
รายงานฉบับนี้เป็นการว่าจ้างบริษัท Transpod จากประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop ตามแนวคิดของ Elon Musk เช่นเดียวกับ Hyperloop One และ Hyperloop Transportation Technologies) ให้เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของ Hyperloop ในประเทศไทย โดยเริ่มศึกษาในเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ-ภูเก็ต เริ่มศึกษาในเดือนตุลาคม 2018 และใช้เวลาประมาณ 5 เดือน
นายธนาธรระบุว่า ตอนแรกตั้งใจจะเผยแพร่รายงานศึกษาฉบับเต็มกับสาธารณะ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ตอนนี้ยังติดประเด็นเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง จึงยังไม่เปิดเผยรายงานจนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จ คือจะเปิดรายงานในวันที่ 1 เมษายน 2562 ส่วนค่าจ้างศึกษานั้นยังไม่ขอเปิดเผย เพราะเป็นการจ้างศึกษาโดยส่วนตัวของนายธนาธรเอง
นายธนาธรบอกว่าแผนการเรื่อง Hyperloop เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ในการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่เป็นแค่รับจ้างการผลิตให้กับแบรนด์จากต่างประเทศ สร้างรายได้ให้คนในประเทศไม่เยอะนัก ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ยุทธศาสตร์เดินตามต่างประเทศ (path-following) แต่ตอนนี้ได้เวลาแล้วที่จะกระโดดข้ามอุตสาหกรรมเดิม (path-skipping) หรือสร้างทางเดินใหม่ของตัวเอง (path-creating) ดังที่ประเทศอย่างไต้หวันหรือเกาหลีใต้ทำสำเร็จมาแล้ว ซึ่งในมุมมองของเขา เทคโนโลยี Hyperloop เป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย
ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายคมนาคม บอกว่า Hyperloop ถือเป็นรูปแบบการเดินทางแบบที่ 5 (นอกเหนือจากการขนส่งทางถนน ราง น้ำ อากาศ)
รายละเอียดทางเทคนิคของ Hyperloop คือใช้ท่อขนาด 4 เมตร วางอยู่เหนือดินโดยใช้เสาเป็นโครงสร้าง ใช้พื้นที่น้อยกว่าการขนส่งทางรางประเภทอื่น ส่วนตัวยานพาหนะหรือ pod ที่วิ่งในท่อ มีความปลอดภัยระดับเดียวกับเครื่องบิน ขนส่งได้ในทุกสภาพอากาศเพราะอยู่ในท่อระบบปิด และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ
นอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว Hyperloop ยังสามารถใช้ขนส่งสินค้า (freight) ได้ด้วย เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของการขนส่งทางเครื่องบินได้อีกทางหนึ่ง
ในแง่ของความเร็ว Hyperloop สามารถทำความเร็วได้สูงสุดประมาณ 1,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบันทดลองที่ประมาณ 387 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งถือว่าเยอะกว่ารถไฟความเร็วสูง ที่มีความเร็วประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเข้าไปแข่งขันกับเครื่องบินได้ด้วย
ในแง่ของการใช้พลังงาน Hyperloop ใช้พลังงานต่ำกว่าการขนส่งประเภทอื่น คือ 0.15 เมกะจูลล์ต่อผู้โดยสารหนึ่งคนต่อกิโลเมตร
หากเปรียบเทียบ Hyperloop กับรถไฟความเร็วสูง โดยเทียบเส้นทางระหว่างกรุงเทพ-เชียงใหม่ ประมาณ 600 กิโลเมตร รถไฟความเร็วสูงใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ Hyperloop สามารถทำได้ภายใน 52 นาที อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ pod ของ Hyperloop มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นจึงสามารถปล่อยได้ถี่กว่ารถไฟความเร็วสูงมาก อยู่ในระดับการปล่อย 42 pod ต่อชั่วโมง คิดเป็นปริมาณผู้โดยสาร 4,000 คน/ชั่วโมง ในขณะที่รถไฟความเร็วสูงอาจทำได้มากที่่สุดแค่ประมาณ 3 ขบวนต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นปริมาณผู้โดยสาร 2,750 คน/ชั่วโมง
ส่วนประเด็นเรื่องเส้นทางวิ่ง จะแตกต่างจากเส้นทางวิ่งของรถไฟอยู่พอสมควร เพราะเส้นทางของ Hyperloop จะไม่มีความคดเคี้ยวเท่ากับทางรถไฟ และโครงสร้างของตัวเสาจะต่างกับเส้นทางรถไฟ เพราะตัว pod มีน้ำหนักเบากว่าขบวนรถไฟมาก และไม่จำเป็นต้องไปสร้างกำแพงกั้นแนวแบบเดียวกับทางรถไฟ ทำให้ตัวเลขความยาวของเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ของ Hyperloop สั้นกว่าเส้นทางรถไฟเดิม
ในแง่ของต้นทุนการก่อสร้าง ค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากการประเมินของ JICA อยู่ที่ 727 ล้านบาท/กิโลเมตร ส่วน Hyperloop คือ 598 ล้านบาท/กิโลเมตร ราคาค่าโดยสารใกล้เคียงกัน (1090 บาท vs 1012 บาท) ส่วนผลตอบแทนด้านการเงินเป็นการประเมินคร่าวๆ ในรายงานขั้นต้น และจะไปศึกษาต่ออย่างละเอียดในขั้นถัดไป
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงมีการพัฒนามานานแล้ว มีประเทศที่เป็นเจ้าตลาดอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น จีน ทำให้ไทยมีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีเองน้อย ชิ้นส่วนต้องนำเข้าเป็นหลัก ในขณะที่ Hyperloop เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังมีโอกาสด้านการศึกษาวิจัยอีกมาก รวมถึงมีโอกาสผลิตชิ้นส่วนในประเทศเอง สร้างห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) อื่นๆ ตามมาอีกมาก
นายธนาธร บอกว่าตอนนี้หลายประเทศกำลังเริ่มศึกษา Hyperloop กัน ซึ่งประเทศไทยก็ควรจะเริ่มศึกษาด้วยเช่นกัน หากพรรคอนาคตใหม่ได้เป็นรัฐบาล จะจำลองท่อขนส่งความยาว 10 กิโลเมตร ทำห้องทดสอบความดัน และห้องทดสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์-อาณัติสัญญาณต่างๆ และน่าจะมีรถต้นแบบเสร็จในปี 2021 เพื่อใช้ทดสอบในท่อความยาว 10 กิโลเมตร และตั้งเป้าเปิดใช้งานจริงในปี 2030
นายธนาธรบอกว่าหากตั้งเป้าเปิดบริการจริงในปี 2030 ก็ต้องเริ่มกระบวนการต่างๆ เริ่มดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมทุนในแบบ PPP ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งในแง่เทคโนโลยี แง่กฎหมาย เช่น ใบอนุญาต
แนวทางของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งเป้าให้ศูนย์กลางของอุตสาหกรรม Hyperloop อยู่ที่พิษณุโลก เพราะเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในอินโดจีนอยู่แล้ว และช่วยขยายความเจริญออกจากเขตอุตสาหกรรมเดิมคือบริเวณภาคตะวันออกด้วย
นโยบายคมนาคมของพรรคอนาคตใหม่ มองว่าควรให้ความสำคัญกับรถไฟรางคู่เป็นอันดับแรก แต่ให้ข้ามรถไฟความเร็วสูงไปเลย แล้วมุ่งไปสู่ Hyperloop แทน โดยจะลงทุนสร้างมันเมื่อเทคโนโลยีพร้อม เมื่อเร็วกว่าและถูกกว่ารถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ยังต้องการสร้างอุตสาหกรรมผลิตรถไฟ-รถเมล์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง และเป็นการจ้างงานในประเทศด้วย