กูเกิลประกาศจับมือกับบริษัทฐานข้อมูลสายโอเพนซอร์ส 7 ราย นำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สชื่อดังมารันบน Google Cloud Platform (GCP) แบบ fully managed
บริษัททั้ง 7 รายได้แก่
GCP จะนำซอฟต์แวร์เหล่านี้มาให้บริการแบบ fully managed (ดูแลระบบ-ปรับแต่งประสิทธิภาพให้) และคิดเงินรวมไปกับบิลปกติของ GCP, มีบริการซัพพอร์ตเป็นระบบเดียวกับของ GCP และสร้างอินเทอร์เฟซตัวเดียวในการจัดการแอพทุกตัวผ่าน GCP
ซอฟต์แวร์เหล่านี้ยังจะเชื่อมต่อกับบริการอื่นๆ ของ GCP อย่างแนบแน่นมากขึ้นในอนาคต เช่น Stackdriver สำหรับมอนิเตอร์ หรือ Cloud Identity & Access Management (Cloud IAM) สำหรับจัดการตัวตนของผู้ใช้งาน
ท่าทีของกูเกิลแตกต่างไปจาก Amazon ที่นำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมาพัฒนาเป็นดิสโทรของตัวเอง (ตัวอย่างล่าสุดคือ Elasticsearch) และให้บริการบน AWS ทำให้ลูกค้าคลาวด์ไม่จำเป็นต้องไปซื้อบริการลักษณะเดียวกันจากบริษัท Elastic ทำให้บริษัทเหล่านี้ต่อต้านแนวทางของ AWS ไม่น้อย
Thomas Kurian ซีอีโอคนใหม่ของ Google Cloud ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ GeekWire ในประเด็นนี้ว่า การดึงฐานข้อมูลชื่อดังเหล่านี้มาให้บริการบน GCP ย่อมทำให้นักพัฒนาพึงพอใจ ก่อนหน้านี้ ลูกค้าของกูเกิลบอกว่าต้องการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สบน GCP แต่ติดขัดว่าไม่อยากดูแลระบบเอง, อยากได้บริการซัพพอร์ตจาก GCP โดยตรง และต้องการใช้เครดิตของ GCP จ่ายค่าบริการซอฟต์แวร์เหล่านี้ได้ด้วย ซึ่งกูเกิลก็จัดให้ทั้งหมดตามที่เรียกร้อง
เขายังเอ่ยถึง "บริการคลาวด์คู่แข่ง" ว่าไม่ค่อยเป็นมิตรกับบริษัทสายโอเพนซอร์สมากนัก หลายครั้งทำบริการมาแข่งกับบริษัทเหล่านี้ แย่งลูกค้าไปด้วย ซึ่งแนวทางของกูเกิลต้องการพาบริษัทเหล่านี้เติบโตไปด้วยกัน ให้นำซอฟต์แวร์มาให้บริการบน GCP เข้าถึงลูกค้าเพิ่มมากขึ้น