พาดูเทคโนโลยีในธุรกิจอาหาร จากงานสัมมนา Articulate Food Robotics ทั้งหุ่นยนต์ทำสลัด - รถกับข้าว - เสิร์ฟอาหาร

by arjin
20 April 2019 - 10:33

ในงานสัมมนา Articulate Food Robotics ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนำเสนอเรื่องราวของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำมาปรับใช้ในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งตอนนี้มีสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาหุ่นยนต์เครื่องจักรสำหรับทำหน้าที่ต่าง ๆ มากขึ้น โดยมีการรวบรวมโครงการที่น่าสนใจดังนี้

Briggo นิยามว่าเป็นหุ่นยนต์บาริสต้า

ถ้าให้คิดถึงหุ่นยนต์ในร้านอาหารแบบที่พอจะเชื่อว่าทดแทนคนได้ ก็คงเป็นหุ่นยนต์สำหรับหน้าที่เตรียมวัตถุดิบ หรือจัดส่งอาหาร Briggo เป็นสตาร์ทอัพที่พัฒนาสิ่งที่เรียกว่าหุ่นยนต์บาริสต้า โดยสามารถเตรียมเครื่องดื่มได้ถึง 100 แก้วต่อชั่วโมง เสิร์ฟลูกค้าพร้อมกันได้สูงสุด 10 คน ในเวลาเดียว

วิธีสั่งกาแฟของ Briggo เป็นการทำผ่านแอป ปรับแต่งเมนู แล้วมารับได้ที่ตู้ของ Briggo ที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายแห่งในเมืองออสติน ส่วนโมเดลที่สามารถต่อยอดได้นั้น Briggo บอกว่าสามารถพัฒนาแคมเปญ Loyalty ได้ง่าย เนื่องจากมีข้อมูลออเดอร์ของลูกค้าอยู่แล้ว

Sally หุ่นยนต์ทำสลัด

บริษัท Chowbotics ได้พัฒนาเครื่องจำหน่ายสลัดผัก โดยเรียกชื่อว่า Sally the Robot ปัจจุบันเครื่อง Sally มีการติดตั้งแล้วกว่า 50 แห่งในอเมริกา

จุดเด่นของ Sally คือการเลือกซื้อสลัดแบบที่ลูกค้าสามารถปรับแต่งส่วนผสมได้ผ่านหน้าจอสัมผัสที่เครื่อง โดยหัวใจสำคัญคือการจัดเก็บผักและส่วนผสมทั้งหมดแบบแช่เย็นเพื่อให้มีความสดใหม่มากที่สุด โดยมีส่วนผสมให้เลือก 22 รายการ ทำเสิร์ฟได้ประมาณ 50-100 จาน จึงค่อยเติมส่วนผสมเพิ่ม รูปแบบของ Sally the Robot ยังสามารถไปประยุกต์กับการขายอาหารรูปแบบอื่นได้อีกด้วย

Kiwibot หุ่นยนต์ส่งอาหาร

ผู้อ่าน Blognone น่าจะคุ้นเคยกับหุ่นยนต์ส่งสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งการนำมาประยุกต์ใช้ส่งอาหารก็มีการพัฒนากันหลายราย สำหรับกรณีที่ยกมานี้เป็นหุ่นยนต์ Kiwibot เคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็ว 4 ไมล์ต่อชั่วโมง (6.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จัดส่งได้ครั้งละหนึ่งออเดอร์

ปัจจุบัน Kiwibot มีการวิ่งทดสอบแล้วในมหาวิทยาลัย UC Berkeley เวลาปลดล็อกนำของออกมาจากหุ่นยนต์ให้ใช้วิธีสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปบนสมาร์ทโฟน จุดขายของ Kiwibot คือการทำหุ่นยนต์ให้มีต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อให้เข้าถึงตลาดในวงกว้างได้

AutoX รถกับข้าวแบบเรียกมาถึงบ้าน

เทคโนโลยีของ AutoX ก็ออกแบบมาเพื่อส่งอาหารเช่นกัน แต่ใช้แนวคิดที่ต่างออกไป คือทำรถยนต์อัตโนมัติให้ขนส่งครั้งนึงได้คราวละเยอะ ๆ โดยสามารถบรรจุถุงสินค้าได้ 20-30 ถุงในคราวเดียว จึงสามารถจัดส่งได้หลายจุดหมายในการออกเดินทางแต่ละครั้ง รวมทั้งสามารถออกถนนใหญ่ได้ ก็คือการประยุกต์รถยนต์ไร้คนขับในเชิงขนส่งสินค้านั่นเอง

วิธีการทำงานของ AutoX เมื่อเราสั่งสินค้า ก็จะมีการปล่อยรถไปยังปลายทางให้เรารับสินค้าที่เราสั่ง นอกจากนี้ตัวรถยนต์เองก็ยังทำตัวเป็นรถกับข้าว นำเสนอสินค้าให้เราหยิบเลือกตามต้องการได้อีกด้วย

หุ่นยนต์ในร้านอาหาร ที่ไม่ได้แย่งงานคน

นอกจากจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ถึงบ้าน หุ่นยนต์ที่เสิร์ฟอาหารในร้านอาหารก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาเยอะ ตัวอย่างที่นำเสนอในงานสัมมนาคือ Bear Robotics ซึ่งสามารถเคลื่อนที่เสิร์ฟอาหารไปยังโต๊ะต่าง ๆ ได้

สิ่งที่น่าสนใจคือหุ่นยนต์จะแย่งงานพนักงานเสิร์ฟที่เป็นคนหรือไม่? ข้อมูลพบว่าร้านอาหารที่ใช้หุ่นยนต์นั้น พนักงานได้ทิปที่มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องทำงานแบกถาดอาหาร ผลักงานนี้ไปให้หุ่นยนต์ แล้วคนก็โฟกัสที่งานบริการลูกค้าได้ดีขึ้น

ที่มา: Digital Trend

Blognone Jobs Premium