ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เอเอ็มดีได้เปิดเผยถึงแผนการครั้งใหญ่ภายในงาน CES 2009 ว่า เอเอ็มดีกำลังสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์พลังเพตาฟลอปภายใต้ชื่อ Fusion Render Cloud (FRC) เพื่อให้บริการพลังประมวลผลสำหรับงานกราฟิกผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปีนี้ โดยมีบริษัท Dell, HP, Electronic Arts, Lucasfilm และอีกหลายบริษัทให้การสนับสนุน ทั้งนี้ เอเอ็มดีกล่าวว่า FRC จะทำให้เกิดการปฏิวัติสื่อความละเอียดสูง (หรือ HD)
IEEE Spectrum ประจำเดือนมีนาคม มีบทความที่เขียนถึง FRC โดยเฉพาะ โดยกล่าวว่า FRC เป็นการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆที่เน้นงานกราฟิกและวิดีโอความละเอียดสูง โดยสิ่งที่สร้างความแตกต่่างไปจากการประมวลผลกราฟิกแบบทั่วๆไปคือ กราฟิกของเกมหรือภาพยนตร์สามารถถูกเรนเดอร์บน FRC เพื่อให้ได้ความละเอียดสูงสุด ก่อนที่จะถูกบีบอัดและส่งไปที่อุปกรณ์ปลายทางเพื่อการแสดงผลต่อไป โดยที่อุปกรณ์ปลายทางไม่จำเป็นต้องมีโปรเซสเซอร์หรือการ์ดจอสมรรถนะสูงเลย ดังนั้น โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ Thin-client ก็สามารถเล่นเกมหรือดูภาพยนตร์ด้วยความละเอียดสูงได้
ในบทความกล่าวถึงเกมที่ประมวลผลบน FRC ว่า ผู้เล่นเกมสามารถเข้าถึงเกมที่ต้องการได้ง่ายมากและสามารถเล่นเกมได้ด้วยความละเอียดสูง (แม้ไม่มีการ์ดจอดีๆก็ตาม) โดยผู้เล่นเพียงใช้เบราว์เซอร์เปิดไปหาเว็บไซต์ที่ให้บริการเกมเพื่อเล่นเกมผ่านเบราว์เซอร์ได้เลย ดังนั้น การพัฒนาเกมจึงไม่ใช่การเจาะจงที่แพลตฟอร์มของโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเกมคอนโซลแต่อย่างใด หากแต่เป็นการพัฒนาเกมให้ทำงานอยู่บนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ FRC และเช่าพลังการประมวลผลพร้อมกับทรัพยากรอื่นๆ (เช่น เครือข่ายและพื้นที่จัดเก็บข้อมูล) บน FRC เพื่อการให้บริการเกมแก่ลูกค้า ในบทความยังกล่าวไว้ว่า เกมที่ประมวลผลบน FRC ยังสามารถป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อีกด้วย
กลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการ FRC คือ ค่ายหนัง ค่ายเกม และผู้ที่ต้องการระบบสำหรับโฮสต์แอพพลิเคชันที่เน้นการประมวลผลกราฟิก โดยเอเอ็มดีได้จับมือกับบริษัท OTOY ให้เป็นผู้จัดเตรียมเครื่องมือสำหรับพัฒนาเกมและซอฟต์แวร์ที่สามารถเข้าถึงขุมพลังของ FRC ทั้งนี้ เอเอ็มดีวางแผนว่า FRC จะติดตั้งโปรเซสเซอร์ Phenom II [ข่าวเก่า], ชิปเซ็ต AMD 790, และโปรเซสเซอร์กราฟิก (GPU) ของ ATI Radeon HD 4870 โดยเอเอ็มดีอ้างว่า FRC จะเป็น "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์กราฟิกที่เร็วที่สุดในโลก" และด้วยจำนวน GPU ที่มีมากกว่าหนึ่งพันหน่วย ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระบบนี้จะสามารถประมวลผลเทรดได้พร้อมๆกันถึงหนึ่งล้านเทรด (หรือประมาณ 800 เทรดพร้อมๆกันต่อ GPU หนึ่งหน่วย) และหากกล่าวในแง่การประหยัดพลังงานแล้ว FRC จะประหยัดพลังงานได้มากกว่า Roadrunner ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แชมป์โลกปัจจุบัน [ข่าวเก่า] โดย Roadrunner กินไฟถึง 2.35 ล้านวัตต์ในการรันระบบ ในขณะที่ FRC จะกินไฟเพียง 150,000 วัตต์ แต่ว่าสามารถประมวลผลในระดับเพตาฟลอปเช่นเดียวกับ Roadrunner
IEEE Spectrum ยังมีอีกบทความหนึ่ง [อ้างอิง] ที่กล่าวว่า แม้นักพัฒนาเกมหลายท่านจะเล็งเห็นประโยชน์จากการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆของ FRC แต่ว่ายังมีบางท่านยังตั้งข้อสงสัยในประเด็นหนึ่ง นั่นคือ ความเร็วของระบบเครือข่ายว่าจะสามารถส่งผลลัพธ์ของวิดีโอที่เรนเดอร์แล้วไปยังผู้เล่นได้ทันตามความเหมาะสมหรือไม่ เพราะผู้เล่นเกมประเภทเรียลไทม์คงไม่ต้องการภาพเกมที่กระตุก ถึงแม้ FRC จะไม่สร้างความกระตุกในการประมวลผลก็ตาม แต่ความกระตุกอาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะขนส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย ทั้งนี้ Julien Merceron หนึ่งในผู้สร้างเกม Tomb Raider กล่าวว่า เครือข่ายที่มีแบนด์วิดท์จำกัดและมีความหน่วงในการขนส่งข้อมูลเป็นข้อจำกัดอย่างมากๆในการสร้างความหลากหลายของเกมที่เหมาะกับ FRC และยังเป็นข้อจำกัดในการส่งภาพที่มีความละเอียดสูงอีกด้วย ซึ่งหากว่าเป็นเกมแนว Turn-based และแนว Puzzle คงไม่มีปัญหากับข้อจำกัดนี้เท่าไหร่นัก
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยว่า ปัญหาเครือข่ายจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสำเร็จให้กับ FRC แต่ผมก็เคยวาดฝันถึงแพลตฟอร์มเกมที่คล้ายๆกับ FRC และคิดไปว่าเมื่อไหร่จะถึงวันที่ผมสามารถเล่นเกมความละเอียดสูงได้โดยไม่ต้องซื้อเครื่องเกมคอนโซลแบบ Next Gen หรือซื้อคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งการ์ดจอขั้นเทพ
ที่มา - IEEE Spectrum และข่าวเก่าจาก The Inquirer