[วิเคราะห์] ทำไม Facebook ต้องกลับลำ 180 องศา เน้นคุยกลุ่มเล็ก-ส่วนตัว เลิกบ้าปั่นไลค์

by mk
4 May 2019 - 10:23

ประกาศสำคัญของ Facebook ในงาน F8 2019 นอกจากการปรับดีไซน์ครั้งใหญ่ เลิกใช้สีน้ำเงิน หันมาใช้สีขาวล้วน ยังมีการประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ของบริษัทที่เน้นความเป็นส่วนตัว ถึงขนาด Mark Zuckerberg ประกาศคำว่า "The Future is Private" ขึ้นบนจอภาพ

เรามาดูกันว่าเพราะเหตุใด Facebook ที่มีชื่อเสียงย่ำแย่มาตลอดในเรื่องความเป็นส่วนตัว จึงกลับลำ 180 องศา หันมาเชิดชูความเป็นส่วนตัวขนาดนี้ และในทางปฏิบัติแล้ว Facebook จะทำอย่างไรบ้าง

ลานกลางเมือง vs ห้องนั่งเล่น

Mark Zuckerberg เริ่มต้นงาน F8 2019 ว่าเขาต้องการสร้าง "privacy-focus social platform" โดยเขา
เปรียบเทียบเรื่องพื้นที่ (space) ว่าโลกเรามีพื้นที่สาธารณะ (public space) เช่น ลานกลางเมืองที่ใครๆ ก็มาใช้งานได้ และพื้นที่ส่วนตัว (private space) อย่างห้องนั่งเล่นในบ้านของแต่ละคน ซึ่งในโลกดิจิทัล เราก็ต้องการพื้นที่ทั้งสองแบบเพื่อใช้งานในบริบทที่ต่างกัน

เขาบอกว่าตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของบริษัท Facebook เน้นการสร้างลานกลางเมืองที่ให้คนจำนวนมากๆ มาพบเจอกัน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป การอยู่ในโลกโซเชียลที่มีคนจำนวนมากๆ อาจทำให้เราสูญเสียตัวตนในโลกส่วนตัวไป เช่น ไม่กล้าพูดหรือแชร์ในสิ่งที่เราทำเฉพาะในกลุ่มเพื่อนหรือคนรู้จักกลุ่มเล็กๆ ผลคือคนหันไปใช้วิธีการสื่อสารผ่านแชท, Stories, หรือการพูดคุยในกลุ่มขนาดเล็กมากขึ้น

นี่จึงเป็นภารกิจใหม่ของเขาในการสร้าง Digital Living Room เพื่อให้คนสื่อสารกันอย่างสะดวกใจมากขึ้น เขาบอกว่าในระยะยาวแล้ว โซเชียลแบบปิดจะสำคัญกว่าโซเชียลแบบเปิดด้วยซ้ำ

หลักการ 6 ข้อเพื่อความเป็นส่วนตัว

Zuckerberg ได้ประกาศหลักการ 6 ข้อสำหรับโซเชียลแห่งอนาคตที่เน้นความเป็นส่วนตัว ได้แก่

  • Private Interactions การสื่อสารกันในกลุ่มปิด
  • Encryption การเข้ารหัสเพื่อไม่ให้ใครก็ตาม (แม้แต่ Facebook เอง) เข้าถึงเนื้อหาที่คุยกันได้
  • Reduced Permanence ลดความ "ถาวร" ของข้อความลง เนื้อหาที่เราโพสต์ในวันนี้ อาจไม่ใช่สิ่งที่เราคิดในอีก 5 ปีข้างหน้า และไม่ควรรู้สึกอับอายกับมันในอนาคต
  • Safety ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
  • Interoperability การทำงานร่วมกันของแต่ละแพลตฟอร์มในเครือของ Facebook เอง
  • Secure Data Storage การเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้ให้ปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐ ตามข่าวนี้

ในอนาคตจากนี้ไป ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Facebook จะพัฒนาขึ้นบนหลักการทั้ง 6 ข้อนี้ บริษัทยังจะเปิดกว้างและปรึกษาภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ให้มากขึ้นด้วย

Messaging, Stories, Groups คือหัวใจสำคัญของ Facebook ยุคใหม่

แกนกลางสำคัญของ Facebook แบบเดิมคือ News Feed (ทั้งบน Facebook และ Instagram) ที่ให้ผู้ใช้โพสต์เนื้อหาแล้วให้เพื่อนๆ ทั้งหมดเข้ามามองเห็นได้ (หรือโพสต์เป็น public ที่เปิดให้ใครก็ได้เข้ามาดูได้)

ส่วนแกนกลางของ Facebook ยุคใหม่คือบริการที่เน้นคุยในกลุ่มเล็กลงจากเดิม ซึ่งแยกได้เป็น 3 ประเภทคือ Messaging, Stories, Groups แต่ละอย่างก็มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด

Messaging

Facebook มีแอพแชทอยู่ 2 ตัวคือ Messenger และ WhatsApp โดยไอเดียของ Zuckerberg บอกว่าต้องการให้ระบบแชทพื้นฐานทำงานได้ดี เร็ว ปลอดภัย

จากนั้นค่อยเพิ่มวิธีการสื่อสารแบบใหม่ๆ ให้คนสื่อสารกันผ่านระบบแชทวงปิดเหล่านี้ เช่น ฟีเจอร์ใหม่ของ Messenger ที่เปิดให้คนมาดูวิดีโอร่วมกัน (เหมือน Facebook Watch แต่เฉพาะเพื่อน) หรือฟีเจอร์แชร์พิกัด-ส่งเงินให้กันบน WhatsApp

Stories

ฟีเจอร์ Stories มีจุดเด่นที่โพสต์แล้วเนื้อหาจะหายไปในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งได้รับความนิยมสูงทั้งบน Facebook และ Instagram ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบเปิด

สิ่งที่ Facebook กำลังทำคือเชื่อมโยงมันเข้ากับระบบสื่อสารแบบปิดคือ Messenger และ WhatsApp ซึ่งจะแสดง Stories เหมือนกัน (บน WhatsApp ใช้ชื่อว่า Status) แต่แสดงเฉพาะจากเพื่อนสนิทของเราเท่านั้น เป็นการสื่อสารอีกแบบหนึ่งนอกเหนือไปจากการแชทคุยกันตรงๆ แต่ช่วยให้เราติดตามได้ว่าเพื่อนของเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่ติดตามว่าดาราหรือคนดังกำลังทำอะไรอยู่แบบ Instagram

Groups

ในขณะที่การแชทเป็นการสื่อสารกันระหว่างครอบครัวหรือเพื่อนสนิท (friends) ยังมีการสื่อสารที่ใหญ่ขึ้นอีกระดับคือ Groups ซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็ก (communities) ของคนที่มีความสนใจร่วมกัน แต่ยังไปไม่ถึงระดับของ public แบบ Facebook ของเดิม

แนวทางของ Facebook จึงเป็นการออกแบบ UI ใหม่หมด และยกระดับความสำคัญของ Groups ให้มากขึ้นกว่าเดิมมาก เพื่อจูงใจให้คนมาใช้งาน Groups มากขึ้นนั่นเอง

Facebook ยังประกาศฟีเจอร์ใหม่ให้ Groups มากมาย ตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มประเภทต่างๆ เช่น กลุ่มคนเล่นเกมเดียวกัน จะได้ฟีเจอร์ห้องแชทย่อยภายในกลุ่มที่คุยเฉพาะประเด็นที่ตัวเองสนใจ (ตัวอย่างคือเทคนิคการเล่นของตัวละครตัวเดียว ไม่ต้องแชทคุยกับคนเล่นตัวละครอื่น แต่ยังอยู่ในกลุ่มเดียวกัน), กลุ่มซื้อขายของจะเพิ่มฟีเจอร์กดจ่ายเงินได้ในตัว หรือฟีเจอร์ประกาศหางานในกลุ่มคนหางาน เป็นต้น

Mark Zuckerberg ประกาศในงานว่าตอนนี้มีผู้ใช้ฟีเจอร์ Groups จำนวนอย่างน้อย 400 ล้านคนแล้ว ถึงแม้จะยังไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้งาน Facebook ทั้งหมด 2 พันล้านคน แต่การดัน Groups แบบสุดตัวก็น่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้ได้อีกมาก

แล้วอนาคตของ News Feed จะเป็นเช่นไร?

ทิศทางของ Facebook ในปี 2019 ที่ประกาศออกมา แสดงให้เห็นชัดว่าบริษัทต้องการกำจัดจุดอ่อน (ที่เคยเป็นจุดแข็งมาตลอด) นั่นคือโมเดลของ News Feed หรืออย่างน้อยก็ลดความสำคัญลง

ที่ผ่านมา โมเดลธุรกิจของ Facebook ยืนอยู่บนแนวคิดที่เน้นปริมาณ ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมให้เรามีเพื่อนเยอะๆ โพสต์เยอะๆ กดไลค์เยอะๆ มีแฟนเพจเยอะๆ เพราะยิ่งคนโพสต์เยอะ อ่านเยอะ ยิ่งอยู่บน Facebook นาน ยิ่งมีโอกาสทำเงินจากโฆษณาเยอะตามไปด้วย

แนวคิดที่เน้นปริมาณอาจใช้การได้ในยุคเริ่มต้นของโซเชียล แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็เห็นผลกระทบด้านลบตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเป็นส่วนตัว ความรุนแรง ความเกลียดชัง ข่าวปลอม และเนื้อหาไม่เหมาะสมต่างๆ ที่อาศัยอัลกอริทึมของ Facebook ที่อิงกับความนิยม จำนวน และ engagement จนสร้างปัญหาให้ Facebook อย่างหนักในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ถึงแม้ Facebook ไม่ได้ประกาศอะไรเกี่ยวกับ News Feed หรือโมเดลการโพสต์แบบเดิม แต่เราก็น่าจะพอคาดเดาได้ว่า Facebook กำลังจะหาโมเดลอื่นมาทดแทน เพื่อการันตีว่าผู้ใช้เหล่านี้จะยังอยู่บนแพลตฟอร์มของ Facebook ต่อไปในอนาคต อย่างน้อยไม่ชอบการโพสต์บนหน้าโพรไฟล์ของตัวเอง ก็ขอให้ใช้ฟีเจอร์แชทหรือสนทนาในกลุ่มปิดก็ยังดี แถมสร้างปัญหาน้อยกว่าด้วย

ปัญหาความเชื่อมั่น ตกลงแล้ว Facebook เคารพความเป็นส่วนตัวจริงหรือ?

Mark Zuckerberg ยอมรับเองบนเวทีว่า Facebook มีชื่อเสียงที่ไม่ดีนักในเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่เขายืนยันจะทำสิ่งนี้ให้ดี นี่จะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท Facebook และมันต้องใช้เวลาอีกพอสมควรถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

และถึงแม้ว่า Zuckerberg ประกาศแนวทางใหม่ของ Facebook บนเวทีงาน F8 แต่ฟีเจอร์ของบริการต่างๆ ก็ยังไม่มีฟีเจอร์ไหนที่เน้นความเป็นส่วนตัวให้เห็นกันสักเท่าไร ในขณะที่ ฟีเจอร์ Clear History ที่สัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2018 ก็ไม่ถูกพูดถึงไปอย่างเนียนๆ ทำเป็นเหมือนลืมกันไปแล้ว และในทางกลับกัน ฟีเจอร์ใหม่ของปีนี้ Secret Crush บอกว่าเราแอบชอบใครอยู่ ก็ยิ่งทำให้ Facebook ถูกวิจารณ์ว่าตั้งใจล้วงข้อมูลส่วนตัวของเราไปมากกว่าเดิมซะอีก

ประกาศของ Mark Zuckerberg ที่ว่า The Future of Private จึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเอง ว่าตกลงแล้วมันคือจุดเปลี่ยนของ Facebook เข้าสู่ยุคใหม่จริงๆ หรือเป็นเพียงคำพูดสวยหรูของผู้นำองค์กร เพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ลง โดยที่ DNA ขององค์กรยังเน้นปริมาณ เน้นจำนวนเยอะๆ และไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานดังเช่นที่เป็นมา

ภาพจาก F8 2018 ที่ไม่มีเอ่ยถึงเลยในงานปี 2019

Blognone Jobs Premium