พนักงานหญิงในโกดัง Amazon ถูกไล่ออก หลังบอกผู้จัดการว่าตั้งครรภ์ ล่าสุดฟ้องบริษัทแล้ว

by sunnywalker
7 May 2019 - 04:17

มีประเด็นใหม่เรื่องแรงงานในโกดัง Amazon เมื่อ Beverly Rosales พนักงานหญิงเที่ทำงานใน Golden State Fulfillment Center เล่าว่าเธอตั้งครรภ์ เริ่มรู้ตัวตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเธอก็แจ้งแก่ผู้จัดการเรื่องการตั้งครรภ์ แต่หลังจากนั้นสองเดือน เธอกลับถูกไล่ออก Rosales ไม่ยอม จึงฟ้อง Amazon ฐานเลือกปฏิบัติ

เว็บไซต์ CNET ได้ทบทวนคดีฟ้องร้องต่อ Amazon ที่ยื่นฟ้องโดยพนักงานคลังสินค้าที่ตั้งครรภ์ซึ่งถูกไล่ออกในช่วงแปดปีที่ผ่านมา พบว่ามี 7 คดี โดยผู้ฟ้องระบุว่า Amazon ล้มเหลวในการตอบสนองต่อการร้องขอของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็น การได้เข้าห้องน้ำในเวลาที่นานขึ้น การไม่ต้องเดินเท้าเยอะๆ

ฝั่ง Amazon ก็โต้ว่าการไล่พนักงานที่ตั้งครรภ์ออกนั้นไม่เป็นความจริง Amazon ให้ความเท่าเทียมแก่ลูกจ้าง บริษัทยังมีสิทธิการลาคลอดให้พนักงานด้วย แต่โฆษกหญิง Amazon ไม่ได้เจาะรายละเอียดเรื่องการฟ้องร้องของ Rosales


ภาพจาก Amazon บน YouTube

จากการดูคดีย้อนหลังของ CNET สิ่งที่ได้รับการกล่าวซ้ำในสำนวนฟ้องคือ การให้เวลาเข้าห้องน้ำจำกัดมากๆ ในขณะที่พนักงานออฟฟิศอาจมีเวลาว่างไปเข้าห้องน้ำบ่อยเท่าที่ต้องการ แต่พนักงานคลังสินค้าของ Amazon มีเวลาเพียงไม่กี่นาทีต่อวัน รายละเอียดจากการฟ้องร้องแตกต่างกันไป แต่เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีต่อวัน จากเวลาทำงาน 10 ชั่วโมง ซึ่ง Rosales บอกว่า ตั้งครรภ์ ไม่ใช่ข้อยกเว้น เธอยังคงถูกดุว่าถ้าเข้าห้องน้ำนาน

ถือเป็นเรื่องวิจารณ์กันมานานว่า การขนส่งที่รวดเร็วภายในวันเดียวและปริมาณการสั่งซื้อสินค้ามหาศาลที่ Amazon ได้รับรวมถึงโปรโมชั่นในเทศกาลต่างๆ นั้น จะส่งผลอย่างไรต่อพนักงานในคลังสินค้า กรณีที่โด่งดังที่สุดคือพนักงานต้องฉี่ในขวดเพื่อจะได้ทำงานต่อได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเดินไปห้องน้ำ และพนักงานหญิงจะโดนว่าหากมีอาการป่วย หรือตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม Amazon เริ่มปรับภาพลักษณ์ ล่าสุดคือเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงเป็น 15 ดอลลาร์ และยังมีกรณีที่ นักการเมืองหญิง AOC วิจารณ์เรื่องแรงงานของบริษัท จนผู้บริหารจะเชิญเธอมาดูให้เห็นกับตาที่โรงงานให้รู้แล้วรู้รอด แต่ก็ยังไม่สามารถลบความคิดที่ว่า Amazon บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดและพนักงาน 60,000 รายนี้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง "แรงงาน"

ที่มา - CNET

Blognone Jobs Premium