ทีมนักวิจัยอังกฤษจาก National Centre for Nuclear Robotices (NCNR) ส่งโดรนสำรวจกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่ป่าแดง (Red forest) โดยรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่เป็นพื้นที่ควบคุมหลังจากอุบัติเหตุทางรังสีซึ่งครบรอบ 33 ปีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
โดรนที่ใช้ในการสำรวจติดตั้งเลเซอร์ (LIDAR) และเครื่องตรวจวัดรังสีแกมมาเพื่อเก็บตำแหน่งและนำภาพที่ได้มาสร้างภาพสามมิติพร้อมกับปริมาณกัมมันตภาพรังสี เริ่มจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำห่างจากจุดที่เกิดอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้า 13 กิโลเมตร สำรวจครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตรจากพื้นที่ควบคุมทั้งหมดกว่า 2,600 ตารางกิโลเมตร ข้อดีของการใช้โดรนทำให้ทีมวิจัยไม่ต้องเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจโดยตรงซึ่งเป็นพื้นที่กว้างและลดความเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสี จากการสำรวจครั้งนี้ทำให้ทีมค้นพบพื้นที่ที่เป็น hot spot ใหม่ที่ไม่ได้ระบุอยู่แผนที่ที่เคยสำรวจมาก่อน
LIDAR เป็นเซ็นเซอร์ที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพราะโครงการรถไร้คนขับหลายโครงการจับข้อมูลรอบตัวด้วยเซ็นเซอร์ประเภทนี้ ตัวเซ็นเซอร์อาศัยการสะท้อนแสงเลเซอร์ทำให้ได้ภาพสามมิติรอบๆ เซ็นเซอร์ที่ความละเอียดสูง เรามักเห็นเซ็นเซอร์ LIDAR ติดตั้งบนหลังคาหรือด้านข้างของรถไร้คนขับเพื่อจับข้อมูลโดยรอบ แต่ในโครงการนี้เป็นการติดเซ็นเซอร์ไว้ด้านล่างของโดรนเพื่อสร้างแผนที่ของพื้นที่เบื้องล่าง
ความพยายามครั้งนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของรัฐบาลยูเครนเพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและวางแผนเปิดใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ในอนาคตเนื่องจากพื้นที่โดยรอบโรงงานไฟฟ้าถูกปิดเป็นเวลานาน ทั้งนี้ทีมวิจัยมีแผนที่จะศึกษาพื้นที่เพิ่มเติมในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า
ที่มา - University of Bristol , BBC