จากข่าว กูเกิลหยุดทำธุรกิจกับ Huawei ตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก และเกิดคำถามตามมามากมายว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต Huawei ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android จะได้รับผลกระทบแค่ไหน
Blognone จึงพยายามตอบคำถามเหล่านี้ ตามข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2019 ประธานาธิบดี Donald Trump ออกคำสั่งทางการบริหาร (Executive Order) ที่มีเนื้อหาระบุว่า ห้ามบริษัทสัญชาติอเมริกันใช้อุปกรณ์สื่อสารของต่างชาติที่ "อาจ" เป็นภัยความมั่นคง (ข่าวเก่า)
ถึงแม้ในคำสั่งของ Trump ไม่มีคำว่า "China" หรือ "Huawei" อยู่ แต่ทุกคนก็ทราบดีว่าหมายถึงบริษัทอุปกรณ์โทรคมนาคมสัญชาติจีน โดยเฉพาะ Huawei ที่โดนทางการสหรัฐเล่นงานต่อเนื่องมาตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
เนื่องจากคำสั่งนี้มีผลทางกฎหมาย (ใช้อำนาจของประธานาธิบดีตาม International Emergency Economic Powers Act) ทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันทุกรายต้องปฏิบัติตาม
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือภายใน 150 วัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะร่างกฏเกณฑ์อย่างละเอียดว่า ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ หากบริษัทอเมริกันอยากทำการค้ากับ Huawei ก็จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน
คำสั่งของประธานาธิบดี Donald Trump จากเว็บไซต์ทำเนียบขาว
เนื่องจากกูเกิลเป็นบริษัทอเมริกัน จึงได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ Trump ตามไปด้วย และสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือระบบปฏิบัติการ Android ที่ Huawei ใช้งานกับสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตของตัวเองอยู่
แต่คำว่า Android นั้นเป็นคำที่มีความหมายกว้างในตัวมันเอง เราจึงต้องพิจารณาว่าคำสั่งนี้หมายถึง Android ตัวไหน? ซึ่งนิยามในปัจจุบันเราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ความหมายกว้างๆ ได้แก่
บริษัทที่ต้องการนำ Android ไปใช้งาน, ต้องการใช้บริการและแอพของกูเกิล และที่สำคัญคือ ต้องการทำตลาดด้วยชื่อ "Android" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของกูเกิล จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากกูเกิลก่อนเสมอ (โดยจ่ายเงินหรือทำสัญญาส่วนแบ่งรายได้ให้กูเกิล ซึ่งถือเป็นการทำธุรกิจกับกูเกิล) ซึ่งก็คือบริษัทที่ขายมือถือ Android ในปัจจุบัน เช่น Samsung, Huawei, Sony, LG, HTC, Oppo, Vivo, Xiaomi เป็นต้น
ส่วนบริษัทที่ต้องการเพียงแค่ระบบปฏิบัติการ Android สามารถดาวน์โหลดซอร์สโค้ดจากเว็บไซต์ AOSP ไปดัดแปลงใช้งานเองได้เลย แต่ไม่สามารถใช้ชื่อ Android ทำตลาดได้
ที่ผ่านมาก็มีบริษัทจำนวนมากทำแบบนี้ เช่น บริษัทมือถือสัญชาติจีนหลายๆ ราย, โครงการรอมโอเพนซอร์ส CyanogenOS (หรือปัจจุบันคือ Lineage OS) รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ที่พัฒนา Android เวอร์ชันของตัวเองชื่อว่า "Fire OS" ที่ไม่มี Google Play Store ติดตั้งมาให้ด้วย เพื่อใช้กับแท็บเล็ตตระกูล Fire ของตัวเอง (สังเกตได้ว่า Amazon จะไม่ใช้คำว่า Android ทำตลาดเลย)
ข้อสังเกตง่ายๆ ของอุปกรณ์ที่ใช้ AOSP คือจะไม่มี Play Store และแอพของกูเกิลติดตั้งมาให้แต่แรก (เพราะผิดกฎหมาย) ซึ่งผู้ใช้สามารถติดตั้งบริการเหล่านี้เองได้ภายหลัง แต่ก็ต้องแลกกับความยุ่งยากที่มากขึ้น
เมื่อกูเกิลต้องทำตามคำสั่งของ Trump (แม้จะไม่อยากทำก็ตาม) สิ่งที่กูเกิลสามารถทำได้คือ ไม่อนุญาตให้ Huawei เข้าถึง Google Android อีกต่อไป ซึ่งผลที่ตามมาคือ Huawei จะไม่สามารถใช้งาน Google Android ได้อีก
บัญชีทวิตเตอร์ @Android ออกมาชี้แจงว่า อุปกรณ์ของ Huawei ที่เป็น Android ในปัจจุบัน จะยังเข้าถึงบริการของกูเกิลอย่าง Google Play ต่อไปได้เช่นเดิม
ตรงนี้ผู้ใช้ Huawei ในปัจจุบันคงสบายใจได้ว่าอุปกรณ์จะได้ไปต่อ เพราะ Huawei สามารถเข้าถึงซอร์สโค้ดของ Android เวอร์ชันใหม่ได้จาก AOSP อยู่แล้ว (แต่ความร่วมมือในเชิงลึกกับกูเกิลอาจถูกตัดออกไป) ดังนั้นการอัพเกรด Android เป็นเวอร์ชันใหม่คงไม่ใช่ปัญหา ส่วนตัวบริการที่เป็นของกูเกิล 100% ก็ยังสามารถใช้งานได้ต่อไปบนอุปกรณ์เดิม
จุดที่ยากสำหรับ Huawei คือมือถือ Android รุ่นใหม่ๆ จะเป็นอย่างไรต่อ เพราะ Huawei จะสามารถเข้าถึงได้เฉพาะ AOSP เท่านั้น ขาดองค์ประกอบสำคัญอย่าง Google Play Services และ Google Play Store ซึ่งจำเป็นมากต่อการขาย Android ในตลาดโลก (ไม่รวมในจีน)
Google Play Store เป็น "ร้าน" ขายแอพและเนื้อหาดิจิทัลอื่นๆ (เช่น หนัง เพลง อีบุ๊ก) ของกูเกิล ที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว ว่าสามารถดาวน์โหลดหรือซื้อแอพของ Android ได้จากที่นี่
แต่ด้วยสถาปัตยกรรมของ Android ที่เปิดกว้าง อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถติดตั้งร้านขายแอพอื่นๆ นอกเหนือจาก Google Play Store ได้ด้วย (ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Galaxy Store ของซัมซุง) ดังนั้นหากกูเกิลแบนไม่ให้ Huawei เข้าถึง Google Play Store ได้ ก็ยังมีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้อีกมาก (เช่น Amazon Appstore, Bebomi Mobile Store หรือ Opera เดิม) ถึงแม้แอพบนร้านค้าทางเลือกเหล่านี้จะมีน้อยกว่าบน Play Store แต่ก็พอใช้ทดแทนกันได้บ้าง
อันที่ยากกว่ามากคือ Google Play Services
Google Play Services เป็น "บริการ" ที่อยู่เบื้องหลังแอพดังๆ ของ Android เป็นจำนวนมาก เพื่อให้แอพเหล่านี้สามารถเรียกใช้บริการออนไลน์ของกูเกิลได้ เช่น การเชื่อมต่อกับบัญชี Google Account เพื่อล็อกอิน, ขอเก็บไฟล์ลง Google Drive, ซิงก์รูปภาพขึ้น Google Photos, ขอพิกัดหรือแผนที่จาก Google Maps, ขอส่งภาพขึ้นจอผ่าน Google Cast ฯลฯ
แอพ Android ไม่จำเป็นต้องเรียกใช้ Google Play Services เสมอไป หากแอพตัวนั้นเป็นแอพง่ายๆ ทำงานเฉพาะอย่าง แต่ถ้าเป็นแอพยอดนิยมที่มีฟีเจอร์เยอะๆ ก็มีโอกาสสูงที่จะเรียกใช้งาน Google Play Services (ซึ่งมีมาพร้อมกับ Google Android ทุกเครื่องให้อยู่แล้ว)
หาก Huawei ไม่สามารถออกมือถือ Android ที่เชื่อมต่อ Google Play Services ได้ ปัญหาจะตามมาทันที แม้ว่ายังสามารถดาวน์โหลดแอพดังๆ มาลงในเครื่องผ่านช่องทางอื่นได้ แต่โหลดมาแล้ว แอพจะทำงานไม่ได้เพราะในเครื่องไม่มี Google Play Services ติดตั้งเอาไว้
ปัญหาโดนสหรัฐแบนไม่ใช่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และ Huawei เองก็เคยประกาศว่ามีแผนสำรองไว้แล้ว กำลังพัฒนา OS ใหม่ใช้เอง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักว่าเป็นอย่างไร
หากพิจารณาความเป็นไปได้ในการสร้าง OS ใหม่ทั้งตัว ต้องใช้ทุน ทรัพยากร และเวลาสูงมาก (ขนาดยักษ์ใหญ่ที่มีเงินหนา วิศวกรพร้อมยังล้มเหลว จำชื่อ Windows Phone กันได้ไหมครับ) ทางเลือกที่ Huawei ทำคงเป็นการ fork ระบบปฏิบัติการ Android ออกมาใช้เอง (จาก AOSP)
แนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบริษัทจีนทำระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันตัวเองใช้กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อตลาดนอกประเทศจีนผูกกับแอพและบริการจากโลกตะวันตก การตัดขาดจาก Google Play Store / Google Play Services ไปทั้งหมด 100% คงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ไอดอลที่ Huawei อาจใช้เป็นตัวอย่างได้คือ Amazon ที่พัฒนาจักรวาล Android ของตัวเองโดยไม่พึ่งพากูเกิลเลย (ซึ่งก็คงต้องเป็นบริษัทระดับ Amazon ที่มีทุนมากพอจะทำได้) เพื่อใช้กับสินค้าตระกูล Fire ของตัวเองคือแท็บเล็ต Amazon Fire และกล่องเซ็ตท็อป Fire TV
ส่วนของร้านขายแอพ Amazon มีร้าน Appstore ที่เปิดให้บริการใน 230 ประเทศ และมีแอพประมาณเกือบ 5 แสนตัวให้บริการ
ส่วนตัว Google Play Services ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ทาง Amazon ก็เขียนตัว API หรือ SDK ขึ้นมาทดแทนเป็นกรณีๆ ไป แม้ว่าไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ 100% แต่ก็ช่วยให้แอพ Android ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด สามารถพอร์ตมาอยู่บน Amazon Android ได้ง่ายขึ้น
แนวทางของ Amazon จึงเป็นไปได้มากที่สุดที่ Huawei จะเดินรอยตาม
ปัญหาการ Huawei ถูกแบนจาก Google Android อาจเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกระทบกับลูกค้าสมาร์ทโฟนของ Huawei จำนวนมหาศาล
แต่ปัญหาของ Huawei ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะ Huawei ยังมีธุรกิจด้านอื่นอีกมาก โดยเฉพาะด้านอุปกรณ์โทรคมนาคม และเซิร์ฟเวอร์ ที่ต้องพึ่งพาชิปจากบริษัทอเมริกันหลายราย และอาจถูกแบนเช่นกัน
Huawei ยังผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างโน้ตบุ๊ก ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟท์ (ไมโครซอฟท์ยังไม่ออกมาแสดงท่าทีในเรื่องนี้) และยังไม่รวมถึงฝั่งผู้ซื้อ ผู้ที่ซื้อสินค้าจาก Huawei ในสหรัฐอเมริกาอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ถ้าถามกูเกิลว่าอยากแบน Huawei หรือไม่ คำตอบคงแสดงอยู่ในข้อความทวีตข้างต้นว่า "we are complying with all US gov't requirements" แปลว่ากูเกิลไม่อยากแบนหรอก แต่ต้องทำตามข้อบังคับของรัฐบาลสหรัฐ จึงไม่มีทางเลือก และเชื่อว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันรายอื่นก็เหมือนกัน
หากคำสั่งแบนของ Huawei ถูกบังคับใช้เต็มรูปแบบ ความเสียหายคงเกิดขึ้นมหาศาลจากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อสินค้ากับ Huawei
กรณีของ Huawei ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2018 สหรัฐก็เคยแบนบริษัทสัญชาติอเมริกัน ห้ามทำการค้ากับ ZTE ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าโทรคมนาคมอีกรายจากจีน คู่แข่งของ Huawei มาก่อนแล้ว
ผลของการที่ ZTE โดนสหรัฐแบนนั้นมหาศาล บริษัทต้องหยุดขายมือถือในจีนไปชั่วคราว และส่งผลกระทบเป็นตัวเงินถึง 400-500 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งกรณีของ Huawei ที่มีขนาดใหญ่กว่า ZTE มาก ก็ไม่ต้องสงสัยว่าระดับของความเสียหายนั้นเยอะกว่ากันมาก
ผลลัพธ์ของการแบน ZTE ทำให้ ZTE ต้องยอมอ่อนข้อให้กับรัฐบาลสหรัฐแทบทุกอย่าง ทั้งการยอมจ่ายค่าปรับ 1 พันล้านดอลลาร์, เปลี่ยนบอร์ดบริหารและผู้บริหารยกชุด และส่งทีมตรวจสอบที่ได้รับรองจากสหรัฐเข้าไปสอดส่องธุรกิจภายในของ ZTE อีกด้วย
นับจาก ZTE โดนแบนไปจนถึง ZTE ยอมแพ้ ใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนเต็ม ต้องมาดูกันว่ากรณีของ Huawei จะกินเวลายาวนานแค่ไหนกัน