แผนการอินเทล ออก 10 นาโนเมตรปีนี้ และมุ่งสู่ 7 นาโนเมตรในปี 2021

by mk
3 June 2019 - 07:57

เป็นข่าวเก่าตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2019 โดยอินเทลแถลงเรื่องนี้ต่อนักลงทุนถึงแผนการของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ที่จะเปลี่ยนตัวเองจากผู้ผลิตซีพียูสำหรับพีซี ขยายมาเป็นผู้ผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่พีซีด้วย

เรื่องที่น่าสนใจคือแผนการพัฒนากระบวนการผลิต 7 นาโนเมตร ที่อินเทลระบุว่าจะทำได้ภายในปี 2021

เดิมที อินเทลเคยประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2013 ว่าจะเข้าสู่กระบวนการผลิตระดับ 14 นาโนเมตรในปี 2014 (ซึ่งทำได้จริง) และเปลี่ยนเป็น 10 นาโนเมตรในปี 2016 (ล้มเหลว)

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ 10 นาโนเมตรของอินเทลล่าช้ามาถึง 3 ปีกว่า โดยจะเริ่มออกได้จริงในเดือนมิถุนายน 2019 (Ice Lake)

ระหว่างนั้น อินเทลใช้วิธีอุดช่องว่างด้วยการปรับปรุง 14 นาโนเมตรแทน (เป็น 14nm+ และ 14nm++)

อินเทลมีแผนจะทำแบบเดียวกันกับ 10 นาโนเมตรในอีก 3 ปีข้างหน้า นั่นคือ 10nm+ (2020) และ 10nm++ (2021)

จากนั้นจะเข้าสู่ 7 นาโนเมตรในปี 2021 และใช้ท่าแบบเดียวกันคือ 7nm+ (2022) และ 7nm++ (2023)

ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่จะผลิตแบบ 7 นาโนเมตรคือ จีพียูตัวใหม่ Xe สำหรับเซิร์ฟเวอร์ (Xe สำหรับไคลเอนต์จะออกปี 2020) ที่ใช้แพ็กเกจแบบ Foveros หรือการวางชิปซ้อนกันเป็นชั้นๆ

ที่มา - Intel (PDF), AnandTech

Blognone Jobs Premium