สัปดาห์นี้ข่าวใหญ่ที่สุดของสัปดาห์คงหนีไม่พ้นการที่เฟซบุ๊กเปิดตัวสกุลเงิน Libra ร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่อีกหลายราย การออกเงินคริปโตสกุลใหม่เป็นเรื่องที่เราเห็นกันได้บ่อยๆ ตั้งแต่บิตคอยน์ราคาทะยานขึ้นสูงช่วงปลายปี 2017 แต่การที่เฟซบุ๊กและพันธมิตรตัดสินใจลงมาสู่ตลาดนี้ นอกจากความน่าตื่นเต้นที่บริษัทขนาดใหญ่ร่วมลงทุน
ในแง่เทคนิคสำหรับเงินคริปโตแล้ว Libra มีความน่าสนใจหลายประการ ตั้งแต่การเลือกกระบวนการหาข้อตกลงร่วม (consensus) แบบ LibraBFT, ภาษา Move สำหรับเขียนโปรแกรมบนบล็อคเชน Libra แต่คุณสมบัติ (และข้อเสียของการออกแบบ) ก็มีอยู่ในเงินคริปโตหลายสกุลที่ออกมาก่อนหน้า แต่จุดสำคัญของ Libra คือมันจะเป็นเงินที่มี Libra Association ทำหน้าที่ "แบงก์ชาติ" โดยที่ไม่ต้องมีชาติ แต่เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนจากภาคธุรกิจทำหน้าที่แทน
Libra ประกาศเปิดตัวโดยมีหน่วยงานร่วมทั้งหมด 28 หน่วยงาน และก่อนที่จะเปิดบริการจริง จะหาหน่วยงานมาร่วมเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (Founding Member) ทั้งหมด 100 หน่วยงาน โดยหน่วยงานเหล่านี้จะมีหน้าที่ 2 ประการ ได้แก่
หน่วยงานทั้ง 100 หน่วยงานให้ทุนประเดิมรายละ 10 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ Libra Association มีเงินเริ่มต้น 1,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท โดยสมาชิกก่อตั้งสามารถลงทุนมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ และตัว Libra Investment Token เองก็จะขายให้กับคนอื่นนอกเหนือจากสมาชิกอีกด้วย ทำให้กองทุนเริ่มต้นน่าจะมีขนาดใหญ่กว่า 31,000 ล้านบาทมาก หาก Libra สามารถหาสมาชิกได้ครบถ้วนจริง
เงินเหล่านี้จะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ Libra Association ที่ตั้งอยู่ในเจนีวา และนำมาเป็นกองทุนประเดิมสำหรับกองทุนสำรอง Libra (Libra Reserve)
ค่าเงินคริปโตที่ผันผวนสูงเป็นปัญหาสำคัญของเงินคริปโตส่วนมาก ทำให้การใช้เงินคริปโตเพื่อใช้จ่ายจริงๆ ทำได้ลำบาก เพราะธุรกิจไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าหรือบริการให้ชัดเจนได้ ความเสี่ยงจากค่าเงินมีสูง ส่งผลให้สุดท้ายแม้ธุรกิจไม่กี่แห่งรับเงินคริปโตแต่ก็มักตั้งราคาไว้แพงเพื่อให้คุ้มกับความยุ่งยากและความเสี่ยง
อัตราแลกเปลี่ยนเงิน USDT จาก Coinmarketcap ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สังเกตว่าราคาใกล้เคียง 1 ดอลลาร์ตลอดเวลา
ความพยายามแก้ปัญหาค่าเงินผันผวนมีมาเป็นเวลานาน โดยมีความพยายามสร้างเงินคริปโตมูลค่าเสถียร (stable coin) ซึ่งที่ผ่านมามักผูกค่าเงินตายตัวกับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ตัวอย่างเช่นเงิน USDT ที่มีเงินดอลลาร์หนุนหลังทั้งหมด และสามารถขายคืนได้ที่ประมาณ 1 USDT หรือ 1 ดอลลาร์ ทำให้ค่าเงิน USDT โดยทั่วไปแล้วแทบจะคงที่ตลอดเวลา
เงิน Libra ใช้แนวทางต่างออกไป โดยเงินเริ่มต้นจะนำไปก่อตั้งกองทุนสำรอง Libra กองทุนสำรองนี้จะถูกนำไปถือทรัพย์สินในสกุลเงินต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในนโยบายตะกร้าเงิน โดยต้องเป็นทรัพย์สินที่ความน่าเชื่อถือสูงระดับเหมาะสมกับการลงทุน (investment grade) ซึ่งก็อาจจะเป็นพันธบัตรระยะสั้นของชาติต่างๆ ที่อยู่ในตะกร้าเงิน
ภาพโดย geralt
กระบวนการออกเงิน Libra จะขายเงินออกใหม่ให้กับผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เพื่อนำไปขายต่อกับรายย่อยอีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อ Libra Association ขายเงิน Libra ก้อนใหม่ออกไป ก็จะนำเงินที่ได้มา ซื้อสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างๆ ตามสัดส่วนของตะกร้าเงินเข้าสู่กองทุนสำรอง ซึ่งทำให้กองทุนสำรองมีทรัพย์สินหนุนหลัง Libra อยู่เต็มร้อย
ในกรณีที่ความนิยมของเงิน Libra ลดลงและราคาในตลาดเริ่มตก ผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตสามารถนำเงิน Libra กลับมาขายคืนให้กับ Libra Association ได้ กลไกนี้ควรจะทำให้ราคาของ Libra ค่อนข้างเสถียร (low volatile) เพราะหากราคาในตลาดตกลงมากเกินไป ผู้ค้าก็จะกวาดซื้อเงิน Libra ในตลาดมาขายคืนกองทุนสำรองเพื่อทำกำไร ขณะที่หากเงินในตลาดมีมูลค่าสูงขึ้นมากผู้ค้าก็สามารถนำเงินสดไปขอซื้อเงิน Libra ออกมาขายในตลาด
ทาง Libra ระบุว่ากระบวนการนี้คล้ายการทำงานของกรรมการการเงินของธนาคารกลางบางชาติ เช่น ฮ่องกงที่จะพิมพ์ดอลลาร์ฮ่องกงออกมาต่อเมื่อมีดอลลาร์สหรัฐฯ หนุนหลังอยู่เสมอ โดยธนาคารกลางจะพิมพ์เงินออกมาขายธนาคารที่ได้รับอนุญาตที่ราคา 7.75 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ และรับซื้อดอลลาร์ฮ่องกงกลับคืนที่ราคา 7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ
เนื่องจาก Libra ไม่ได้มีเงินสกุลเดียวหนุนหลัง แต่เป็นตะกร้าเงินที่ยังไม่ระบุสัดส่วนว่าจะเป็นสกุลใดบ้าง สัดส่วนนี้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อเงินสกุล Libra ทำให้มันไม่ได้เป็นเงินที่ค่าเงินตรึงตัวกับเงินจริงสกุลใดสกุลหนึ่ง แต่เป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนต่ำ โดยหากสกุลเงินบางสกุลในตะกร้าเงินมีความผันผวน มูลค่าโดยรวมของ Libra ก็เปลี่ยนไปได้ และในบางกรณีเช่นวิกฤติเศรษฐกิจจากบางชาติ ทาง Libra ก็จะมีกรรมการมาตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายในกองทุนสำรองนี้เพื่อรักษามูลค่า Libra ตอนนี้ทาง Libra Association ระบุว่าสินทรัพย์นี้จะเลือกจากรัฐบาลที่เงินมีเสถียรภาพและเงินเฟ้อต่ำ
ผู้ร่วมลงทุนใน Libra จำนวนหนึ่งอาจต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างเงินสกุลใหม่ที่อาจจะกลายเป็นสกุลสำคัญในโลก แต่รูปแบบของ Libra ทำให้หน่วยงานจำนวนหนึ่งที่ประกาศเข้าร่วมอาจจะไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการลงทุนเพื่อดอกผลในอนาคต
รูปแบบการจัดการกองทุนสำรองของ Libra เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีดอกผล แต่ดอกผลเหล่านี้ไม่ได้นำไปหนุนมูลค่าของ Libra ให้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ทาง Libra จะนำดอกผลที่ได้ไปใช้ในการดำเนินงาน, ให้ทุนวิจัยที่เกี่ยวข้อง, และนำไปจ่ายปันผลให้กับผู้ลงทุนใน Libra Investment Token ที่เป็นโทเค็นแยก ไม่ใช่เงิน Libra
หากในอนาคตมีเงิน Libra หมุนเวียนในตลาดจำนวนมาก กองทุนสำรองของ Libra ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดอลผลเหล่านี้แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ไม่สูงนัก แต่ดอกเบี้ยรวมก็จะเพิ่มขึ้นตามขนาดกองทุนสำรอง และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจึงนำมาปันผลให้ผู้ถือ Libra Investment Token
การลงทุนใน Libra Investment Token จึงเป็นการลงทุนโดยหวังว่ากองทุนสำรอง Libra จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากๆ ในอนาคต ดอกผลจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคุ้มกับการลงทุน
สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักคือเป้าหมายของ Libra นั้นไม่ใช่เพียงการสร้างระบบโอนเงินข้ามประเทศราคาถูกเช่นที่เงินคริปโตหลายสกุลพยายามทำ แต่กลับมีเป้าหมายให้ Libra เป็นทางเลือกสำหรับการใช้งานเงินสกุลที่มีเสถียรภาพสูง เข้าถึงได้ง่าย และใช้งานผ่านบริการดิจิทัลได้เต็มรูปแบบ
สำหรับบางประเทศที่ค่าเงินสกุลท้องถิ่นไม่มีเสถียรภาพ การถือเงิน Libra อาจจะปลอดภัยกว่าเงินสกุลท้องถิ่นเองเสียอีก
เป็นเรื่องน่าสนใจว่าหน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินจะมีท่าทีอย่างไร หากประชาชนมีทางเลือกสามารถถือเงินในสกุลที่สองได้โดยง่ายผ่านทางบริการของเฟซบุ๊กและพันธมิตร และบริการนี้ถูกดูแลโดยหน่วยงานที่ออกเสียงควบคุมนโยบายทั้งในแง่การเงินและเทคนิคโดยตัวแทนของบริษัทเอกชน อย่างไรก็ดี หน่วยงานรัฐแต่ละประเทศจะต้องเป็นผู้กำกับดูแล และให้อนุญาตบริการที่ติดต่อกับผู้ใช้โดยตรง เช่น ตลาดซื้อขายเงินคริปโต, ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล (รวมถึง Calibra ของเฟซบุ๊กเอง)
ภายในครึ่งปีข้างหน้าเราน่าจะได้เห็นก้าวแรกของ Libra ว่ามันจะสามารถรวบรวมสมาชิกผู้ก่อตั้งได้ 100 รายตามเป้าหมายหรือไม่ และเงินระดมทุนก้อนแรกจะเป็นเท่าใด ก่อนจะเริ่มเปิดบล็อคเชนตัวจริง