จรวด Falcon Heavy ของ SpaceX ทำภารกิจที่ยากที่สุดสำเร็จ แต่บูสเตอร์หลักพลาดลงทะเล

by BlackMiracle
26 June 2019 - 07:10

เมื่อวานนี้ช่วงบ่ายโมงครึ่งตามเวลาประเทศไทย SpaceX ได้ยิงจรวด Falcon Heavy ออกสู่ห้วงอวกาศเป็นครั้งที่สาม ภายใต้ภารกิจชื่อ STP-2 ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากที่สุดเท่าที่ SpaceX เคยทำมา

จรวด Falcon Heavy ประกอบไปด้วยแกนจรวด Falcon 9 จำนวน 3 ลำมัดติดกัน มีเครื่องยนต์ Merlin รวม 27 เครื่อง พาจรวดทะยานผ่านท้องฟ้ายามค่ำคืนของรัฐฟลอริดาออกสู่ห้วงอวกาศ หลังจากนั้นไม่กี่นาที บูสเตอร์ซ้ายและขวาก็แยกตัวออกจากบูสเตอร์หลักตรงกลาง และพาตัวเองบินกลับมาลงจอดที่เดิมได้สำเร็จ

ต่อมาจรวดส่วนหัวที่บรรทุก payload อยู่ก็แยกตัวออกจากบูสเตอร์หลักเพื่อไปทำภารกิจปล่อยดาวเทียม ส่วนบูสเตอร์หลักก็กลับตัวและร่อนกลับมายังมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากจุดยิงจรวดราว 1,200 กิโลเมตร ที่ซึ่งโดรนลอยน้ำ Of Course I Still Love You จอดรออยู่ แต่กลับเกิดเหตุไม่คาดคิด เมื่อบูสเตอร์ลอยเข้ามาใกล้โดรนลอยน้ำแล้วกลับไถลออกนอกเป้าหมาย ค่อยๆ ดิ่งลงทะเลพร้อมเกิดระเบิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดถูกกล้องบนโดรนลอยน้ำจับไว้ได้และถ่ายทอดสดให้คนทั้งโลกเห็นพร้อมกัน

จังหวะที่บูสเตอร์ตัวกลางดิ่งลงทะเลและเกิดระเบิด

นี่เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่บูสเตอร์ตัวกลางของจรวด Falcon Heavy พลาดเป้าและดิ่งลงทะเล (ครั้งแรกคือตอนทดสอบยิง) โดยคราวนั้นที่พลาดเป้า Elon Musk ให้ข้อมูลว่าเพราะเชื้อเพลิงหมดก่อน และคราวนี้ก็คาดว่าเพราะเหตุผลเดียวกัน เนื่องจากภารกิจนี้ต้องใช้เชื้อเพลิงสูงมากจากการที่ payload มีน้ำหนักเยอะ แต่ก็ยังไม่มีคำแถลงอย่างเป็นทางการออกมาถึงสาเหตุ

ด้านจรวดส่วนหัวก็บรรทุกดาวเทียมจำนวน 24 ดวง เป็นของหลายหน่วยงานจากสหรัฐอเมริกาแชร์กันมา เช่นกองทัพสหรัฐฯ, NASA, NOAA (กรมอุตุฯ) ซึ่งสิ่งที่ทำให้ภารกิจคราวนี้ "ยากที่สุด" คือดาวเทียมทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นชุดๆ แต่ละชุดต้องปล่อยที่วงโคจรคนละจุดกัน รวม 3 จุด ทำให้จรวดส่วนหัวต้องติดและดับเครื่องถึง 4 ครั้งด้วยกัน โดยดาวเทียมถูกปล่อยออกและเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้สำเร็จทั้งหมด

ดาวเทียม COSMIC-2 ของกรมอุตุฯ สหรัฐฯ | ภาพจาก NOAA

นอกจากนี้ภารกิจนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือเรือติดตั้งตาข่ายดักจับเปลือกของส่วนหัวจรวด หรือ fairing สามารถดักจับชิ้นส่วนดังกล่าวได้เป็นครั้งแรกแล้ว หลัง SpaceX พยายามดักจับชิ้นส่วนนี้มาหลายครั้งแต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด (ก่อนหน้านี้ Elon Musk ตั้งชื่อเรือว่า Mr. Steven แต่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Ms. Tree แล้ว) สามารถอ่านเกี่ยวกับเรือ Ms. Tree ได้ที่นี่

ชิ้นส่วน fairing ถูกจับโดยตาข่ายของเรือ Ms. Tree

สาเหตุที่ SpaceX พยายามจับ fairing ที่ตกกลับมายังโลกให้ได้ เนื่องจากชิ้นส่วนดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว และจะเสียไปเลยหากตกลงน้ำ ซึ่งถ้านำ fairing กลับมาใช้ใหม่ได้ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกมาก

ผู้สนใจสามารถรับชมวิดีโอตัวเต็มได้ที่ช่องของ SpaceX บน YouTube

ที่มา - CNET, Ars Technica

บูสเตอร์ซ้ายและขวากำลังกลับมาลงจอดบนพื้นโลก

บูสเตอร์ทั้งสองกำลังลงจอด

ภาพทั้งหมดจาก SpaceX Flickr

Blognone Jobs Premium