รู้จัก MEB สตาร์ทอัพอีบุ๊กที่โตเงียบๆ แต่ถือส่วนแบ่งตลาดเพียบเกินคาด

by workplace
27 June 2019 - 09:55

หลายคนอาจคิดว่าอีบุ๊กเป็นวงการที่ไปไม่รอด ทำอย่างไรก็ขาดทุนเพราะคนไทยไม่อ่านหนังสือเยอะขนาดนั้น แต่ MEB ผู้ให้บริการอีบุ๊กรายแรกๆ ของไทยที่ไม่ได้มีทุนมากมาย กลับสามารถเติบโตและทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ก่อนจะเข้าไปเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้แม้จะอยู่ในเครือบริษัทใหญ่ แต่ MEB ก็ยังคงความเป็นสตาร์ทอัพเอาไว้ได้อย่างดี มีการบริหารงานที่อิสระ ขนาดทีมยังไม่ใหญ่และกำลังมองหาพนักงานใหม่มาช่วยให้บริษัทเติบโตมากขึ้นไปกว่านี้ด้วย

จุดเริ่มต้น MEB ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในวงการหนังสือ

เรื่องราวของ MEB (Mobile E-Books) อาจจะคล้ายกับสตาร์ทอัพอีบุ๊กหลายเจ้าที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงหนังสือกำลังเฟื่องฟูในราวปี 2011 โดยคุณโก๋ กิตติพงษ์ แซ่ลิ้มและคุณไช้ รวิวร มะหะสิทธิ์ สองผู้ก่อตั้งที่เห็นข้อจำกัดหลายอย่างในอุตสาหกรรมหนังสือ ด้วยวิธีคิดแบบวิศวกร เลยต้องการหาโซลูชันระยะยาวที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในวงการหนังสือ

จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการหนังสือคือคุณไช้เป็นคนรักหนังสืออยู่แล้ว เคยเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง จึงมีประสบการณ์ตรงว่าวงการหนังสือมีข้อจำกัดอย่างไร ทั้งในแง่ต้นทุนการพิมพ์, การสต๊อก, กระบวนการกระจายหนังสือ แต่ในขณะเดียวกัน คุณไช้ก็พัฒนาโปรแกรมช่วยสนับสนุนธุรกิจหนังสือเองด้วย อย่างเครื่องมือช่วยตรวจคำผิด, แก้ฟอนต์ เป็นต้น

คุณไช้ รวิวร มะหะสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง MEB

สถานการณ์ในปี 2011 (พ.ศ. 2554) มีปัจจัยหลายอย่างเอื้อให้อีบุ๊กเริ่มได้รับความนิยม จากทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทำให้หนังสือจำนวนมากขึ้นราเสียหาย ขนย้ายลำบาก อีกทั้งสมาร์ทโฟนเริ่มเติบโตและได้รับความนิยมมากขึ้น ปีนั้นเป็นปีที่ iPhone 4s เปิดตัว และ iPad ก็เปิดตัวครั้งแรกในช่วงไล่เลี่ยกันคือปี 2010

ทำธุรกิจในสไตล์ Cockroach Startup ทำแบบที่คนอื่นไม่ทำ

ความท้าทายของ MEB คือไม่เคยเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพใดๆ ไม่เคยเปิดระดมทุนจากนักลงทุนหน้าไหน รวมถึงไม่ใช่ร้านหนังสือรายใหญ่ที่หันมาทำอีบุ๊คเพิ่มเติม ทำให้เงินทุนอาจไม่หนาเท่าคู่แข่งอื่นๆ ดังนั้นโมเดลการทำธุรกิจของ MEB จึงต้องทำในสิ่งที่คู่แข่งทุนหนาทำไม่ได้หรือไม่ทำ และพยายามเก็บเล็กผสมน้อย ไม่เผาเงินโดยไม่จำเป็น

รูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้คุณไช้เรียกว่า "Cockroach Startup" ใช้กลยุทธ์ซอกแซกไปตามที่ที่คนอื่นไม่ไปหรือนึกไม่ถึง อย่างเช่น การสนับสนุนนักเขียน เพราะรับรู้อยู่แล้วว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาในการขายหนังสือตัวเองอย่างไร ซึ่ง MEB ก็ได้กลายเป็นโซลูชันเต็มรูปแบบให้นักเขียนเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่นักเขียน สำนักพิมพ์ในไทยส่วนใหญ่ก็ขายอีบุ๊คผ่าน MEB เหมือนกัน

จุดหลักของ MEB คือไม่เพียงแค่ติดต่อขอหนังสือมาขายแล้วจบกันไป แต่ทำงานร่วมกันเป็นพาร์ทเนอร์ระยะยาว ช่วยดูแลแก้ปัญหาต่างๆ ให้ รวมถึงเสนอช่องทางด้านการตลาดหรือการโปรโมทหนังสือให้ด้วย เมื่อนักเขียนและสำนักพิมพ์เหล่านี้ประทับใจทั้งกับบริการและส่วนแบ่งรายได้จาก MEB ทำให้พวกเขาเหล่านี้เลือกจะอยู่เป็นพาร์ทเนอร์กันต่อไป

โมเดลการหารายได้ของ MEB จะอยู่ในรูปแบบการแบ่งรายได้จากยอดขายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจนำผลงานมาเผยแพร่อย่างยิ่ง เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการนำผลงานมาลงขาย ทำให้บริษัททำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรก และเติบโตในแง่ยอดขาย 2 หลักในทุกๆ ไตรมาสมาตั้งแต่ก่อตั้ง ที่สำคัญคือการเติบโตของ MEB เป็นการเติบโตแบบออร์แกนิค ไม่เน้นการ Growth Hack แต่อย่างใดด้วย

ปีล่าสุดบริษัทมียอดขาย 500 ล้านบาท จำนวนผู้ใช้ 2.2 ล้านคน Quarterly Active User ราว 4.76 แสนคน

เซ็นทรัลมาลงทุนครั้งแรกและครั้งเดียว

ปี 2013 MEB มี COL (บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน)) บริษัทแม่ของ B2S และ Office Mate เข้ามาถือหุ้นใหญ่ นับเป็นนักลงทุนรายแรกและรายเดียวที่เข้ามาลงทุนกับ MEB ทำให้ปัจจุบันบริษัท MEB ถือเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัล แต่ยังมีอิสระในการบริหารเหมือนเดิม

ที่ผ่านมา MEB ถือว่าประสบความสำเร็จในฐานะปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนทำหนังสือ ทำให้ปี 2017 MEB เปิดตัวบริการที่ 2 คือ readAwrite ที่ทำหน้าที่เป็นต้นน้ำ เป็นแพลตฟอร์มให้นักเขียนได้เขียนงานผ่านช่องทางออนไลน์โดยตรง โดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้อ่านฟรีหรืออ่านแบบเสียเงิน ขณะที่คนอ่านก็สามารถสนับสนุนนักเขียนที่ชื่นชอบโดยเลือกบริจาคให้กับนักเขียนโดยตรงได้อีกด้วย

readAwrite ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน มีทราฟฟิคขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในตลาดนิยายออนไลน์ โดย 2 อันดับแรกคือผู้ให้บริการเจ้าเก่าที่อยู่ในตลาดนี้มานานแล้ว ส่วนโมเดลรายได้จาก readAwrite ก็เหมือนกับ MEB คือเจ้าของผลงานสามารถลงงานได้ฟรี และมีรายได้จากส่วนแบ่งยอดขายที่เกิดขึ้น

เป้าหมายถัดไปของ MEB คือเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2-3 ปี โดยคุณไช้มองว่าการเข้าตลาดไม่ใช่การ exit แต่เป็นการพาบริษัทไปให้ไกลกว่าเดิมและมั่นคงมากขึ้น ตอนนี้รายละเอียดและเงื่อนไขในการเข้าตลาดถือว่าผ่านหมดแล้ว เหลือเพียงรอจังหวะและเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

วัฒนธรรมองค์กรและการทำงาน

MEB ตอนนี้ถือเป็นองค์กรเล็กๆ มีพนักงานอยู่ราว 50 คนเท่านั้นโดยเป็นนักพัฒนากว่าครึ่ง อายุเฉลี่ยก็ไล่ๆ กันที่ราว 25-26 ปี ทำให้บรรยากาศการทำงานค่อนข้างสบาย พูดคุยกันได้ทุกเรื่อง โครงสร้างขององค์กรก็ถือว่าแบนราบมาก ระดับที่พนักงานทุกตำแหน่งกับผู้บริหารใกล้ชิดกันสุดๆ สามารถเข้าไปพูดคุย นำเสนอไอเดียได้โดยตรงทันที

กระบวนการทำงานก็ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูง หลายๆ โปรเจ็กต์ก็มีการให้ลูกน้องขึ้นมานำทีมแล้วหัวหน้าก็เป็นแค่สมาชิกทีมก็มี เช่นเดียวกับเวลาเข้างานที่ถึงแม้จะกำหนดเอาไว้ราว 9.30 - 18.30 แต่ก็ยืดหยุ่นได้

สวัสดิการ

MEB มีสวัสดิการแบบลูกผสมคือสวัสดิการแบบสตาร์ทอัพอย่างเช่นมีเลี้ยงอาหารบ้างบางครั้ง มีเครื่องดื่มและขนมเติมให้ไม่อั้น มีงบเทรนนิ่งสำหรับพนักงานให้ไปเรียนเพิ่มเติม มีงบสำหรับการออกกำลังกาย เช่น ค่าสนามฟุตบอล ร่วมสวัสดิการระดับองค์กรใหญ่ที่ได้รับมาจากการอยู่ในเครือเซ็นทรัลอย่าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันกลุ่ม, ประกันสุขภาพ, ค่ารักษาพยาบาล, ตรวจร่างกายประจำปี และได้รับส่วนลดพิเศษเมื่อซื้อของในเครือเซ็นทรัลด้วย

ที่ตั้งออฟฟิศ

MEB อยู่ที่อาคาร Software Park ชั้น 8 ตรงข้ามเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ข้อดีคือค่าครองชีพค่อนข้างถูก ที่พักราคาไม่แพง และมีความสะดวกสบายจาก facility ของห้างเซ็นทรัลที่อยู่ใกล้สุดๆ

อยากได้พนักงานแบบไหน

คนที่มีความยืดหยุ่นแต่มีความรับผิดชอบ MEB ยินดีรับเด็กที่เพิ่งจบใหม่ การทำงานที่นี่จะไม่เพียงได้ประสบการณ์จากเนื้องานสายโปรแกรมมิ่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้สัมผัสประสบการณ์ด้านธุรกิจเองโดยตรงอีกด้วย

เสียงสะท้อนจากพนักงาน

คุณสุพรชัย พิกุลงาม - Android Developer
ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  • ทำงานที่นี่เป็นที่แรก ประทับใจที่ที่นี่ให้โอกาสเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์
  • ไม่เคยรู้สึกเครียดเพราะงาน ส่วนหนึ่งเพราะบรรยากาศการทำงานที่ค่อนข้างสบายๆ ด้วย
  • ข้อดีอีกอย่างคือทุกคนอยู่กันเหมือนเพื่อน อายุไล่ๆ กัน คุยงานกันก็เข้าใจง่าย รู้เรื่อง เหมือนพูดภาษาเดียวกัน
  • คนที่เหมาะจะทำงานที่นี่คือต้องสามารถทำงานเป็นทีมได้ เป็นคนเรียนรู้ไว

คุณปัณณทัต ศุภรัตโนดม - Front-End Developer
ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

  • ทำงานที่นี่เป็นที่แรก
  • เลือกเพราะใกล้บ้าน เป็นบริษัทเล็กๆ ดูมีความท้าทายแบบสตาร์ทอัพ
  • ไม่มีช่องว่างระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เมื่อต้องการคำปรึกษาสามารถคุยและตัดสินใจได้เลย
  • เพื่อนร่วมงานอายุใกล้กัน สนิทง่าย ทำงานเร็ว หลังเลิกงานนัดกันไปทำกิจกรรมต่อกันได้
  • ทุกคนจะคอยช่วยเหลือกัน ไม่มีการตำหนิ แต่รับฟังและพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหา
  • มีเซสชัน Knowledge Sharing ให้คนที่ไปเรียนคอร์สเทรนนิ่งต่างๆ กลับมาแชร์กับเพื่อนร่วมงาน

คุณธีรัช พัฒนรัชต์ - Front-End Developer
ปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

  • เลือกทำงานเพราะมีรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ที่นี่แนะนำมา
  • ไม่ได้รู้สึกว่าคนที่นี่เป็นเพื่อนร่วมงาน รู้สึกว่าเป็นเพื่อนที่ทำงานกลุ่มมากกว่า ไม่มีชนชั้น ไม่มีระบบอาวุโส
  • คนที่จะทำงานที่นี่ ขอแค่มีความรู้ไอทีพื้นฐานและพูดคุยกับคนอื่นรู้เรื่องก็พอแล้ว

คุณจุฑามาศ ปิยะวารินราษฎร์ - Senior Web Developer
ปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ เอกวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

  • เป็นคนชอบอ่านนิยายอยู่แล้ว เลยรู้จักที่นี่
  • เป็นบริษัทเล็กๆ ที่อบอุ่น มีพี่ๆ คอยสอนคอยแนะนำให้ความรู้เรื่องต่างๆ
  • ถ้าเป็นเด็กใหม่เพิ่งจบก็จะได้ประสบการณ์หลายๆ ด้านจากที่นี่ แต่ถ้าเคยทำงานมาแล้วก็มีโอกาสนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้
  • สวัสดิการมีให้ครบ ครอบคลุม เหมาะกับคนที่มีบ้านอยู่ใกล้ๆ

ใครที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและตำแหน่งงานที่เปิดรับได้ที่ Blognone Jobs

Blognone Jobs Premium