ในงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย Blognone ได้เข้าสัมภาษณ์ Shashi Verma ซีทีโอและผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าของขนส่งลอนดอน (Transport for London - TfL) หรือหน่วยงานที่ดูแลระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในลอนดอนมาบรรยายถึงกรณีศึกษาการเดินทางในลอนดอนที่รับจ่ายผ่าน contactless เป็นอีกช่องทางจ่ายเงินที่สะดวกสบาย ไม่ต้องรอคิวหรือซื้อบัตรเดินทาง และ สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่าประจำประเทศไทย พูดถึงความเป็นไปได้ในประเทศไทย
Verma เริ่มต้นเล่าที่มาของการทำระบบรับจ่าย contactless เริ่มจากวิสัยทัศน์ของ TfL ต้องทำให้ง่ายและสะดวกต่อคนเดินทางก่อน ซึ่งที่ผ่านมาคนเดินทางใช้บัตรเดินทางหรือ Oyster Card อยู่แล้ว ประสบความสำเร็จและใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่คำถามใหญ่คือ ทุกคนที่อยากมาต่อแถวซื้อ Oyster Card หรือไม่ ทางหน่วยงานจึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเดินทางจ่ายเงินได้จากสิ่งที่มีอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว คือ บัตรเครดิต โทรศัพท์
ทางหน่วยงานจึงต้องผนวกการจ่ายเงินเข้ากับสิ่งที่คนเดินทางมีอยู่ในกระเป๋าให้ได้ ที่สำคัญคือ การชำระเงินต้องไวมากๆ เพราะสิ่งแวดล้อมการเดินทางต่างจากสิ่งแวดล้อมในการชำระเงินที่อื่น เราอาจจ่ายเงิน contactless ผ่านร้านค้าไม่กี่วินาที แต่สำหรับการเดินทางที่คนเร่งรีบ การจ่ายต้องไม่เกินครึ่งวินาที ซึ่ง Oyster Card ทำได้ TfL จึงต้องผนวกการใช้บัตรที่ธนาคารออกให้ประชาชนลอนดอนมาผนวกกับความไวแบบ Oyster Card ให้ได้
TfL จึงต้องประสานงานกับธนาคาร ผู้ให้บริการการเงินไม่ว่าจะเป็น VISA, Mastercard, American Express เพราะ TfL ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี contactless ขึ้นมาเอง เป็นแค่คนที่นำมาใช้เท่านั้น และทาง TfL ต้องทำระบบให้เข้ากับมาตรฐานของกลางที่กลุ่มธนาคารใช้งานกันอยู่แล้ว โดย TfL เริ่มใช้การชำระเงิน contactless ในปี 2012 และค่อยๆ ขยายให้ครอบคลุมจนถึงตอนนี้
ตั้งแต่ TfL รับจ่าย contactless มียอดผู้ใช้งานที่จ่าย contactless เฉลี่ย 6 ล้านการชำระต่อวัน และมีผู้ใช้งานรายใหม่ที่ใช้ครั้งแรกเฉลี่ย 6 หมื่นคนต่อวัน ที่สำคัญคือคนเดินทางไม่ต้องเปลี่ยนและปรับตัวเลย เพราะใช้บัตรธนาคารที่ตัวเองใช้งานมาแตะจ่ายเท่านั้น ค่าเดินทางเท่ากับจ่ายผ่าน Oyster Card จนตอนนี้มีบัตรจาก 145 ประเทศเข้ามามีกิจกรรมชำระเงินบน TfL
ซึ่งในลอนดอน คนใช้งานบัตรวีซ่า มาสเตอร์การ์ด จะเป็นบัตรเวอร์ชั่นรองรับ contactless ที่จะมีโลโก้เหมือน Wi-Fi แนวนอนบนบัตร คนเดินทางจึงไม่ต้องปรับตัวเยอะ ซึ่งธนาคารใน 145 ประเทศทั่วโลกก็มีเทคโนโลยี contactless กันหมดแล้ว
การรับจ่าย contactless ยังลดต้นทุนการบริหารขายตั๋ว Verma บอกว่าปกติ TfL จะใช้เงิน 15% จากรายได้มาบริหารการขายตั๋ว แต่ตอนนี้ต้นทุนนั้นลดลงเหลือ 8.5% จากรายได้ทั้งหมดหรือนับว่าลดลงเกือบครึ่งเลยทีเดียว
ด้าน สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่าประจำประเทศไทย พูดถึงกรณีที่จะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยว่าขณะนี้ หลายๆ ธนาคารในประเทศไทยก็เริ่มออกบัตร contactless กันแล้ว ซึ่งบัตรใหม่ทั้งหมดธนาคารจะนำออกมาใช้แทนบัตรที่หมดอายุจะเป็น contactless นอกจากนี้เครื่องรับบัตรเวอร์ชั่นใหม่ที่สามารถรองรับ contactless ได้จะนำออกมาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
การจ่ายเงินแบบ contactless ยังไม่จำกัดแค่จ่ายผ่านบัตร กับโทรศัพท์มือถือ แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์สวมใส่ เช่น FitBit, Gamin เป็นต้น เพียงแค่ผู้เล่นในตลาดพัฒนาการใช้งานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้ใช้แค่เพิ่มบัตรเข้าไปในอุปกรณ์ก็สามารถใช้งานได้
สุริพงษ์ บอกด้วยว่าตอนนี้ก็กำลังเตรียมงานกับรถไฟ MRT เรื่องระบบ ความพร้อมในไทย มีเวิร์คชอปร่วมกัน ด้านรถไฟฟ้า BTS ก็อยู่ในแผน แต่ได้พุดคุยกับทาง MRT มากกว่า โดยทีมทำงานของ MRT และธนาคารในประเทศไทยก็ได้เดินทางไปดูงานที่อังกฤษด้วย
สุริพงษ์ ระบุด้วยว่าตอนนี้มี 20 เมืองจาก 12 ประเทศที่ใช้งานระบบ contactless เพื่อการเดินทาง และมีอีก 150 เมืองทั่วโลกที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้อยู่ (ไทยยังไม่รวมอยู่ใน 150 เมืองนี้) เป็นเทคโนโลยี open loop จึงไม่ได้จำกัดแค่วีซ่าเท่านั้น แต่จะใช้งานร่วมกันได้บนมาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะเป็นวีซ่า, มาสเตอร์การ์ด
บทเรียนของอังกฤษยืนยันว่าการใช้บัตรธนาคารในการจ่ายค่าเดินทาง นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ในที่ไม่ต้องรอคิวซื้อตั๋วหรือพกบัตรหลายใบ ผู้ให้บริการเองยังสามารถลดต้นทุนระยะยาวในการบริหารบัตรได้ด้วย และการเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ไม่ยาก ผู้คนหันมาใช้บัตรจากธนาคารแทนบัตรโดยสารกันได้อย่างรวดเร็ว
ความท้าทายคือ การใช้งานบัตร contactless ในไทย ยังไม่ทั่วถึงเท่าไรนัก บัตรจำนวนมากที่ออกโดยธนาคารไทยยังไม่รองรับมาตรฐาน Contactless ทำให้แม้ระบบขนส่งรองรับออกมาในตอนนี้ก็อาจจะต้องรออีกระยะที่จะมีการใช้งานเท่าในอังกฤษ แต่แนวโน้มโดยรวมบัตรแทบทั้งหมดก็น่าจะรองรับในอนาคต