ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่าบริษัทเทคโนโลยีจากจีนกำลังมาแรงในตลาดโลก พลังมังกรไซเบอร์ที่ผสมผสานกลยุทธ์ทั้งราคาที่ถูกกว่า และเทคโนโลยีที่เหนือกว่า (ในบางด้าน) จึงเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นเดิมๆ ได้อย่างสูสี และสามารถเอาชนะได้เรียบร้อยแล้วในหลายอุตสาหกรรม
บทความนี้จะพาไปดูสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัทเทคโนโลยีจีน ว่าปัจจุบันอยู่ตรงไหนแล้วในตลาดโลก
หากพิจารณารายชื่อบริษัทเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (อ้างอิงตามมูลค่าบริษัทหรือ market capitalization) ในกลุ่ม Top 10 บริษัทจีนมียักษ์ใหญ่ติดอันดับถึง 2 รายคือ Alibaba (อันดับ 6) และ Tencent (อันดับ 7) ถ้าเทียบกับบริษัทหมวดเทคโนโลยีด้วยกันแล้ว ถือว่าเป็นรองกลุ่มบริษัท Top 5 ที่เราคุ้นชื่อกันดีคือ Microsoft, Amazon, Apple, Alphabet, Facebook เท่านั้น และมีมูลค่าสูงกว่าบริษัทดังๆ อย่าง Netflix หรือ Adobe ด้วยซ้ำ
ส่วนบริษัทจีนรายอื่นๆ ที่ติดอันดับ Top 30 มีด้วยกันอีก 5 รายคือ Meituan Dianping, JD, Baidu, NetEase และ Xiaomi
ถ้านับจำนวนประเทศในชาร์ทแล้ว สหรัฐอเมริกายังครองอันดับหนึ่งที่ 18 บริษัท ตามด้วยจีน 7 บริษัท ส่วนประเทศอื่นที่เหลืออย่างญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย มีติดชาร์ทเข้ามาเพียงประเทศละ 1 รายเท่านั้น
ที่มา - Mary Meeker Internet Trend 2019
ถ้ามาดูรายละเอียดเป็นรายอุตสาหกรรม ในตลาดสมาร์ทโฟนที่ชาว Blognone คุ้นเคยกันดี คงทราบว่าแบรนด์สมาร์ทโฟนระดับโลก เหลือเพียงซัมซุงและแอปเปิลเท่านั้นที่ยังคงต้านกระแส "สมาร์ทโฟนจีน" อยู่ได้ (แต่ก็ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงเรื่อยๆ) อย่างใน ตัวเลขส่วนแบ่งตลาดไตรมาสล่าสุด 2/2019 ของ IDC ซัมซุงยังครองอันดับหนึ่งที่ส่วนแบ่ง 22.7% และแอปเปิลอยู่อันดับสามที่ 10.1% ส่วนอันดับที่เหลือใน Top 6 คือ Huawei, Xiaomi, Oppo, Vivo เรียกได้ว่าจีนครองตลาดเกือบเบ็ดเสร็จ
หากลองรวมส่วนแบ่งตลาดของแบรนด์จีนทั้ง 4 รายเข้าด้วยกัน จะเห็นว่าแบรนด์จีนทั้ง 4 (เส้นสีแดง) มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบแตะ 45% ของโลกแล้ว (นี่ยังไม่รวมแบรนด์จีนย่อยๆ อื่น เช่น Realme, Meizu, OnePlus) และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา (คงจะถึงหลัก 50% ในไม่ช้า) ในขณะที่ซัมซุงมีแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดลดลง (เพิ่งกลับมาโตใน Q1/2019) และแอปเปิลก็ลดฮวบในช่วงหลัง
ที่มา - IDC
เมื่อพูดถึงตลาดคลาวด์ โดยเฉพาะ public cloud แบบ IaaS (Infrastructure as a Service) ชื่อแรกๆ ที่คนนึกถึงมักเป็น 3 แบรนด์ดัง AWS, Azure, Google Cloud แต่ถ้าดูข้อมูลส่วนแบ่งตลาดโลกอย่างละเอียดแล้ว เราอาจเห็นชื่อที่คุ้นเคย (แต่หลายคนไม่รู้ว่าทำคลาวด์) อย่าง Alibaba Cloud แทรกตัวเข้ามาในอันดับ 3 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 7.7% ซึ่งเยอะกว่า Google Cloud ด้วยซ้ำ
ถึงแม้ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของ Alibaba Cloud ยังอยู่ในประเทศจีน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดที่เยอะทีเดียว และนอกจาก Alibaba แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนรายอื่น เช่น Tencent และ Huawei ต่างก็มีบริการคลาวด์ในลักษณะเดียวกัน และกำลังจะออกมาทำตลาดนอกจีนในเร็วๆ นี้ (เมืองไทยก็เริ่มเข้ามาแล้ว)
ที่มา - Gartner
อีกวงการที่เห็นพลังของจีนได้อย่างชัดเจน คือสงครามของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทย ระหว่าง Lazada, Shopee, JD Central ล้วนแต่มี "จีน" อยู่เบื้องหลัง
กรณีของ Lazada นั้นชัดเจนว่ากลายเป็นบริษัทลูกของ Alibaba ไปเรียบร้อยแล้ว (ซื้อกิจการในปี 2016) ส่วน JD.co.th เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลของไทย กับ JD.com เบอร์สองของอีคอมเมิร์ซจีน
ประเด็นที่หลายคนอาจไม่รู้คือ Shopee นั้นบริษัทแม่เป็น Sea Group ของสิงคโปร์ก็จริง แต่ก็มีความสัมพันธ์กับ Tencent อย่างแนบแน่น โดย Tencent ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Sea Group (เคยมีหุ้นที่ราว 40% ช่วงที่ Sea ขายหุ้น IPO) ถือว่าเยอะกว่า Forrest Li ผู้ก่อตั้ง Garena/Sea ด้วยซ้ำ และมีที่นั่งในบอร์ดของ Sea ด้วย
อ่านเพิ่มเติม: วิเคราะห์ศึกอีคอมเมิร์ซไทย สุดท้ายเป็นแค่ “สงครามตัวแทนของจีน”
เมื่อพูดถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ในยุคดั้งเดิมประกอบด้วย 3 รายใหญ่คือ Baidu, Alibaba, Tencent ซึ่งเรียกรวมกันว่า B.A.T. และมีอิทธิพลล้นฟ้า พอตัวบริษัทมีขนาดใหญ่มากก็เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพจำนวนมหาศาลทั้งในจีนและนอกจีน
แต่ช่วงหลังเราเริ่มเห็นบริษัทจีนรุ่นใหม่ที่เริ่มมาแรงอีก 3 ราย ได้แก่ Toutiao, Meituan Dianping และ Didi Chuxing หรือตัวย่อคือ T.M.D.
ข้อมูลเพิ่มเติม: รู้จัก 3 บริษัทเทคจีนยักษ์ใหญ่ ที่ไม่ใช่ Baidu, Alibaba และ Tencent
Didi Chuxing อาจเป็นบริษัทที่ชื่อดังที่สุดในตลาดโลก เพราะเป็นบริการเรียกรถของจีน ผู้เอาชนะ Uber ได้อย่างราบคาบ
ส่วน Toutiao เป็นชื่อแอพอ่านข่าวยอดนิยมของจีน ที่คนนอกจีนอาจไม่รู้จักสักเท่าไรนัก แต่บริษัทแม่ของ Toutiao คือ ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับ TikTok แอพแชร์วิดีโอสั้นที่กำลังระบาดไปทั่วโลก และเข้ามาท้าทายโซเชียลเน็ตเวิร์คของโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง
สุดท้าย Meituan-Dianping คือแอพส่งอาหารเดลิเวอรีที่ใหญ่ที่สุดของจีน (ได้รับการสนับสนุนและลงทุนโดย Tencent) ที่ครองส่วนแบ่งตลาดราว 60% ในจีน สามารถเอาชนะ Ele.me ที่เป็นบริษัทลูกของ Alibaba ได้ด้วย
ขนาดธุรกิจของ Meituan-Dianping ก็เรียกได้ว่าใหญ่มาก เพราะต้องตอบสนองคนกินอาหารทั่วประเทศจีน 400 ล้านคน ทุกวันนี้ Meituan-Dianping ต้องส่งอาหารวันละ 25 ล้านออเดอร์ และมีคนส่งอาหารในสังกัดถึง 2.7 ล้านคนถึงจะพอเพียงกับปริมาณธุรกรรมระดับนี้
อ่านเพิ่ม: แอพจีน Meituan-Dianping สร้างงานให้คน 2.7 ล้านคน ส่งอาหาร 25 ล้านออเดอร์ต่อวัน
เมื่อพูดถึง Tencent เรามักนึกถึงบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ ที่มีผลิตภัณฑ์ชื่อดังระดับโลกคือแอพแชท WeChat กับการเป็นบริษัทเกมรายใหญ่ของโลก เจ้าของ RoV (ชื่อในจีนคือ Arena of Valor หรือ Honor of King) รวมถึงยังเป็นเจ้าของสตูดิโอเกมยักษ์ใหญ่ Riot Games (ผู้พัฒนา League of Legends - LoL) และ Supercell (Clash of Clans) และถือหุ้น 40% ใน Epic Games
แต่ธุรกิจอื่นของ Tencent ยังมีอีกมากมาย ที่เข้ามาทำตลาดในไทยได้แก่ ฝั่งคอนเทนต์ Joox, Voov และล่าสุดคือ WeTV บริการสตรีมมิ่งที่เน้นคอนเทนต์จากประเทศจีนเป็นหลัก รวมถึง Sanook.com เว็บพอร์ทัลเก่าแก่ของไทยซึ่งเป็นกิจการแรกของ Tencent ในไทย, Tencent Cloud บริการคลาวด์สำหรับตลาดองค์กร
ส่วนธุรกิจอื่นที่ยังมีเฉพาะในจีน ก็อย่างเช่น Tencent Comic แพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์และแอนิเมชัน, Tencent Pictures ที่ถึงขนาดมีค่ายหนังของตัวเอง, Tencent Classroom แพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์
นอกจากธุรกิจของตัว Tencent เองแล้ว บริษัทยังเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพจำนวนมาก ที่ปัจจุบันก็เติบโตจนเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักกันทั่วไป เช่น JD.com, Sea (Garena) และ Meituan-Dianping เป็นต้น
คนทั่วไปอาจรู้จักแบรนด์ Huawei ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของโลก (ปัจจุบันอันดับ 2) แต่จริงๆ แล้ว รากเหง้าของ Huawei มาจากการบุกเบิกตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมในประเทศจีนช่วงที่เริ่มเปิดประเทศ
ก่อนหน้านี้รายได้หลักของ Huawei มาจากธุรกิจอุปกรณ์โครงข่าย ซึ่งลูกค้าหลักคือกลุ่มโอเปอเรเตอร์ทั่วโลก (ธุรกิจฝั่งคอนซูเมอร์ของ Huawei เพิ่งมีรายได้แซงหน้าได้ในปี 2018 ที่ผ่านมานี้เอง)
ส่วนธุรกิจก้อนที่สามคือ Enterprise Business ที่ครอบคลุมถึงสวิตช์ เราเตอร์ อุปกรณ์เครือข่ายในองค์กร เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ, โซลูชันด้านการสื่อสาร, IoT, วิดีโอจากกล้องวงจรปิด รวมถึงธุรกิจคลาวด์ด้วยเช่นกัน
การผงาดขึ้นมาของบริษัทเทคโนโลยีจากจีน เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามไปพร้อมกัน
สินค้าและบริการของจีนช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทย (เช่น การไปขายของให้คนจีนบน Taobao) ช่วยเข้ามาแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิมทั้งฝั่งโลกตะวันตก และแบรนด์เอเชียจากญี่ปุ่น-เกาหลี-ไต้หวัน (เช่น มือถือจีนที่เข้ามาแข่งกับแอปเปิล-ซัมซุง) แต่ในอีกด้าน สินค้าและบริการจีนก็เข้ามาแข่งกับคนไทยเช่นกัน และมักเอาชนะได้ด้วย เพราะมีต้นทุนถูกกว่า สามารถทำราคาได้ดีกว่ากิจการของคนไทย
งาน Blognone Tomorrow 2019 จึงพยายามค้นหาคำตอบว่า เราควรรับมือกับบริษัทจีนอย่างไร? โดยเชิญตัวแทนจาก 3 บริษัทคือ Tencent, Huawei และ Meituan-Dianping มาร่วมสนทนากันบนเวที
สำหรับผู้สนใจสามารถซื้อบัตร Early Bird ได้ในราคาพิเศษ 1,500 บาท (รวมอาหารว่างและอาหารกลางวันแล้ว) จากราคาปกติ 2,500 บาท ถือเป็นโอกาสซื้อบัตรในราคาถูกที่สุด
Early Bird ขยายเวลา จากหมดวันที่ 8 สิงหา เป็น 15 สิงหาคมนี้ สามารถซื้อบัตรได้จาก EventPop (สามารถออกใบกำกับภาษีได้)