องค์การอนามัยโลกสั่งห้ามการตัดต่อพันธุกรรมในระดับเซลล์ต้นกำเนิด

by ตะโร่งโต้ง
7 August 2019 - 19:21

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หนึ่งในข่าวที่สะเทือนแวดวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ทั่วโลก คือข่าวที่นักวิจัยจีนออกมายอมรับว่าได้ทำการวิจัยทดลองตัดต่อพันธุกรรมเด็กทารกหญิง 2 คน ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงกันในวงกว้างถึงความเหมาะสมในด้านจริยธรรมของงานวิจัยดังกล่าว มาบัดนี้องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงการณ์อย่างชัดเจนขอความร่วมมือหน่วยงานผู้มีอำนาจในทุกประเทศทั่วโลกสั่งห้ามการตัดต่อพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิดทั้งหมดจนกว่าเรื่องนี้จะได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน

การตัดต่อพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิดมนุษย์ (human germline engineering) หมายถึงกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของบุคคลซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะถูกถ่ายทอดต่อไปยังรุ่นลูก ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของเซลล์สืบพันธุ์ (germ cell) ทั้งนี้เทคนิค CRISPR ที่นักวิจัยจีนใช้ในการตัดต่อพันธุกรรมเด็กทารกหญิง 2 คนเมื่อปีกลาย ก็เป็นกระบวนการแก้ไขรหัสพันธุกรรมของเซลล์สืบพันธุ์นี้เช่นกัน ซึ่งในแง่หนึ่งการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ในลักษณะนี้ย่อมถูกมองได้ว่าเป็นการแก้ไขลบล้างรหัสพันธุกรรมของพ่อและแม่ที่ควรจะถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกตามกลไกธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ในแวดวงการวิจัยและการพัฒนาเทคนิคทางการแพทย์นั้นก็ใช่ว่าจะมีแค่เทคนิคการแก้ไขรหัสพันธุกรรมของเซลล์สืบพันธุ์เท่านั้น ยังมีการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการแก้ไขพันธุกรรมที่เรียกว่า "พันธุกรรมบำบัด" (gene therapy) อยู่ด้วย โดยเทคนิคเหล่านี้จะใช้วิธีการตัดต่อแก้ไขพันธุกรรมของผู้ป่วยโดยจำกัดเฉพาะส่วนของ somatic cell เท่านั้น โดย somatic cell ที่ว่านี้หมายถึงเซลล์ที่ประกอบรวมกันเป็นเนื้อเยื่อ, เป็นอวัยวะ, เป็นร่างกายของคน โดยไม่นับรวมเซลล์สืบพันธุ์และเซลล์อื่นที่มีส่วนในการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมต่อไปยังทายาทที่เกิดจากการสืบพันธุ์

แถลงการณ์ล่าสุดของ WHO นี้เป็นผลมาจากการหารือกันของคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมของ WHO จำนวน 18 คน ซึ่งได้เข้าพบหารือกันที่ Geneva เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกันนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาชุดนี้ยังได้ให้ข้อแนะนำให้ WHO เร่งจัดทำทะเบียนรายการทดลองที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อพันธุกรรมของมนุษย์ทั้งหมดเพื่อสร้างความโปร่งใสให้สามารถตรวจสอบได้ โดยในปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการทดลองทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์อยู่มากกว่า 20 งานที่ใช้เทคนิคการตัดต่อแตกต่างกัน

Margaret Hamburg หนึ่งในประธานร่วมของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ WHO ชุดนี้ได้เคยให้สัมภาษณ์แก่ Science เมื่อเดือนมีนาคมว่าคณะกรรมการมีแผนที่จะร่างมาตรฐานกลางสำหรับนานาชาติเพื่อเป็นกรอบการทำงานสำหรับงานวิจัยทดลองที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อพันธุกรรมของมนุษย์ให้สามารถประกาศใช้งานได้ภายใน 18 เดือน

ที่มา - Wired, Science

Blognone Jobs Premium