ธนาธร: Hyperloop ไม่ใช่แค่การเดินทาง แต่จะพัฒนาประเทศไทยแบบก้าวกระโดด

by sunnywalker
10 September 2019 - 08:56

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เคยเปิดรายงานศึกษา Hyperloop และความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นรายงานที่คุณธนาธรจ้างให้บริษัท Hyperloop ในแคนาดาทำการศึกษา โดยเริ่มศึกษาในเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ-ภูเก็ต

ธนาธร บรรยายในหัวข้อ Hyperloop and Path Skipping Development Strategy ที่งาน Blognone Tomorrow 2019 ระบุว่าแนวคิดของ Hyperloop ไม่ใช่แค่การอำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยความเร็วสูง แต่ยังเป็นโอกาสของคนไทย ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) และโอกาสในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีของตัวเอง

คุณธนาธรเริ่มต้นบรรยายด้วยการยกตัวอย่างจำนวนประเทศที่ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศรายได้ปานกลาง ในปี 1960 มีจำนวน 101 ประเทศ ผ่านมา 50 ปี เหลือ 88 ประเทศ มีแค่ 13 ประเทศที่หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้

4 ประเทศในยุโรปที่หลุดจากกับดักคือ กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมสหภาพยุโรป ที่คนเดินทางเข้าหางานในสหภาพยุโรปได้อย่างเสรี อีก 2 ประเทศ เปอร์โตริโกและมอริเชียส เป็นหมู่เกาะเล็กทำรายได้จากการขุดเจาะน้ำมัน ส่วนอีก 6 ประเทศที่เหลือเป็นประเทศแถบเอเชียที่เราคุ้นเคยกันดีคือ อิสราเอล ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

หากเทียบระยะเวลาที่ประเทศต่างๆ ใช้ในการก้าวข้ามการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จะเห็นว่าประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ อเมริกา ใช้เวลานับร้อยปี แต่พอถึงยุคของประเทศฝั่งเอเชีย กลับสามารถใช้เวลาน้อยกว่ายุโรปและอเมริกามาก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ความมหัศจรรย์แห่งเอเชียตะวันออก" (East Asia Miracle)

ไม่ต้องเดินตามรอยใคร หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางด้วยยุทธศาสตร์ Path-Skipping

ประเทศแถบเอเชียข้างต้น สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้วิธีไม่ต้องเดินตามรอยประเทศตะวันตกไปเสียทุกก้าว จึงใช้เวลาน้อยกว่ามาก

ในสายวิชาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ มีแนวคิด "ห่านบิน" (flying geese model) ที่มองว่าสินค้าประเภทต่างๆ เริ่มถูกพัฒนาในประเทศที่มีรายได้สูงก่อน เมื่อมันผลิตได้แพร่หลาย ฐานการผลิตก็จะถูกย้ายไปยังประเทศที่ค่าแรงการผลิตต่ำกว่า เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบ catch-up industrialization หรือการพัฒนาแบบไล่กวด ประเทศที่มีรายได้สูงแล้วก็ต้องคิดค้นสินค้าและนวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูงพอจะผลักดันตัวเองขึ้นไปอีกขั้น โมเดลการพัฒนาแบบนี้เรียกว่าเป็นการเดินตามรอย (path-following)

ในไทยเองเราก็มีเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแนวทางเช่นนี้ ธนาธรเล่าถึงในสมัยเขายังเด็กเมืองไทยเองก็เคยเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่หลังจากนั้นไม่นานอุตสาหกรรมสิ่งทอก็ออกจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นเช่นศรีลังกา

ส่วนแนวทางการพัฒนาอีก 2 แบบที่เหลือคือ path-skipping หรือการเดินตามแบบข้ามจังหวะเป็นช่วงๆ ที่ช่วยลดระยะเวลาลงได้มาก และอีกทางคือ path-creating ที่เป็นการสร้างทางเดินของตัวเอง ซึ่งยากที่สุดในบรรดาแนวทางทั้งหมด

คุณธนาธรยกตัวอย่าง DRAM หน่วยเก็บความจำในยุค 90 เพดานสูงสุดอยู่ที่ 16 เมกะไบต์ แต่เกาหลีใต้คิดใหม่ ซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศและก้าวข้ามไปทำที่เพดานสูงสุด 32 เมกะไบต์เลย นี่คือ Path-Skipping แม้เป็นทางเลือกที่ยากและซับซ้อน แต่เป็นหนทางให้หลุดกับดักรายได้ปานกลางได้

การเปลี่ยนแปลงระดับจุลภาค ที่สามารถทำได้เองเลย

คุณธนาธรยกตัวอย่างบริษัทไทยซัมมิทที่ตนเคยเป็นผู้บริหาร ซึ่งเริ่มปรับวิธีการทำงานมาตั้งแต่ปี 2012-2013 โดยจำนวนพนักงานลดลง แต่ยอดขายกลับเพิ่มขึ้น เพราะพัฒนากระบวนการทำงานให้ productivity เพิ่มขึ้นแทน

สิ่งที่กลุ่มบริษัทไทยซัมมิททำคือปรับตัว นำเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มที่ ตอบสนองความต้องการของตลาดและทิศทางของโลก

ตัวอย่างการปรับตัวของไทยซัมมิท คือ การคิดค้นบอดี้รถที่มีน้ำหนักเบาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เป็นเสนอโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหา แทนการเสนอขายสินค้าตรงๆ ที่จะต้องลงไปสู้ในสงครามราคา และทำให้สัดส่วนกำไรลดลง แต่การเสนอโซลูชั่นให้ลูกค้าใช้ material ที่มีน้ำหนักเบา แต่รับแรงกระแทกมากขึ้นได้ เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า และดีกว่าในเชิงธุรกิจ

ไทยซัมมิทยังถือเป็นกลุ่มบริษัทที่มีหุ่นยนต์มากที่สุดในประเทศไทย คือ 1,765 ตัว มีการใช้ระบบ IoT เซนเซอร์เข้ามาในโรงงาน ตรวจจับข้อมูลการผลิตได้เรียลไทม์ มีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สามมิติขึ้นมาใช้เองในโรงงาน ไม่ต้องสั่งจากญี่ปุ่นอีกต่อไป เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดไทยซัมมิทพัฒนาขึ้นเองแบบ in-house เพราะไม่สามารถหาผู้ขายโซลูชั่นที่ตรงตามต้องการได้

ธนาธรชี้ว่าระบบอัตโนมัติในโรงงานเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังมีโรงงานในประเทศไทยอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึง หรือไม่ได้นำระบบอัตโนมัติมาใช้อย่างเต็มที่ ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสมหาศาลสำหรับใครก็ตามที่กำลังลงทุนด้านนี้ หรือบริษัทที่จะสามารถเป็น system provider ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้

การเปลี่ยนแปลงระดับมหภาค Hyperloop ที่ไทยสร้างเอง

ที่คุณธนาธรกล่าวมาข้างต้นเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับจุลภาค ในระดับขององค์กรตัวเอง แต่ถ้ามองสเกลในระดับประเทศ การพัฒนาเฉพาะจุดเล็กๆ คงไม่เพียงพอ ต้องมีกลยุทธ์ในการพาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างมีพลัง ไทยต้องสร้างอุตสาหกรรมที่ Path-Skipping ขึ้นมาให้ได้ และเขาเชื่อว่า Hyperloop ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมครั้งใหญ่

คุณธนาธรไม่ได้เน้นเรื่องเทคนิคของ Hyperloop เหมือนกับตอนแถลงข่าวเรื่องนี้ครั้งแรก แต่เน้นว่า Hyperloop จะให้อะไรกับคนไทยมากกว่า (หากต้องการรู้เรื่องเทคนิค สามารถอ่านย้อนหลังได้ที่นี่)

ในบางอุตสาหกรรมเราอาจยังต้องเลือก path-following อย่างเช่นกรณีรถไฟความเร็วสูง แต่การลงทุนรถไฟความเร็วสูงนั่นหมายถึงเม็ดเงินแสนล้าน ลงทุนในเทคโนโลยีที่ประเทศอื่นนำไปไกลแล้ว สุดท้าย เงินแสนล้านจะถูกนไปจ้างผู้ผลิตจากจีน ญี่ปุ่นมาทำงานให้เรา

แต่ถ้าเราหยุดการลงทุนความเร็วสูงไว้ก่อน หันมาทำรถไฟปัจจุบันให้เป็นรางคู่ ทำให้รถไฟวิ่งด้วยความเร็วปานกลาง 120 กม.ต่อชั่วโมงให้ได้ก่อน และหันไปลงทุนวิจัยสร้าง Hyperloop ล่วงหน้าไว้เลย และรอให้เทคโนโลยี Hyperloop มันเติบโตจนใช้งานได้จริง ไทยจะสามารถสร้าง Hyperloop เองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการซื้อเทคโนโลยีจากต่างชาติ

คุณธนาธรเชื่อว่าถ้าเริ่มลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ ในเวลา 10-12 ปี ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น Hyperloop ของไทยใช้งานได้จริง ซึ่งจะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมที่มีตัวเลขการจ้างงานคนไทย 180,000 ตำแหน่ง และเป็นงานที่หนีการไล่ล่าของเทคโนโลยีได้ทัน หรือถึงแม้ว่า ต่อให้ Hyperloop ของไทยใช้งานไม่ได้จริง ความรู้ที่ได้จากการลงทุนวิจัยจะนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน

คุณธนาธร มองไกลไปถึงการตั้งไทยเป็นแหล่งผลิต Hyperloop และวางตัวเองเป็นฮับของการเดินทางในอาเซียน โดยฮับที่มองไว้คือ พิษณุโลก ซึ่งเป็นจุดตัดของสี่แยกอินโดจีน

รัฐที่ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ เป็นต้นทุนมหาศาล

คุณธนาธรเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถพอในการที่จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง และนี่เป็นหนทางที่ช่วยให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้

เขาชี้ว่าการจะสร้างสิ่งใหม่ได้ ประเทศไทยต้องมีระบบนิเวศน์ 3 อย่างคือ

  • คนต้องกล้าเสี่ยง มีสวัสดิการในสังคมที่รองรับความผิดพลาดในการสร้างสิ่งใหม่ ให้อย่างน้อยคนแพ้ยังมีที่ยืน ให้คนกล้าคิดถึงโอกาสในระยะยาว
  • โอกาสต้องเปิด เราไม่สามารถสร้างสังคมที่ตอบโจทย์การพัฒนาต่อโลกหมุนเร็ว ถ้าไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ความหลากหลาย และการแข่งขัน
  • การปรับตัวของรัฐ รัฐที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง จะกลายเป็นต้นทุนมหาศาลของสังคมที่ต้องแข่งกับโลกหมุนเร็ว

คุณธนาธรปิดท้ายการบรรยายว่าประเทศไทยยังมีความหวังอยู่ โดยยกตัวอย่างกลุ่มนักศึกษาไทยที่กำลังสร้าง POD ในงานที่ อีลอน มัสก์ จัดการแข่งขันทุกปี และปีนี้เป็นปีแรกที่มีนักศึกษาไทยไปแข่งด้วย และเชื่อว่าพวกเขาสามารถทำได้ รวมทั้งยังมีความหวังว่าไทยจะไปไกลกว่านี้ได้ด้วย

สามารถดูคลิปบรรยายฉบับเต็มได้ด้านล่าง

Blognone Jobs Premium