AIS: 5G คือคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงใหญ่ระดับสึนามิ ธุรกิจควรตั้งรับให้ทัน

by blognonetomorrow
20 September 2019 - 07:31

หนึ่งในเทคโนโลยีที่งานสัมมนา Blognone Tomorrow 2019 ให้ความสำคัญคือ 5G ที่เป็นโอกาสสำคัญของการเติบโตในเทคโนโลยีอื่นๆ มากมายเช่น IoT, ระบบ Smart City, Smart Transportation และการดูแลรักษาความปลอดภัยต่างๆ

ในงาน Blognone Tomorrow ได้ คุณยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS มาเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีโทรคมนาคมจากยุคที่ 4 (4G) ไปยุคที่ 5 (5G) ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงในแง่ความเร็วของการรับส่งข้อมูล แต่ยังมีเรื่องของความหน่วงที่ต่ำ ซึ่งจะมีช่วยให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์ IoT และ Edge Computing ในหลากหลายรูปแบบ

The G to Rule Them All

คุณยงสิทธิ์ ระบุว่า 5G มาพร้อมกับแบนวิดธ์มหาศาล เราจะได้เห็นความเร็วสูงสุดที่ 20 Gbps ซึ่งมันเร็วกว่าที่เราเห็นในปัจจุบันมาก จำนวนอุปกรณ์จะเพิ่มขึ้นเป็นล้านจุดใน 1 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ 5G ยังมาพร้อมความหน่วงต่ำ หรือมีการตอบสนองเร็วมาก อาจเร็วถึง 1 ใน 1,000 วินาที จนแทบจะเรียกว่าไม่มีความหน่วงเลย

สิ่งที่ 5G จะสามารถทดแทนของเดิมได้คือ นำมาแทนอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ออพติกที่ใช้กันตามบ้านและสำนักงาน กล่าวคือเป็นการใช้ FWA (Fixed Wireless Access) นำ 5G มาเชื่อมต่อสัญญาณไฟเบอร์ และสายทองแดงของเดิม หมดปัญหาสายไฟรกรุงรัง สิ่งที่ตามมาคือเห็นสายไฟจะน้อยลงเยอะ

5G ยังทำให้การใช้งานรูปแบบ Mixed Reality, AR/VR ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ใช้การประมวลผลสูงทำงานได้ลื่นไหลขึ้น และสามารถใช้งานได้แบบไร้สายไม่ต้องมีเซิร์ฟเวอร์หรือสายต่อใดๆ

5G ยังมาพร้อมอุปกรณ์รองรับอีกมหาศาล กรณีที่เห็นได้ชัดคือ Smart City เพราะแค่ตึกเดียว ยังต้องติดเซนเซอร์ตรวจจับเป็นหลักหมื่นชิ้น ถ้าลองจินตนาการทั้งเมือง คุณยงสิทธิ์ระบุว่าคงต้องมีอุปกรณ์รองรับเป็นหลักล้านชิ้นต่อตางรางกิโลเมตรซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินความจริงแต่อย่างใด

ระบบ 5G ยังสามารถนำมาสนับสนุนและตรวจสอบการทำงานของระบบขนส่งท่าเรือ, อุตสาหกรรมพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้า ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ โรงกลั่นน้ำมัน โดยใช้อุปกรณ์ควบคุมติดตามการทำงานของระบบต่างๆ ภายในให้เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด คุณยงสิทธิ์ระบุว่า ตอนนี้ AIS ก็ได้ทดลองใช้อุปกรณ์ตรวจจับตามท่อก๊าซกับบริษัท ปตท. แล้ว

5G มาพร้อมความหน่วงต่ำ และการตอบสนองความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยให้นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดทางไกล รถไร้คนขับทางไกล, การใช้รีโมทควบคุมงานต่างๆ เช่น งานก่อสร้าง, การทำเหมือง, การใช้เครื่องจักรทำงานอันตราย เป็นต้น แต่การจะพัฒนาให้เป็นจริงได้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบ EDGE Computing ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ทำงานได้ใกล้กับจุดที่จะทำงานมากขึ้น ไม่ให้เกิดความหน่วง

5G ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง แต่ต้องสร้างระบบนิเวศน์ให้พร้อมสำหรับ 5G

คุณยงสิทธิ์กล่าวว่า เราต้องเตรียมสร้างระบบนิเวศน์ให้พร้อมสำหรับ 5G เพื่อให้การใช้งานทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ คลาวด์เป็นส่วนสำคัญสำหรับ 5G มาก เราไม่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์แล้วนำไปใส่ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ความฉลาดและความสามารถต่างๆของซอฟต์แวร์ จะอยู่บนคลาวด์แทน ซึ่งในคลาวด์ก็จะมี Big Data, AI ระบบประมวลผลต่างๆ ให้สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้งานได้

5G จะเป็นท่อใหญ่ตรงกลางที่เชื่อมความสามารถบนคลาวด์ ไปยังอุปกรณ์ที่จะรองรับอีกจำนวนมหาศาล มันจะกลายเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมด

ความสามารถของ 5G นำมาจาก 3 แหล่งใหญ่คือ

  • Low-band คือย่านที่คลื่นความถี่ต่ำกว่า 1GHz ราว 700 - 900 MHz
  • Mid-band อยู่ในช่วง 2-3 GHz ราว 1800 - 3500 MHz
  • High-band อยู่ในช่วง 20 - กว่า 30 GHz

แต่ละย่านความถี่ มีความสามารถต่างกัน ยิ่งความถี่ต่ำ สัญญาณยิ่งไปได้ไกลแต่ละย่านก็มีความสามารถในการทะลุทะลวงต่างกัน

High-band เป็นคลื่นใหม่ เพิ่มแบนวิดธ์การบริการได้อย่างมหาศาลซึ่งบางประเทศก็เริ่มเปิดประมูลคลื่นความถี่นี้กันแล้ว

ส่วนในประเทศไทย การมี 5G เกิดขึ้นเท่ากับมีย่านความถี่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา (New Radio) ดังเช่นที่เห็นในรูปภาพด้านขวามือถือ ส่วนสีฟ้าสว่าง 26GHz สีเทา 28 GHz และ สีฟ้า 3.4 GHz เป็นความถี่ที่ให้แบนวิดธ์สูง แต่ละโอเปอเรเตอร์สามารถมาใช้ได้โดยไม่ต้องไปเบียดใช้งานอยู่ในย่านความถี่ที่มีมาตั้งแต่เดิม

5G จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2023

คุณยงสิทธิ์ระบุว่า ปีที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการใช้งาน 5G คือ ปี 2023 คาดการณ์ว่าจะเป็นการใช้งาน 5G ทดแทน 4G อย่างจริงจัง แต่ไม่ได้หมายความว่า 4G จะหายไป เพราะยังสามารถใช้งานคู่กันได้ต่อไปอีกยาวนาน เพราะยังมีอุปกรณ์รองรับเยอะ

จีนจะเป็นผู้นำของโลกในการใช้งาน 5G ตามมาด้วยอเมริกา และบางประเทศในยุโรป ส่วนในไทยก็มีการคาดการณ์กันว่า จะมีสัดส่วนการใช้งาน 5G เป็น 30% ของการใช้งานทั้งหมด

ในแง่ของอุปกรณ์ ก็จะมีการเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามารองรับอีกจำนวนมาก เช่น กลุ่มอุปกรณ์ CPE (Customer Premises Equipment ) เช่น เราเตอร์, อุปกรณ์ถ่ายทอดสัญญาณ อีกกลุ่มคือ wearable เช่น AR, VR กลุ่มที่สามคือ อุปกรณ์ IoT ต่างๆ ซึ่งผู้นำการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ก็หนีไม่พ้น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

5G จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2035 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 5G จะมีมูลค่าถึง 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีคนเกี่ยวข้อง 22 ล้านคน มีผลผลิต 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3% ต่อปีทั่วโลก ถือเป็นการเติบโตที่สูงมาก

แนวทางของ AIS ที่มีต่อ 5G

AIS เองถือเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่ลงทุนในอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปยังปี 2017 ทาง AIS ได้พัฒนา Next G หรือการนำ 4G ผสานกับ AIS Super Wi-Fi ที่ให้ความเร็วสูงระดับ 1Gbps ต่อมาได้สร้าง AIAP ความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนา IoT ทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกัน , เปิดตัวเครือข่าย NB-IoT ร่วมมือกับพันธมิตรทดสอบ 5G เป็นต้น

ในปี 2019 บริษัท AIS ก็ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาให้การพัฒนา 5G เกิดขึ้นได้จริงในระดับแนวดิ่งของแต่ละอุตสาหกรรม, เปิดตัว Next G+ ที่สามารถให้บริการความเร็ว 18 Gbps ถือเป็นการทดลองประสบการณ์ใช้งานจริงบน 5G ให้บริการในบางจุดก่อน อีกตัวอย่างสำคัญที่ AIS ทำให้เกิดขึ้นแล้วคือ ร่วมมือกับ กสทช. และ ม. สงขลานครินทร์ ทดลองใช้ 5G ควบคุมรถไร้คนขับจากระยะไกล โดยขับรถผ่านหน้าจอและอุปกรณ์ที่กรุงเทพแต่ควบคุมรถจริงที่วิ่งอยู่หาดใหญ่

คุณยงสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า 4G เป็นเพียงคลื่นลูกแรกของผลกระทบต่อธุรกิจ หรือ digital disruption แต่ 5G จะเป็นคลื่นสึนามิ ซึ่งมันกำลังจะมาถึงในอีก 2-3 ปี การเตรียมพร้อมรับมือสามารถทำได้เลยตั้งแต่ยุค 4G เมื่อ 5G มาถึง เราจะสามารถต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วไปยัง 5G ได้เลย

Blognone Jobs Premium