อดีตผู้บริหาร Tepco พ้นผิดจากข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ

by ตะโร่งโต้ง
22 September 2019 - 19:41

อดีตผู้บริหาร 3 รายของ Tepco (Tokyo Electric Power Company Holdings Inc.) ถูกตัดสินให้พ้นผิดจากข้อกล่าวหาเรื่องการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ จากเหตุการณ์ที่สารกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อปี 2011 จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องย้ายออกจากพื้นที่อันตรายจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

ในวันที่ 11 มีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด นอกชายฝั่งญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าสู่ชายฝั่ง โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของ Tepco เองก็เป็นหนึ่งในพิ้นที่ที่โดนคลื่นสึนามิซัดเข้าใส่สร้างความเสียหายจนทำให้ระบบหล่อเย็นของเครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องหยุดทำงาน ส่งผลให้เกิดการหลอมละลายและมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่ภายนอกโรงไฟฟ้า

จากเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งมีผู้เสียชีวิต 44 ราย และได้รับบาดเจ็บสาหัส 13 ราย ทั้งยังมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิมที่อยู่ในพื้นที่อันตรายจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยมีผู้อพยพมากกว่า 10,000 รายได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าชดเชยจาก Tepco และภาครัฐรวมกันมากกว่า 30 คดี ซึ่งศาลแขวงหลายศาลก็ตัดสินให้มีการชดเชยโดยระบุว่า Tepco ควรมีมาตรการป้องกันเหตุฉุกเฉินที่รัดกุมยิ่งกว่านี้และป้องกันการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีได้

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาคดีล่าสุดนี้ เป็นการพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีการตั้งข้อหาผู้บริหารของ Tepco เป็นรายบุคคล (แตกต่างจากคดีแพ่งที่พิจารณาคดีนี้โดยให้ Tepco แสดงความรับผิดชอบในนามบริษัท) โดยฝั่งอัยการยื่นฟ้องให้เอาผิด 3 อดีตผู้บริหารของ Tepco อันได้แก่ Tsunehisa Katsumata (อายุ 79 ปี) อดีตประธานบริหาร Tepco กับ 2 รองประธาน Ichiro Takekuro (อายุ 73 ปี) และ Sakae Muto (อายุ 69 ปี)

ศาลแขวงโตเกียวพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่บรรดาอดีตผู้บริหาร Tepco จะล่วงรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะมีแผ่นดินไหวจนเกิดคลื่นสึนามิซัดเข้าสร้างความเสียหายให้แก่โรงไฟฟ้า โดยฝั่งจำเลยทั้ง 3 อ้างว่าไม่เพียงแต่พวกเขาจะไม่มีทางพยากรณ์ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิได้เท่านั้น ทว่าต่อให้ก่อนหน้านี้มีการเพิ่มมาตรการเชิงป้องกันให้แก่โรงไฟฟ้า แต่ด้วยความรุนแรงของคลื่นที่พัดเข้าใส่โรงไฟฟ้าในครั้งนี้ก็ย่อมก่อให้เกิดการหลอมละลายของเครื่องปฏิกรณ์อยู่ดี

อย่างไรก็ตามฝั่งอัยการนั้นมองว่าทาง Tepco ควรจะประเมินความเสี่ยงได้ว่าจะมีคลื่นสึนามิสูงขนาดไหนซัดเข้าใส่โรงไฟฟ้าและวางแผนป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ได้ และเห็นว่าควรเอาผิดผู้บริหารทั้ง 3 รายของ Tepco ในทางอาญา โดยในระหว่างการไต่สวนได้มีการเผยแพร่รายงานคณะกรรมการของรัฐบาลจากปี 2002 ซึ่งอ้างอิงผลการศึกษาของ Tepco เอง ที่มีการสรุปว่าหากมีแผ่นดินไหวขนาด 8.3 แมกนิจูด เกิดขึ้น อาจจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 15.7 เมตร ซัดเข้าใส่โรงไฟฟ้า ซึ่งขนาดคลื่นจากการคำนวณดังกล่าวนั้นสูงกว่าระดับพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์หลักของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะที่อยู่สูง 10 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปกติ ซึ่งความสูงของคลื่นที่เกิดขึ้นจริงในปี 2011 นั้นก็มีความสูง 13 - 15 เมตร โถมเข้าใส่พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์จริงตามที่เคยมีการศึกษาประเมินไว้

ทั้งนี้มีบันทึกของหนึ่งในผู้บริหารของ Tepco ยืนยันว่าผลการศึกษาเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับคลื่นสึนามิที่ว่านี้ถูกรายงานต่อคณะผู้บริหารของ Tepco ไปแล้วในปี 2008 ทว่าผู้บริหารเจ้าของบันทึกดังกล่าวระบุว่าแผนพัฒนามาตรการป้องกันคลื่นสึนามิในระดับนั้นถูกคัดค้านและเลื่อนออกไปโดยหัวหน้าของเขาเอง

หลังมีคำตัดสินออกมาให้ 3 อดีตผู้บริหาร Tepco พ้นผิดในคดีอาญานี้ ทางฝั่งอัยการก็เตรียมพิจารณาเรื่องการยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป โดยให้ความเห็นว่าแม้เหล่าอดีตผู้บริหารจะไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวและมีคลื่นยักษ์ซัดเข้าใส่โรงไฟฟ้าเมื่อไหร่ แต่การศึกษาความเสี่ยงจนพบว่าอาจมีคลื่นสูงกว่า 15 เมตร พัดเข้าสร้างความเสียหายต่อโรงไฟฟ้าได้แล้วกลับไม่สร้างมาตรการป้องกันนั้นสมควรถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

ที่มา - The Japan Times

Blognone Jobs Premium