ถอดบทเรียน Deva Farm การทำสมาร์ทฟาร์มกับข้อจำกัดที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้

by nismod
7 October 2019 - 06:06

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาการมาถึงของ Internet of Things ไปจนถึงเครือข่ายอย่าง NB-IoT, eMTC และเร็ว ๆ นี้กับ 5G ทำให้การพูดถึงการประยุกต์ IoT ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มเห็นกันได้มากขึ้น และด้วยความที่บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แนวคิดการนำ IoT มาใช้งานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในแง่การลดต้นทุนและเพื่อทำการเกษตรแม่นยำสูง (precision agriculture) เลยถูกพูดถึงกันค่อนข้างมาก

Deva Farm ฟาร์มฮอปส์แห่งแรกในไทยเป็นอีกหนึ่งฟาร์มที่นำ IoT มาใช้งาน ด้วยความที่เจ้าของฟาร์มเป็นอดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ เลยลองมาหมดแล้วตั้งแต่ทำฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์เอง จนถึงซื้อฮาร์ดแวร์สำเร็จรูปมาใช้งาน ในภาพรวมการทำสมาร์ทฟาร์มอาจจะคุ้มกว่าการทำฟาร์มแบบเดิมในระยะยาว แต่ทว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เกษตรกรที่ไหนจะสามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะต้องใช้องค์กรความรู้หลายส่วนประกอบกัน

รู้จัก Deva Farm ฟาร์มฮอปส์แห่งแรกของไทยจากอดีตวิศวกรซอฟต์แวร์

วงการคราฟท์เบียร์ในบ้านเราในปัจจุบันเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่มีผู้ผลิตเบียร์รายย่อยสัญชาติไทยมากขึ้น แต่ละเจ้าก็มีสูตรมีช่องทางหาวัตถุดิบของตัวเอง โดยวัตถุดิบดั้งเดิม (traditional) ของการหมักเบียร์มี 4 วัตถุดิบพื้นฐานได้แก่ มอลต์, ยีสต์, น้ำและฮอปส์ ซึ่งที่ผ่านมาวัตถุ 3 อย่างแรกสามารถหาได้ในไทย ยกเว้นฮอปส์ ที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

Deva Farm ผู้ผลิตคราฟเบียรืไทยแบรนด์เทพพนม (Devanom) นับเป็นรายแรกที่เริ่มต้นการปลูกฮอปส์ในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย ที่น่าสนใจคือใช้ฟาร์มปลูกฮอปส์ของ Deva Farm เป็นสมาร์ทฟาร์ม ใช้คนดูแลน้อยมาก และใช้เซ็นเซอร์และระบบอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่

คุณอ๊อบ ณัฐชัย และ คุณอาร์ต ธีรภัทร อึ๊งศรีวงศ์ สองพี่น้องเจ้าของ Deva Farm เล่าให้ฟังว่าเดิมทั้งสองคนเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทที่ทำแอปมือถือมานานถึงกว่า 14 ปี และด้วยความที่เป็นคนชอบดื่มแอลกอฮอล์ เลยมีโอกาสได้ไปเรียนต้มเบียร์ ก่อนจะมีความคิดลองซื้อสายพันธุ์ฮอปส์มาปลูกในไทย ซึ่งเดิมทั้งคุณอ๊อบและคุณอาร์ตปลูกผักแบบไฮโดรโพนิก (ปลูกแบบไม่มีดิน) อยู่แล้วด้วย

ช่วงแรก ๆ ทั้งสองคนคิดแค่จะปลูกเล่น ๆ เพราะฮอปส์เป็นพืชเมืองหนาว ไม่คิดว่าจะรอด แต่ปลูกไปปลูกมากลับออกดอกแล้วกลิ่นใช้ได้ พอจะทำเบียร์ได้ ประกอบกับบริษัทที่ทำอยู่กำลังจะปิดพอดี เลยเริ่มเห็นโอกาสว่าสามารถปลูกเป็นฟาร์มและต่อยอดทางธุรกิจได้ เพราะตอนนั้นราวปี 2014-2015 ยังไม่มีใครปลูกเป็นฟาร์มอย่างจริงจัง

คุณอ๊อบ ณัฐชัย (ซ้าย), คุณอาร์ต ธีรภัทร (ขวา)

พื้นที่ของ Deva Farm มีประมาณ 4 ไร่ ปลูกฮอปส์ไปทั้งหมด 2 ไร่ 5 โรงเรือน พื้นที่ราว 150 ตารางเมตร มีคนงานอยู่ 4 คนและผู้จัดการที่ช่วยดูแลทั้งหมดอีก 1 คน โดยสายพันธุ์ที่ปลูกเป็นสายพันธุ์จากอเมริกาทั้งหมด แต่คุณอ๊อบก็บอกด้วยว่าปัจจุบันกำลังพัฒนาสายพันธุ์ของตัวเองอยู่ในฟาร์ม และตอนนี้มีเบียร์เทพพนมก็ใช้ฮอปส์ที่ปลูกเองผสมเข้าไปกับที่นำเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ฟาร์มฮอปส์ที่แทบไม่ต้องใช้คน

อย่างที่เกริ่นไปว่า Deva Farm เป็นสมาร์ทฟาร์ม ใช้ระบบอัตโนมัติเสียส่วนใหญ่ ในช่วงแรก ๆ ฮาร์ดแวร์ทำเองเกือบทั้งหมด ซอฟต์แวร์ก็เขียนเอง ลองผิดลองถูกและเปลี่ยนโซลูชันไปเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบันกว่า 90% ฮาร์ดแวร์ซื้อแบบสำเร็จรูปมา เขียนต่อจาก API เอา ถ้าไม่มี API ก็แฮ็กให้ซอฟต์แวร์ที่เป็น Command Center สามารถดึงโปรโตคอลมาใช้และสั่งงานได้

อุปกรณ์ IoT หลัก ๆ ในฟาร์มก็มีตัววัดอุณหภูมิ วัดความชื้น วัดความเข้มแสง ความเร็วลม น้ำฝน วัดปุ๋ยและความชื้นในกระถาง

เซ็นเซอร์วัดความชื้นในกระถาง

การทำงานหลัก ๆ ก็คือถ้าอุณหภูมิในโรงเรือนสูงไปกว่าที่กำหนดไว้และแดดออก เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ก็ไปสั่งเปิดระบบพ่นหมอกน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิ โดยจะกำหนดด้วยว่าอุณหภูมิสูงแค่ไหน ควรพ่นหมอกกี่นาที ใช้แค่คำสั่ง if..else ธรรมดา

และระบบปุ๋ย ที่จะดึงเอาปุ๋ยสูตร A และสูตร B มาผสมกันให้อัตโนมัติ โดยอิงจากค่าที่เซ็นเซอร์วัดได้ในโรงเรือนและกำหนดเป็นเงื่อนไขในการให้ปุ๋ยสูตรที่แตกต่างกันไป เช่น อากาศร้อน ฮอปส์จะดูดน้ำมาก ก็จะให้ปุ๋ยที่มีความเข้มต่ำ ๆ แต่ถ้าอากาศชื้น ฮอปส์จะไม่ค่อยดูดน้ำ ก็จะให้ปุ๋ยที่มีความเข้มข้นสูง ก่อนที่เซ็นเซอร์ในกระถางจะตรวจสอบอีกครั้งว่า ปุ๋ยที่ให้ไปค่าความเข้ม ค่า pH ตรงกับที่ตั้งเอาไว้หรือไม่

สำหรับซอฟต์แวร์กลางที่ควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมด คุณอ๊อบบอกว่าเขียนขึ้นมาเองด้วย Python รันอยู่บนลินุกซ์ เชื่อมกับอุปกรณ์ผ่าน IoT ต่าง ๆ ผ่าน API เก็บข้อมูลเอาไว้บน MongoDB หรือ Redis ถ้าบางตัวไม่มี API ก็ต้องพยายามหาทางดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์มาให้ได้ อย่างเช่นเซ็นเซอร์วัดสภาพอากาศที่ซื้อมาจากจีน จะส่งข้อมูลกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ของมันเอง คุณอ๊อบก็ต้องจำลองเซิร์ฟเวอร์ให้มันยิงมาแทน หรือเซ็นเซอร์วัดฝุ่นของ Xiaomi ที่มีคนทำไลบรารี API เอาไว้อยู่แล้ว ก็ไปเอามาใช้งาน เป็นต้น และแสดงผลผ่านแดชบอร์ดของ Grafana

ด้วยความที่ระบบดูแลฮอปส์ทั้งหมดเป็นระบบอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้คนควบคุม หน้าที่ของคนงานก็มีแค่ดูภาพรวมในฟาร์ม แก้ปัญหาหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในกรณีที่พัง ไปจนถึงเรื่องการย้ายกระถาง แก้ปัญหาแมลง หรือต้นที่มีปัญหา ก็จะคอยถ่ายรูปลง Evernote และ Google Sheet เก็บเป็น log ติดตามการแก้ปัญหา

ส่วนเครือข่าย IoT ภายในฟาร์มมีการใช้ NB-IoT ของ AIS ร่วมกับ Wi-Fi และคลื่น RF433 MHz

สมาร์ทฟาร์มทำแล้วคุ้มกว่า แต่ไม่ใช่ว่าใครจะทำก็ได้

คุณอ๊อบบอกว่าการทำสมาร์ทฟาร์มแบบนี้ ถ้าเป็นฟาร์มผักสลัดหรือผักผลไม้ทั่วไปที่เราทาน จะค่อนข้างคุ้ม เพราะต้นทุนไม่ได้แพงเกินไป ผักใช้ระยะเวลาไม่นาน ผลที่ได้ก็ค่อนข้างแม่นยำ แปปเดียวก็เก็บขายได้แล้ว ตลาดก็มีรองรับแถมใหญ่ด้วย แต่ด้วยความทีฮอปส์ใช้ระยะเวลานานในการปลูก และตลาดเล็กกว่า อาจไม่ค่อยคุ้มนักในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว Deva Farm มีแผนจะใช้งานฮอปส์ที่ปลูก ไม่เพียงแต่ในคราฟเบียร์ของตัวเอง แต่รวมถึงขายทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตามแม้สมาร์ทฟาร์มจะทำแล้วช่วยลดต้นทุน ลดความยุ่งยาก แต่เอาเข้าจริงแล้วใช่กว่าเกษตรกรที่ไหนจะสามารถมาทำได้ เพราะคุณอ๊อบบอกว่าจำเป็นต้องมีความรู้ด้านวิศวกรรม ด้านไฟฟ้าไปจนถึงด้านโปรแกรมมิ่ง เพราะระบบควบคุมมีปัญหาง่ายโดยเฉพาะจากความร้อน ที่ทำให้เซ็นเซอร์ต่าง ๆ พังง่าย และต้องมีคนคอยมอนิเตอร์ระบบอยู่ตลอดเวลา มีปัญหาต้องให้แก้ตลอดและรอนานไม่ได้ด้วย เพราะอาจส่งผลต่อผลผลิตทั้งฟาร์ม ขณะที่โซลูชันแบบสำเร็จรูปก็มี แต่แพงมาก คนที่ทำแล้วคุ้มก็อาจจะมีแต่ไม่ค่อยเยอะ

สรุปก็คือคนที่พอมีความรู้ พอสามารถแก้ปัญหาด้านเทคนิคกับอุปกรณ์และโซลูชัน IoT เหล่านี้ได้ แล้วมาทำสมาร์ทฟาร์ม จะค่อนข้างได้เปรียบกว่า ขณะที่หากเป็นเกษตรกรมาแต่เดิมแล้วอยากทำสมาร์ทฟาร์ม ก็อาจจะต้องใช้ความพยายามในการหาความรู้และทำความเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้ รวมถึงอาจต้องพึ่งคนใกล้ชิด ลูกหลานคนรุ่นใหม่หน่อยให้เข้ามาช่วยดูแลแบบเต็มเวลา นอกเสียจากว่ามีเงินทุนมากพอ

Blognone Jobs Premium