การอัพเดตเวอร์ชันเป็นปัญหาใหญ่ของโลก Android มาโดยตลอด ฝั่งกูเกิลเองก็พยายามแก้ปัญหานี้ด้วย Project Treble ตอน Android 8.0 Oreo ที่แยกชั้นของฮาร์ดแวร์ออกจากตัว OS
กูเกิลบอกว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้เวลานาน 2-3 ปี เพราะต้องรอฮาร์ดแวร์ที่มี Treble (เริ่มใช้กับอุปกรณ์ที่มาพร้อม Android 8.0 ขึ้นไป) ออกสู่ตลาดกันก่อน มาถึงตอนนี้ Treble ออกมาแล้ว 2 ปีเต็ม ผ่านการอัพเกรดเวอร์ชัน OS ใหญ่ 2 รอบ (Android Pie และ Android 10) กูเกิลก็สรุปสถิติมาให้ดูกัน
สถิติตัวแรกคือจำนวนผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่เข้าร่วม Android Beta Program ทดสอบรอมรุ่นเบต้า รอบของ Android 9 มีผู้เข้าร่วม 7 บริษัท (ไม่นับรวม Pixel) แต่พอมาถึงรอบ Android 10 จำนวนเพิ่มเป็น 12 บริษัทแล้ว แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็กระตือรือร้นที่จะอัพเกรดรอมให้เร็วขึ้น
สถิติตัวต่อมาคือตัวเวอร์ชันของ OS ที่ผู้ใช้ได้ใช้จริงๆ กูเกิลใช้วิธีวัดตามจำนวนวัน (days since launch) นับจากออกระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่
ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า Project Treble เริ่มได้ผล เพราะอุปกรณ์ที่ได้อัพเกรดเป็น Android 9 มีสัดส่วนเยอะกว่ามาก เทียบกับช่วงเวลาเท่ากัน
กูเกิลยังบอกว่ามีโครงการอื่นๆ ที่ช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อัพเกรดเวอร์ชัน OS เร็วขึ้นอีก เช่น จับมือกับผู้ผลิต SoC โดยตรง, จัดระเบียบอินเทอร์เฟซของเคอร์เนล Android Linux, เพิ่มตัวทดสอบ Treble ในชุดทดสอบ Vendor Test Suite (VTS)
โครงการเหล่านี้ช่วยให้การอัพเกรดจาก Android 9 เป็น Android 10 เร็วขึ้นอีก ซึ่งปีนี้เราเห็น Xiaomi และ Essentials ปล่อยอัพเดต Android 10 วันเดียวกับกูเกิล ส่วน OnePlus ก็ตามมาหลังจากนั้นไม่กี่วัน และ HMD Global ก็เริ่มปล่อยอัพเดตแล้ว รวมถึงผู้ผลิตอีกหลายรายที่เตรียมปล่อยอัพเดต Android 10 ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ Android 10 ยังมี Project Mainline ที่ปรับสถาปัตยกรรมของ Android เพื่อให้กูเกิลสามารถอัพเดต "บางส่วน" ของ OS ได้ผ่าน Play Store โดยตรงอีกด้วย โดยเฉพาะการออกแพตช์ความปลอดภัยที่จะทำได้เร็วขึ้นมาก
ที่มา - Android Developers Blog