สรุปรีวิว Pixel 4 ดีกว่า Pixel 3 ชัดเจน Soli radar คือนวัตกรรม แต่แบตเป็นจุดอ่อนใหญ่

by hinatasenjou
24 October 2019 - 10:22

จุดเด่นของ Google Pixel รุ่นที่ผ่าน ๆ มาที่หลายคนให้การยอมรับ ไม่ว่าจะกล้องที่ประมวลผลภาพออกมาได้น่าประทับใจ ได้อัพเดตระบบปฏิบัติการต่อเนื่อง 3 ปีและยังมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะปีนี้ที่กูเกิลนำ Project Soli ที่ซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2015 มาติดตั้งให้เป็นครั้งแรกและเรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างดี มีกล้องเทเลโฟโต้รวมทั้งผ่านมาตรฐานการกันน้ำและฝุ่นระดับ IP68 แล้ว

บทความนี้เป็นการรวบรวมรีวิวจากสื่อต่างประเทศได้แก่ TechCrunch, Android Authority, The Verge, CNET, WIRED และ Engadget ที่ได้เครื่อง Google Pixel 4 ไปทดสอบ

ตัวเครื่อง, ดีไซน์และการปลดล็อคใบหน้า

ตัวเครื่องของ Pixel 4 ถูกปรับดีไซน์ไปบ้าง คือขอบตัวเครื่องเป็นรางอะลูมิเนียมรอบตัว แต่ยังประกบหน้าหลังเครื่องด้วยกระจก Gorilla Glass 5 เหมือน Pixel 3 มีสีให้เลือกได้สามสีคือสีดำเนื้อมันวาว ส่วนสีขาวและสีใหม่อย่างสีส้ม Oh So Orange จะเป็นกระจกเคลือบเนื้อด้าน (matte) สื่อเช่น The Verge เห็นว่ากระจกเนื้อด้านช่วยให้จับถนัดมือขึ้นกว่ารุ่นก่อนมาก

กล้องหน้าติ่งขนาดใหญ่ของ Pixel 3 XL เปลี่ยนเป็นขอบบนที่หนาขึ้น ติดตั้งเซนเซอร์ Soli radar เอาไว้ใช้ควบคุมด้วยท่าทางและใช้ระบบปลดล็อคใบหน้าแทน เรื่องนี้เสียงแตกเป็นสองทาง มีทั้งฝ่ายที่ชอบเพราะไม่มีติ่งกล้องหน้ามากวนใจ และฝ่ายที่ไม่ชอบเพราะขอบหนาไป แต่หลายสื่อเห็นว่าการเปลี่ยนมาใช้ระบบสแกนใบหน้าแทนการสแกนลายนิ้วมือที่ใช้มาสามรุ่นแล้ว เป็นการตัดสินใจที่ดี

หน้าจอของ Google Pixel 4 มีขนาด 5.7 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ (2,280 x 1,080 พิกเซล) ส่วน 4 XL จะขยายขึ้นเป็น Quad HD+ (3,040 x 1,440 พิกเซล) เป็นจอ OLED ทั้งคู่และหน้าจอเป็นแบบ 90 Hz ที่แสดงผลได้ลื่นตาและเลือกเปิดปิดได้เช่นเดียวกับที่ OnePlus ใช้กับสมาร์ทโฟนของตัวเอง

ทว่า CNET, Engadget และ Android Authority กล่าวตรงกัน คือหน้าจอ 90 Hz จะทำงานกับแอพที่รองรับเท่านั้น นอกจากนี้ยังถูกล็อคการทำงานเอาไว้เมื่อเปิดความสว่างจอสูงสุดอีกด้วยก็เป็นอีกจุดที่สื่อหลายค่ายคิดว่าควรปรับปรุงเพิ่ม

ภาพจากข่าวเก่า

The Verge พบว่าการสแกนใบหน้าด้วยกล้อง IR กับ IR dot projector ทำงานคล้ายกับระบบของ Face ID ของ iPhone คือใช้อินฟราเรดสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อคเครื่อง และไม่เกิดปัญหาปลดล็อคด้วยภาพถ่ายแบบแอนดรอยด์ของผู้ผลิตรายอื่น แต่ระบบปลดล็อคใบหน้าก็ยังมีปัญหาการปลดล็อคแม้จะหลับตาอยู่ ซึ่งต้องรอการอัพเดตจากกูเกิลไปก่อน

นอกจากปลดล็อคใบหน้า สื่อหลายเจ้ารวมทั้ง Linus Tech Tips กล่าวว่า Soli เป็นนวัตกรรม เพราะเพิ่มความสะดวกในหลายโอกาสไม่ว่าจะปัดเพื่อปิดเสียงตอนประชุม, ดับเสียงปลุก, เปลี่ยนเพลงของแอพฟังเพลงและอื่น ๆ ถือเป็นกิมมิคที่น่าสนใจมากและน่าจะต่อยอดได้ในอนาคต

ส่วนข้อจำกัดของ Soli radar ในตอนนี้ยังมีหลายอย่างและยังไม่เสถียร เช่น ถ้าปัดไม่ได้ระยะไม่ว่าจะห่างเกิน, เร็วไปหรือแม้แต่ผิดจังหวะก็จะไม่ทำงานหรือทำงานผิดพลาดได้ ซึ่งสื่อหลายสำนักคาดหวังว่ากูเกิลจะปรับแต่งให้ดีขึ้นตอนอัพเดตซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นใหม่ ๆ มาให้

แบตเตอรี

แบตเตอรีของ Google Pixel 4 จะอยู่ที่ 2,800 mAh และเพิ่มเป็น 3,700 mAh ในรุ่น XL โดย Android Authority ทดสอบแล้วเห็นว่ายังไม่น่าประทับใจเช่นเดิมและไม่มีทางใช้งานได้จบวันอีกด้วย โดยเวลาที่ใช้หน้าจอของ Pixel 4 จะอยู่ราว 4 ชั่วโมง 15 นาทีและรุ่น XL จะเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ต้นเหตุเป็นเพราะหน้าจอ 90Hz กับ Soli radar ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรีเยอะ ทำให้แบตเตอรีของ Pixel 4 ใช้ได้ไม่นาน จนเป็นจุดอ่อนใหญ่ที่ผู้ใช้ควรพิจารณาถ้าคิดจะเป็นเจ้าของ

ระบบชาร์จไฟของ Google Pixel 4 รองรับแค่ 18W เท่านั้น รองรับชาร์จไร้สายที่ 10W และใช้กับแท่นชาร์จ Pixel Stand ได้ แต่ทาง Android Authority เห็นว่าระบบชาร์จไวของ Pixel 4 ด้อยกว่าคู่แข่ง เพราะสมาร์ทโฟนเรือธงหลายรุ่นรองรับระบบชาร์จไวระดับ 25W ขึ้นไปและบางรุ่นยังใช้เครื่องเป็นแท่นชาร์จ (reverse wireless charging) ให้อุปกรณ์อื่นได้ด้วย

กล้อง

กล้องของ Pixel 4ถ่ายภาพได้สวยเหมือนรุ่นที่แล้ว และยิ่งได้เลนส์เทเลโฟโต้ก็ช่วยให้ภาพ Portrait สวยและคม เก็บรายละเอียดเส้นผมได้สวยขึ้นกว่ารุ่นก่อน ส่วนฟังก์ชั่น Live HDR ทำให้เราสามารถเห็นภาพหลังที่กล้องประมวลผลเสร็จแล้วก่อนถ่าย ทำให้เรารู้ว่าภาพที่ได้เป็นอย่างไร แต่มีข้อสังเกตว่าโหมดนี้จะทำงานอัตโนมัติและเลือกปิดไม่ได้

สำหรับ Dual Exposure ที่ให้ผู้ใช้ปรับเพิ่มลดแสง, เงาและไฮไลท์ได้ ก็ทำให้การถ่ายภาพสะดวกยิ่งขึ้น

TechCrunch บอกว่าปล่อยหน้าที่ประมวลผลภาพให้ Pixel 4 จัดการ ส่วนเราถือเครื่องแล้วกดชัตเตอร์พอ (ส่วน DSLR ปล่อยให้อยู่บ้าน) ฟีเจอร์การซูม 8X ที่ทาง The Verge ทดสอบก็ไม่ถือว่าแย่และซอฟต์แวร์ก็เติมรายละเอียดให้คมใช้ได้เช่นกัน แต่หลายสื่อเห็นว่าถ้าเลือกได้อยากได้กล้อง wide-angle มากกว่า โดยเฉพาะทีมงาน Android Authority ที่ขอยอมแลกเลนส์เทเลโฟโต้กับกล้อง wide-angle ถ้าเป็นไปได้อยากให้เพิ่มมาใน Pixel รุ่นต่อไป

โหมดถ่ายดาว (Astrophotography) ที่เป็นจุดเด่นของ Pixel 4 ถ้าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นต้องใช้งานโหมด Pro หรือกล้อง DSLR และเอาภาพมาแต่งในโปรแกรมแต่งภาพต่อ แต่ Pixel 4 สามารถถ่ายได้เลย แต่ต้องพึ่งขาตั้งกล้องกับความอดทนมากและพื้นที่ที่มืดสนิทจริง ๆ ถึงจะใช้งานได้

เรื่องวิดีโอถ้าเป็นระดับ 1080p ถ่ายได้ดีไม่มีปัญหา มี OIS, EIS ทำให้ภาพที่ถ่ายได้นิ่งคม แต่ที่ถ่าย 4K ได้แค่ 30fps ไม่เป็น 60fps แบบที่เรือธง Android หลายรุ่นทำได้

เรื่องของเสียง Android Authority บอกว่า Pixel 4 จะไม่มีตัวแปลง USB-C เป็นช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร แต่ดีที่รับ SBC, AAC, aptX, aptXHD, และ LDAC codecs แต่กลับไม่รองรับ aptX Adaptive ส่วนลำโพงได้รับคำชมว่าเสียงแหลม, เบสทำได้ดีกว่า Pixel 3 อย่างชัดเจนและตอนเปิดเสียงดังก็ไม่เกิดปัญหาอีกด้วย

ราคาและความคุ้มค่า

ราคาของ Pixel 4 รุ่น 64GB, 128GB ถูกนำไปเปรียบเทียบกับมือถือคู่แข่งหลาย ๆ ค่าย โดยราคาของแต่ละความจุมีดังนี้:

  • Pixel 4 64GB – $799 (ราว 24,000 บาท)
  • Pixel 4 128GB – $899 (ราว 27,000 บาท)
  • Pixel 4 XL 64GB – $899 (ราว 27,000 บาท)
  • Pixel 4 XL 128GB – $999 (ราว 30,000 บาท)

CNET เปรียบเทียบ Google Pixel 4 กับ iPhone 11 ความจุ 64GB ราคา 699 ดอลลาร์ แล้ว iPhone 11 จะถูกกว่า Pixel 4 อยู่ 100 ดอลลาร์ แต่ได้กล้อง wide-angle, กล้องถ่ายภาพได้ดีไม่แพ้กันและมีชาร์จไร้สายเหมือนกัน

ถ้าเทียบความจุด้วย Pixel 4 จาก 64GB ไป 128GB ต้องเพิ่มเงิน 100 ดอลลาร์ ในขณะที่ iPhone 11 จ่ายเพิ่มเพียง 50 ดอลลาร์เท่านั้น นอกจากนี้ iPhone 11 ยังมีความจุ 256GB ให้เลือกที่ราคา 849 ดอลลาร์ แต่ Pixel 4 ไม่มีตัวเลือกนี้ มีความจุสูงสุดที่เพียง 128GB

OnePlus 7T ถูก CNET นำมาเทียบกับ Pixel 4 เพราะได้ Android 10 กับหน้าจอ 90Hz เหมือนกัน แต่สิ่งที่ OnePlus 7T เหนือกว่าคือมีกล้องหลังสามตัว มีเลนส์ wide-angle และแบตเตอรีใช้งานได้นานกว่าและเปิดราคารุ่น 128GB มาแค่ 599 ดอลล่าร์ (ราคาไทย 17,990 บาท) ซึ่งถูกกว่ามาก

คะแนน
CNET : 8.5/10 คะแนน
The Verge : 8/10 คะแนน (Pixel 4), 8.5/10 คะแนน (Pixel 4 XL)
WIRED : 8/10

Blognone Jobs Premium