รีวิว Dell Studio 1535

by mk
7 April 2009 - 07:29

เป็นหนึ่งในโน้ตบุ๊กที่ Dell ประเทศไทยส่งมาให้รีวิวนะครับ จริงๆ ผมอยากได้ Mini 12 มาลองเล่นเหมือนกันแต่ว่าช้า... T_T เลยอดไป ได้ Dell Studio 15 สองตัวมาทดสอบแทน

Dell Studio เป็นโน้ตบุ๊กในสายคอนซูเมอร์ระดับกลางของ Dell โดยมันอยู่ระหว่าง Inspiron กับ XPS ทั้งในแง่ฟีเจอร์และราคา (นอกจากนี้ยังมีรุ่น Studio XPS ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างสองรุ่นนี้อีกด้วย)

ผมดูในเว็บไซต์ของ Dell พบว่าโน้ตบุ๊กในตระกูล Studio (ไม่รวม Studio XPS) มี 2 รุ่นย่อยคือ รุ่นจอ 15" และ 17" สำหรับตัวที่ได้มาทั้งคู่เป็น Studio 15 ครับ นั่นคือ Dell Studio 1535 และ Dell Studio 1555

ความแตกต่างระหว่างสองตัวนี้มีหลายจุด อย่างแรกก็คือ Studio 1535 ใช้แพลตฟอร์ม Centrino รุ่น Santa Rosa ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2007 ส่วน Studio 1555 ใช้ Centrino Montevina ที่ใหม่กว่า (ออกปี 2008) อย่างที่สองคือขนาดของจอภาพไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นจอแบบ widescreen ทั้งคู่ แต่ว่า 1555 ใช้สัดส่วนแบบ 16:9 ซึ่งน่าจะพอเข้าใจได้ว่าออกมาขายตลาดความบันเทิงในบ้านโดยเฉพาะ

อีกจุดที่สำคัญคือผมเข้าใจว่า Dell Studio 1555 มีขายเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก (เนื่องจากค้นบนเว็บของ Dell อเมริกาไม่เจอ แต่ไปเจอตาม Dell นิวซีแลนด์อะไรพวกนี้แทน) ข้อมูลอันนี้ไม่ยืนยัน เป็นการสำรวจของผมเองเพียงผู้เดียว

คราวนี้ผมหยิบ Dell Studio 1535 มารีวิวก่อน แต่ว่าการทดสอบในหลายๆ จุดไม่ว่าจะเป็นขนาด ประสบการณ์ในการใช้งาน หรือเบนช์มาร์คก็ทำควบคู่กันไปทั้งสองตัว

สเปก

รุ่นที่ได้มามีสเปกเครื่องตามนี้ครับ

  • Core 2 Duo T5850 2.16GHz
  • RAM 3GB
  • การ์ดจอ ATI Mobility Radeon HD 3400
  • ฮาร์ดดิสก์ 250GB แอบดูแล้วเป็นของ Western Digital
  • จอ 15.4" ความละเอียด 1280x800 แน่นอนว่า glossy ตามสมัยนิยม
  • กล้อง 2.0MP แอบดูแล้วเป็นของ Creative
  • Wi-Fi ใช้ Dell Wireless 1397 WLAN Mini-card ใช้ชิปเซ็ต Broadcom
  • Intel High Definition Audio 2.0
  • DVD 8x แบบสล็อต
  • Bluetooth
  • ตัวอ่านลายนิ้วมือ ยี่ห้อ AuthenTech
  • USB x3 ถ้านับรวม USB/eSATA ก็เป็น x4
  • พอร์ต HDMI, IEEE 1394, SD reader
  • แบตเตอรี่ 6 เซลล์
  • น้ำหนักบนเว็บของ Dell บอกว่า 2.77 กิโลกรัม
  • Vista Home Basic

สเปกของ Dell รุ่นนี้สามารถดูได้จากเว็บของ Dell อเมริกา

หน้าตาและรูปลักษณ์

ได้โน้ตบุ๊กขนาด 15" มาเพิ่มอีก 2 ตัวแบบนี้ เล่นเอาโต๊ะกินข้าวบ้านผมแทบจะไม่มีที่วางของเลย (ต้องเคลียร์โต๊ะเป็นการใหญ่) หน้าตาของ Dell Studio จะออกเหลี่ยมๆ คล้ายกับ XPS ดูมั่นคง แข็งแรง

(ภาพจะดูบ้านๆ ไปเล็กน้อยนะครับ เนื่องจากความสามารถในการถ่ายรูปของผมมีจำกัด เอาเป็นว่านี่คือรีวิว Dell Studio แบบบ้านๆ อันแรกของโลกละกัน)

ขอบจอบึกบึน ตัวเครื่องหนาอยู่บ้างถ้าเทียบมาตรฐานโน้ตบุ๊กสมัยนี้

เทียบขนาดให้ดูกับวัตถุอื่นที่วางอยู่แถวๆ นั้น เอาเป็นซีดี Ubuntu Jaunty 9.04 รุ่นเบต้าที่จะนำมาทดสอบด้วย

วัตถุอื่นๆ ที่วางอยู่แถวนั้น :D จะได้นึกออกกันว่าขนาดจริงประมาณเท่าไร

มาดูด้านข้างกันบ้าง ฝั่งซ้ายเป็นพอร์ตนานาชนิด จากซ้ายเริ่มตั้งแต่รูสำหรับใส่สายล็อค, สวิตช์ Wi-Fi, HDMI, VGA, USBx2 (พอร์ตบนเป็น eSATA), Ethernet, ไมโครโฟนภายนอก, หูฟังภายนอกอีก 2 รู และช่องเสียบ SD/MMC/Memory Stick

ฝั่งขวาเริ่มจาก IEEE 1394, USB x2 และสล็อตสำหรับ DVD, ตามด้วยสาย power ส่วนวงกลมขาวๆ นั้นทำหน้าที่เป็นปุ่มปิด-เปิดด้วย

ข้างในเริ่มจากคีย์บอร์ดแบบเต็มๆ

ตัวอ่านลายนิ้วมือ

คีย์บอร์ดมี backlight

ไฟแสดง Wi-Fi, Bluetooth และการทำงานจากฮาร์ดดิสก์

ฝั่งขวามือของทัชแพดมีลวดลายประกอบ (ยังกะคราบน้ำเปื้อน)

เปรียบเทียบความยาวของ 1535 (สีแดงตัวบน) กับ 1555 (สีน้ำเงินตัวล่าง)

Windows Vista

เครื่องที่ได้มาเป็นเครื่องที่ผ่านงาน Com-Mart มาสดๆ ผมเลยล้างเครื่องใหม่หมดเพื่อการทดสอบที่เที่ยงตรง ข้อดีของโน้ตบุ๊กแบรนด์ส่วนมากคือแยกพาร์ทิชันสำรองที่เก็บไฟล์ของ Windows Vista กับไดรเวอร์มาให้แล้ว สิ่งที่ผมต้องทำคือรีบูตเครื่องใหม่แล้วกด F8 เพื่อเข้าหน้าจอ Recovery ก็พอเพียง

ติดตั้งเสร็จแล้วจะพบกับ Windows Vista Home Basic (แบบ 32 บิท) และซอฟต์แวร์พรีโหลดอีกจำนวนหนึ่ง

ที่เห็นจากภาพหน้าจอได้แก่ ซอฟต์แวร์ของ Dell เอง เช่น Dell Webcam Central, Dell Support Center, Dell Dock (ซึ่งก็คือ StarDock เอามารีแบรนด์), McAfee Security Center และซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการตัวอ่านลายนิ้วมือ

วอลล์เปเปอร์ที่เห็นก็เป็นชุดของ Dell ที่เตรียมมาให้ครับ มีให้เลือกประมาณ 7-8 แบบ

คะแนน Windows Experience Index ได้ 4.0 คะแนน เพราะว่าการ์ดจออาจจะด้อยลงไปเล็กน้อย

ผมทดลองจับเวลาบูตเครื่องและปิดเครื่อง โดยนับจาก Grub (เพราะทดสอบหลังจากลง Ubuntu) แล้ว ได้ออกมาคร่าวๆ ตามนี้

  • Grub ถึงหน้าจอล็อกอิน 27 วินาที
  • Grub ถึงเดสก์ท็อป 35 วินาที (ตั้งให้ล็อกอินอัตโนมัติ และนับถึงจังหวะที่เดสก์ท็อปโผล่ขึ้นมาให้เห็น ไม่รอจนเคอร์เซอร์หยุดหมุน)
  • เวลาปิดเครื่องนับตั้งแต่กดเมาส์ที่ปุ่ม Shutdown จนถึงเครื่องดับ 33 วินาที

ระบบตรวจสอบลายนิ้วมือ

Windows Vista คงไม่มีอะไรให้ทดสอบมากนัก เพราะว่าเหมือนกับ Vista ของทุกคน ผมเลยเน้นไปที่ตัวอ่านลายนิ้วมือซึ่งหาเล่นได้ค่อนข้างยาก

ตัวผมเองมีประสบการณ์ไม่ดีกับเครื่องอ่านลายนิ้วมืออยู่บ้าง (เพราะว่ามันเป็นจุดที่ทำให้ไฟดูด!) แต่ระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ที่ Dell คอนฟิกมาให้แบบพรีโหลดก็ทำงานได้น่าประทับใจมาก

เมื่อเราใช้งานโปรแกรมที่ต้องใช้การล็อกอิน จะเห็นไอคอนของตัวอ่านลายนิ้วมือลอยขึ้นมาบนหน้าจอ ตัวอย่างเช่น หน้าเว็บของ Blognone (มันทำงานร่วมกับ Firefox 3.0 ได้ด้วย!!! แต่ Firefox 3.1 ยังไม่ได้ครับ)

คลิกที่ไอคอนครั้งแรกเพื่อเซ็ตอัพลายนิ้วมือของเราก่อน ตัวซอฟต์แวร์จะให้เราแปะลายนิ้วมือ 2 นิ้ว นิ้วละ 4 ครั้ง การจิ้มนิ้วต้องใช้ทักษะพอสมควร ต้องรูดตั้งแต่ปลายนิ้วจนถึงข้อนิ้วและไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป (ยากมากครับ) เสร็จเรียบร้อยก็สามารถล็อกอินได้ทันที

ในครั้งแรกเราจะต้องใส่ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านก่อน พอเรียบร้อยแล้ว ครั้งหน้าเข้าเว็บก็เพียงแค่ลากนิ้วผ่านเครื่องอ่านเท่านั้น (ผมลองล็อกอิน Blognone ด้วยลายนิ้วมือ มันเป็นประสบการณ์ที่เท่มาก!!!)

การทำงานของระบบลายนิ้วมือจะเหมือนกับ Keychain บนแมคหรือ seahorse ในลินุกซ์ นั่นคือเก็บรหัสผ่านของเว็บหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ไว้ในพวงกุญแจ แล้วใช้ master password หรือลายนิ้วมือเป็นตัวล็อกอินให้อีกชั้น

สามารถใช้ลายนิ้วมือล็อกอินเข้าวินโดวส์ได้เช่นกัน

สรุปว่าการล็อกอินด้วยลายนิ้วมือนั้นสะดวกมาก เพียงแต่ต้องฝึกวิธีการทาบนิ้วมืออยู่บ้าง และในบางครั้งจะน่าหงุดหงิดมากถ้าล็อกอินด้วยนิ้วมือแล้วไม่ผ่านเสียที (จะเกิดอาการ "อีกครั้งน่า" และก็ไม่ผ่าน)

ในตอนหน้าจะทดสอบด้วย Ubuntu 9.04 ทั้งในเรื่องความเข้ากันได้และเบนช์มาร์คแบบคร่าวๆ ครับ

Blognone Jobs Premium