29 ตุลาคม 2019, ครบรอบ 50 ปีเริ่มต้น Arpanet จุดเริ่มต้นแห่งอินเทอร์เน็ต คำแรกที่ส่งคือ LO

by lew
29 October 2019 - 19:39

วันที่ 29 ตุลาคม 1969 ทีมวิจัยผู้พัฒนาโครงการ Arpanet พิมพ์คำว่า LO จากคอมพิวเตอร์ SDS Sigma 7 ที่ UCLA (University of California, Los Angeles) วิ่งผ่านเครื่อง Interface Message Processor (IMP) หรือเราท์เตอร์ทุกวันนี้ ด้วยโปรโตคอล Host Software (RFC1) ไปยังเครื่อง IMP ที่สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute - SRI) เข้าไปยังเครื่อง SDS 940 แล้วคำว่า LO ก็ปรากฎขึ้นบนจอภาพ นับเป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน

ทีมวิจัยเห็นความสำเร็จตั้งแต่ตัวอักษรแรก เพราะเครื่อง SDS 940 เมื่อได้รับตัว L แล้วก็ส่งกลับไปยัง SDS Sigma 7 ทันที ทำให้จอผู้พิมพ์แสดงตัวอักษรขึ้นมา

ความตั้งใจแรกคือการพิมพ์ LOGIN เพื่อรีโมตไปยังเครื่องปลายทาง แต่เนื่องจากโปรแกรมมีบั๊กทำให้การส่งตัว G ไม่สำเร็จเพราะ buffer น้อยเกินไป การทดลองครั้งที่สองจึงส่ง LOGIN ได้สำเร็จ

การเชื่อมต่อครั้งแรกนี้เชื่อมต่อผ่านโมเด็มความเร็ว 50,000bps ผ่านสายโทรศัพท์ 12 คู่สาย เครื่อง SDS 940 มีแรมแบบ 24 บิตขนาด 65k

หลังจากนั้นเครือข่ายก็ขยายไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีการส่งมอบเครื่อง IMP เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ภายในปีเดียวกันก็เริ่มใช้งานโปรโตคอล Network Control Program (NCP) เปิดทางให้โปรโตคอลระดับแอปพลิเคชั่นอย่าง telnet และ FTP

TCP/IP ออกแบบโดย Vint Cerf และ Robert Kahn ในวารสาร IEEE ในปี 1974 ก่อนเผยแพร่เป็นเอกสาร RFC791 ในปี 1981 หรือ 12 ปีหลังจากนั้น และ Arpanet ก็ย้ายไป TCP/IP ในปี 1983 ส่วน HTTP เกิดขึ้นในปี 1989, HTTPS เกิดขึ้นโดย Netscape ในปี 1994 และ Secure Shell ออกเวอร์ชั่นแรกในปี 1995

เว็บสำคัญๆ ทั่วโลกมีบทความระลึกถึงวันนี้ เช่น Cloudflare มีบทความขนาดยาว ส่วนหนึ่งเล่าถึง ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต ที่เป็นคนแรกที่ขอโดเมนแยกประเทศ .TH ในปี 1988 ก่อนที่ทุกประเทศจะได้รับในภายหลัง (ข้อมูล Cloudflare ไม่ตรงกับแหล่งอื่นเช่น Wikipedia ระบุว่า .US จดก่อน) ส่วน Fast Company มีบทความประวัติและภาพห้อง 3420 ที่ UCLA ที่ใช้ส่งแพ็กเก็ตแรกของ Arpanet

เรื่องราวการส่งแพ็กเก็ตแรกของ Arpanet เล่าโดย Steve Crocker และ Bill Duvall ผู้ร่วมเหตุการณ์การส่งแพ็กเก็ตแรก เผยแพร่ที่ Cloudflare Blog

แผนที่ Arpanet เดือนธันวาคมปี 1969 จากภาพ DARPA ผ่านทาง Flickr:ITU Pictures

Blognone Jobs Premium