รู้จักสงครามสตรีมมิ่งจีน ศึกของยักษ์ใหญ่ iQiyi vs YouKu vs Tencent TV

by sunnywalker
1 November 2019 - 09:38

ปีนี้นับเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังเข้าสู่สงครามสตรีมมิ่งรอบใหม่ หลังจาก Netflix สามารถสร้างฐานผู้ใช้ได้นับร้อยล้านราย ผู้เล่นรายใหญ่ทั้ง Disney+, Apple TV+, HBO Max, Peacock ต่างเตรียมจะเปิดบริการในเร็วๆ นี้ และยังมีบริการสตรีมมิ่งรายเดิมที่พยายามตีตื้น Netflix ขึ้นมาอย่าง Hulu, Amazon Prime Video, YouTube Original ซึ่งแต่ละเจ้าก็พยายามลงทุนทำซีรีส์ด้วยทุนสูงเพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน ผู้บริโภคโดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ จะมีทางเลือกจำนวนมาก และกำลังจะเข้าสู่สภาวะเลือกไม่ถูกเพราะมีให้เลือกดูเต็มไปหมด (แต่เวลาชีวิตมีเท่าเดิม)

แต่ในประเทศจีน สงครามสตรีมมิ่งนั้นร้อนแรงมานานแล้ว โดยมีกลุ่มบริษัทที่เรียกกันว่า Big 3 ประกอบไปด้วย Baidu, Alibaba, และ Tencent หรือ B.A.T เป็นผู้เล่นหลัก ทั้งสามรายมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ในชื่อ iQiyi, Youku, และ Tencent Video ตามลำดับ แนวทางธุรกิจของทุกแพลตฟอร์มคือ ดูฟรีบางส่วนโดยมีโฆษณารองรับ ถ้าอยากดูให้จบต้องจ่ายเงินเป็นสมาชิกเสียก่อน

เทรนด์ที่เห็นชัดมาสักพักแล้วในวงการสตรีมมิ่งจีนคือ กลุ่มบริษัท B.A.T ลงทุนทำคอนเทนต์ออริจินัลของตัวเองแข่งกันอย่างเข้มข้น เรามาทำความรู้จักทีละรายกัน

iQiyi (อ่านว่า อ้ายฉีอี้) ผู้ได้ชื่อว่าเป็น Netflix แห่งจีน

  • เจ้าของ: Baidu
  • ซีรีส์เด่น The Story of Yanxi Palace” (延禧攻略) สืบรักตำหนักเหยียนสี่
  • ผู้ใช้งานพรีเมี่ยม 100 ล้านราย, ผู้ใช้งานแอคทีฟรายเดือน 553 ล้านราย
  • ค่าสมาชิกเริ่มต้น 36 หยวน (150 บาท)

iQiyi มีคอนเทนต์เด่นคือซีรีส์ดราม่าเกาหลี, ไต้หวัน, หนังฮอลลีวูด โดยในปี 2014 บริษัทเริ่มเน้นจับตลาดคอนเทนต์บนสตรีมมิ่งมากขึ้นด้วยการลงทุนสร้างบริษัทโปรดักชั่น iQiyi Motion Pictures ทั้งผลิตคอนเทนต์เอง และซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศ รวมถึงร่วมทุนสร้างกับบริษัทโปรดักชั่นฝั่งเกาหลี ญี่ปุ่นด้วย

iQiyi มีออริจินัลคอนเทนต์เรือธงของตัวเองคือ “The Story of Yanxi Palace” (延禧攻略) "สืบรักตำหนักเหยียนสี่" เป็นซีรีส์แนวดราย้อนยุคสมัยราชวงศ์ชิง เรื่องนี้ฮิตมากโกยยอดดูถล่มทลาย ขึ้นเทรนด์กูเกิลรายการทีวีที่มีคนค้นหาดูมากที่สุดในปี 2018

ภาพจาก ตัวอย่างซีรีส์ สืบรักตำหนักเหยียนสี่

นอกจากนี้ยังมีรายการแข่งแรพ “Rap of China” (中国有嘻哈 / 中国新说唱) ส่วนคอนเทนต์ลิขสิทธิ์เกาหลีที่ iQiyi ดีลมาได้คือ My Love from the Star, และรายการวาไรตี้ Runningman ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมสูงมากในเกาหลี

ปัจจุบัน iQiyi มีผู้ใช้งานเป็นสมาชิกราว 100 ล้านราย ผู้ใช้งานแอคทีฟรายเดือน 553 ล้านราย ส่งผลให้ iQiyi ยังคงเป็นสตรีมมิ่งที่ได้เปรียบมากในจีน ถึงขนาด Netflix ที่แม้ไม่ได้เข้ามาให้บริการในจีนโดยตรงก็เซ็นสัญญานำ Netflix Original Content เข้ามาฉายใน iQiyi เช่น Black Mirror, Stranger Things, Mindhunter, BoJack Horseman และ Ultimate Beastmaster

จุดเด่นของ iQiyi อีกอย่างคือ ตัวแอพรองรับภาษาอังกฤษ ซีรีส์ก็มีซับไตเติลอังกฤษและไทยด้วย! เจาะกลุ่มผู้ใช้งานต่างประเทศที่อยากติดตามซีรีส์จีนมาได้สักระยะแล้ว

โลกมี YouTube จีนก็มี YouKu

  • เจ้าของ: Alibaba
  • ซีรีส์เด่น Guardian แนวสืบสวนสอบสวน
  • ผู้ใช้งานพรีเมี่ยม ไม่ระบุชัดเจน, ผู้ใช้งานแอคทีฟรายเดือน 407 ล้านราย
  • ค่าสมาชิกเริ่มต้น 15 หยวนต่อเดือน (ราว 60 บาท)

YouKu เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอของอาลีบาบา ที่ผู้ใช้งานโพสต์วิดีโอของตัวเองเหมือน YouTube และหลังๆ มานี้หันมาเน้นลงทุนทำคอนเทนต์ของตัวเอง เช่น “The Advisors Alliance” (大军师司马懿 ) รายการวาไรตี้โชว์ “Street Dance of China,” 这!就是街舞, ละครดราม่า Longest Day in Chang’An,” 长安十二时辰, “Day and Night” 白夜追凶, Guardian เป็นต้น

YouKu มีโมเดลทำเงินแบบดูฟรีได้บางส่วน ถ้าดูทั้งหมดต้องจ่ายเงิน VIP ซึ่งเป็นโมเดลที่เราคุ้นเคยเวลาดูสตรีมมิ่งสายเกาหลีอย่าง VIU บริษัทไม่ได้ระบุจำนวนผู้ใช้งานแบบพรีเมี่ยมชัดเจน ผู้ใช้งานแอคทีฟรายเดือน 407 ล้านราย

ภาพจากตัวอย่างซีรีส์เรื่อง Guardian

การลงทุนทำคอนเทนต์ของ YouKu ในหลายๆ ครั้งก็ร่วมมือกับผู้สร้างคอนเทนต์ในต่างประเทศ เช่น ร่วมกับ BBC ทำรายการเด็กความยาวรวม 100 ชั่วโมง และเซ็นสัญญากับ Genius Brands International ร่วมสร้างการ์ตูนฮีโร่ Stan Lee’s Superhero Kindergarten มี Arnold Schwarzenegger เป็นโปรดิวเซอร์ด้วย

Tencent Video บุกไทยในนาม WeTV

  • เจ้าของ: Tencent
  • ซีรีส์เด่น ปรมาจารย์ลัทธิมาร, 7 Ruyi’s Royal Love in the Palace (如懿传)
  • ผู้ใช้งานพรีเมี่ยม 96.9 ล้านราย, ผู้ใช้งานแอคทีฟรายเดือน 550 ล้านราย
  • ราคาเริ่มต้น 9.95 หยวนต่อเดือน (ราว 40 กว่าบาท)

Tencent Video ถือเป็นสตรีมมิ่งจีนที่จี้ตาม iQiyi มาติดๆ ด้วยตัวเลขผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิก 96.9 ล้านราย ผู้ใช้งานแอคทีฟรายเดือน 550 ล้านราย ได้ลิขสิทธิ์คอนเทนต์จาก HBO มาสตรีม Game of Thrones ให้คนจีนได้ดูกัน และได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬา NBA ในมือ ตอนที่ NBA เปิดฤดูกาลช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คนจีนดูผ่าน Tencent Video 25 ล้านครั้ง

นอกจากนี้ Tencent ยังมีรายการวาไรตี้ค้นหาไอดอลที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง “Produce 101” (创造101) เป็นลิขสิทธิ์จากเกาหลีที่จีนนำมาสร้างใหม่ และซีรีส์ที่ได้รับความนิยมในปี 2018 คือ 7 Ruyi’s Royal Love in the Palace (如懿传) ดราม่าสมัยราชวงศ์ชิง ยุคเฉียนหลงฮ่องเต้

ภาพจาก Tencent Video

ในแง่ของความหลากหลายทางคอนเทนต์ Tencent Video ยังตามหลัง iQiyi อยู่ไม่มาก แต่ Tencent ก็พยายามลงทุนทำคอนเทนต์เองมากขึ้น โดยเฉพาะแอนิเมชั่นที่ประกาศทำถึง 47 เรื่อง และ Tencent มีบริษัทโปรดักชั่นองตัวเองด้วยเช่นกันคือ Tencent Pictures

Tencent Video ยังเริ่มรุกตลาดต่างประเทศ โดยเลือกบุกตลาดประเทศไทยเป็นประเทศแรก ในชื่อบริการว่าของ WeTV ซึ่งคนที่ติดซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมารคงจะคุ้นเคยกับชื่อนี้ ปรมาจารย์ลัทธิมารดังในไทยมาก ถึงกับนำนักแสดงหลักสองคน เสี่ยวจ้านและหวังอี้ป๋อมาจัดแฟนมีตในไทยและบัตรหมดเกลี้ยง

โดยปรมาจารย์ลัทธิมารดันยอดผู้ใช้งาน WeTV ในไทยโตขึ้น 250% นับจากเปิดตัวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดแอพเฉลี่ยเดือนละล้าน

WeTV ในไทยเป็นโมเดลดูฟรีแบบมีโฆษณาและแบบพรีเมี่ยมเสียเงิน ซึ่งผู้สมัครพรีเมี่ยมจะได้ดูซีรีส์เร็วกว่า แต่ได้ดูจำนวนคอนเทนต์เท่าๆ กับคนดูฟรี ส่วนแพลตฟอร์มจีนในชื่อ Tencent Video ใช้โมเดลดูฟรีบางส่วน บางเรื่องต้องจ่ายเงินเป็นสมาชิก VIP (ชื่อที่คนจีนเรียกบริการพรีเมียม)

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Tencent ประเทศไทยระบุว่า ในไทยมีคอนเทนต์ต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่มันยังขาดรสชาติของคอนเทนต์จีน ซึ่งจริงๆ แล้วคนไทยมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเนื้อหาจีนมานาน ไม่ว่าจะเป็นนิยายกำลังภายใน ดาราจีนยังมีฐานแฟนคลับในไทยเยอะ ดังนั้นความต้องการดูคอนเทนต์จีนของคนไทยนั้นมีอยู่แล้ว ส่งผลให้ WeTV ประสบความสำเร็จในไทย

คนดูพร้อมจ่าย ออริจินัลคอนเทนต์คือแม่เหล็ก

ผลสำรวจจาก Financial Times ระบุว่า 72% ของผู้ให้การสำรวจ จ่ายเงินดูสตรีมมิ่ง มากกว่าปี 2016 ถึง 54% และเหตุผลที่ทำให้พวกเขาจ่ายเงินกันเยอะขึ้นเป็นเพราะคอนเทนต์เอกซ์คลูซีฟที่หาดูได้ที่นี่ที่เดียว

ซีรีส์ที่คนจีนดูกันอย่างกว้างขวางคือ Story of Yanxi Palace บน iQiyi ดึงดูดคนดูรวมกันมากกว่า 18,000 พันล้านวิวในปี 2018 และเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ดึงดูดผู้ใช้งานพรีเมี่ยมรายใหม่เข้ามา 12 ล้านราย ส่วน Produce 101 รายการเรียลลิตี้ค้นหาไอดอลหญิง ก็ดันยอดสมาชิกที่ชำระเงินให้กับ Tencent Video เพิ่มขึ้น 79% ในไตรมาสที่ 3 ที่ปี 2018

ตั้งแต่ปี 2017-2019 Tencent มีผู้ใช้งานพรีเมี่ยมเพิ่ม 187% ตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่ 96.9 ล้านราย ขณะที่ iQyi เพิ่มขึ้น 160% เป็น 100 ล้านราย ส่วน YouKu ก็มีการเติบโตผู้ใช้พรีเมี่ยม 200% แต่ทางบริษัทไม่ได้บอกจำนวนผู้ใช้แน่ชัด

ดังนั้น การลงทุนทำคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ จึงเป็นสิ่งที่สตรีมมิ่งจีนหลีกเลี่ยงไม่ได้ รายงานผลประกอบการปี 2018 ของ iQiyi ระบุในหมวดความเสี่ยงว่า iQiyi ระหว่างปี 2017-2018 มีต้นทุนการลงทุนคอนเทนต์สูงขึ้น 56.1% จาก 17.4 พันล้านหยวน (75,000 ล้านบาท) เป็น 27.1 พันล้านหยวน (120,000 ล้านบาท) เท่ากับว่าบริษัทต้องทำเต็มที่เพื่อดันยอดผู้ใช้งานให้โตเพื่อจะนำรายได้มาชดเชยส่วนนี้ และ iQiyi ก็ยอมรับว่ายังคงมีการขาดทุนอันเนื่องมาจากการลงทุนดังกล่าว ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดขึ้นแล้วกับ Netflix

นอกจากต้องแข่งกันเองแล้ว บริษัท Big Three ก็ต้องรับมือสตรีมมิ่งรายเล็กที่มีคอนเทนต์เฉพาะทางของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Mango TV เป็นเครือข่ายโทรทัศน์รายใหญ่ของจีนปรับตัวมาทำสตรีมมิ่ง ได้สิทธิ์ฉายคอนเทนต์จากเครือข่ายทีวีใหญ่คือ Hunan Satellite มีผู้ใช้งานแอคทีฟ 120 ล้านราย และมีผู้ใช้งานแบบเสียเงิน 15 ล้านราย (หนังไทย "สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก" ที่จีนซื้อไปรีเมคก็ฉายที่ Mango TV)

Bilibili สตรีมมิ่งเน้นคนชอบอะนิเมะ ที่มีเงินอย่างเดียวก็ไม่พอ แต่ต้องตอบคำถาม 100 ข้อเกี่ยวกับเกม-การ์ตูนให้ผ่าน ถึงมีสิทธิ์จ่ายเงินเพื่อเป็นสมาชิก VIP ได้ ตอนนี้มีสมาชิก VIP ไม่น้อยทีเดียว ราว 6 ล้านราย

Sohu TV เป็นบริษัทย่อยของ Sohu บริการค้นหาในจีน แม้เป็นรายเล็กแต่ก็ทุ่มสูง ซื้อลิขสิทธิ์ “House of Cards” จาก Netflix มาฉาย เมื่อเข้าเว็บไซต์และลองเลื่อนดูก็เห็นคอนเทนต์ต่างประเทศทุนสร้างสูงหลายเรื่อง ทั้ง Breaking Bad, Better Call Saul, Big Bang Theory

Xigua Video เป็นอีกบริการของ ByteDance บริษัทเจ้าของ Tik Tok เดิมมันไม่ใช่บริการสตรีมมิ่งเสียทีเดียว แต่เป็นแอพวิดีโอสั้นแบบเดียวกับ Tik Tok แต่ผู้ใช้สามารถโพสต์คลิปได้ยาวขึ้นเป็นราว 2-3 นาที
Xigua Video ในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านตัวเองจากแพลตฟอรมคลิปสั้นสู่สตรีมมิ่ง มีคอนเทนต์ของตัวเองคือ วาไรตี้โชว์ “Top Task” (头号任务) โดยรวมยังเป็นสตรีมมิ่งน้องใหม่มาก และช้ากว่ารายอื่นหลายก้าว

สตรีมมิ่งจีน กับการเซนเซอร์ตามแนวทางรัฐบาล

อีกหนึ่งขวากหนามสำคัญของอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งจีนคือ การเซนเซอร์โดยรัฐบาลจีน ซึ่งอุตสาหกรรมออนไลน์โดนมาสักพักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เสิร์ชเอนจิ้นเซนเซอร์คำอ่อนไหว เกม เป็นต้น สตรีมมิ่งจีนก็ได้รับผลกระทบกลายๆ ด้วย

ตัวอย่างสำคัญคือ ซีรีส์เรื่อง The Story of Yanxi Palace สืบรักตำหนักเหยียนสี่ ของ iQiyi โดน Beijing Daily สื่อที่ดำเนินการโดยรัฐเขียนวิจารณ์ว่า สมควรแล้วหรือที่จะถวายเกียรติแด่ราชวงศ์และพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้มีในจีนมานานเป็นร้อยปีแล้ว ถือเป็นการบ่อนทำลายพรรคคอมมิวนิสต์ปัจจุบันหรือไม่

ด้วยนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์เป็นใหญ่ และประจวบเหมาะกับเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมาเป็นโอกาสครบรอบ 70 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นช่วงครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์เทียบอันเหมิน ช่วงที่มีพิธีการสำคัญ บรรดาสตรีมมิ่งรายใหญ่ต่างเลื่อนเวลาออกอากาศละครย้อนยุคของตัวเองออกไปไม่ให้ชนกับเหตุการณ์เหล่านี้ แต่ละบริษัทก็ไม่อยากเสี่ยงให้ละครย้อนยุคของตัวเองโดนรัฐบาลจีนแบน เพราะละครแนวนี้เป็นละครยอดนิยมที่เรียกผู้ชมได้มหาศาล

สรุป

รายใหญ่ยังคงได้เปรียบในสงครามสตรีมมิ่งจีน เพราะนอกจากมีคอนเทนต์ในมือเยอะกว่า ยังมีกำลังในการทุ่มโปรโมชั่นดึงดูดให้คนมาใช้งานได้มากกว่า เช่น Tencent Video ร่วมมือกับเครือร้านค้าปลีก Suning ทำดีลให้สมัครพรีเมี่ยมในราคา 99 หยวนต่อปี จากราคาเดิม 497 หยวน เป็นต้น

ลักษณะร่วมกันของสตรีมมิ่งจีนอีกอย่างคือมีการแชร์คอนเทนต์ข้ามกันไปมาเป็นเรื่องปกติ เวลาเข้าแต่ละเว็บอาจเจอละครทีวีซ้ำกันบ้าง แต่ทิศทางที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นคือ แต่ละรายลงทุนสร้างคอนเทนต์เองเพื่อสร้างเอกลักษณ์และดึงดูดผู้ใช้งานให้มาจ่ายเงิน รวมทั้งดีลคอนเทนต์ต่างประเทศเข้ามาบนแพลตฟอร์มให้ได้เยอะๆ บางเว็บยังมีละครไทยด้วย

ธรรมชาติของซีรีส์จีนยังกระตุ้นให้เกิดการดูแบบข้ามวันข้ามคืน (binge watching) เพราะแต่ละเรื่องมีความยาวประมาณ 40-50 ตอน และหากคอนเทนต์ประสบความสำเร็จทั้งในแง่เนื้อหาและดารา ก็จะต่อยอดเป็นซีซั่นต่อไปเรื่อยๆ ต่างจากซีรีส์ตะวันตกหรือเกาหลีที่มีราว 16 ตอนต่อ 1 ซีซั่น ยิ่งซีรีส์ใหม่ๆ ใน Netflix จำนวนตอนยิ่งน้อยลง บางเรื่องมีแค่ 6 ตอนเท่านั้น

การแข่งขันสตรีมมิ่งจีน ยังถือว่าเป็นยุครุ่งเรื่องของการสร้างละครจีน ข้อมูลจาก Analysis Report on 2017 Online Original Program Development จากบริษัทวิจัย Monitor Center of State Administration Center of Radio and Television ระบุว่า เฉพาะปี 2017 โปรดักชั่นจีนผลิตละครใหม่ออกมา 206 เรื่อง มีเนื้อหาหลากหลายและเริ่มสะท้อนสังคมด้วย

ส่วนคนไทยที่ห่างหายจากการดูซีรีส์จีนไปนาน ก็น่าจะมีโอกาสได้กลับมานิยมหนังจีนเป็นวงกว้างกันอีกครั้งผ่านประสบการณ์ดูแบบสตรีมมิ่งและโปรดักชั่นที่ทันสมัย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วกับซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมารของ WeTV และเราจะได้ดูคอนเทนต์จีนอีกมากที่ Tencent เตรียมขนเข้ามาในไทย เป็นอุปสรรคต่อเวลานอนต่อไป

ที่มา - China Film Insider 1 2, Verdict

Blognone Jobs Premium