เพิ่มข้อมูลเรื่องแอพพลิเคชั่นบนเดสก์ทอป
วันนี้ YouTube เปิดให้ใช้งาน YouTube Premium ในไทย ดูวิดีโอได้แบบไม่มีโฆษณา และมีสิทธิเข้าถึงคอนเทนต์ YouTube Content Original ที่ต้องเสียเงินเท่านั้น ค่าบริการในไทยเดือนละ 159 บาท สำหรับผู้ใช้งาน Android และ 209 บาท สำหรับผู้ใช้งาน iOS
สมาชิก YouTube Premium ยังสามารถใช้บริการ YouTube Music สตรีมมิ่งเพลงได้ การใช้งานจำเป็นต้องโหลดแอพอีกตัวคือ YouTube Music มาใช้งาน หากอยากใช้งานแค่ YouTube Music อย่างเดียว ไม่สนใจดูซีรีส์หรือวิดีโอไม่มีโฆษณา ก็สามารถทำได้เช่นกัน ค่าบริการอยู่ที่ 199 บาทต่อเดือน แชร์ได้ 6 คน หารออกมาแล้วตกคนละ 33 บาท
ในบทความนี้จะรีวิวแบบเร็วๆ เฉพาะแอพ YouTube Music เท่านั้น
ทันทีที่เข้าใช้งาน ถ้าใช้อีเมลเดียวกันกับที่ใช้งาน YouTube ตามปกติ ระบบจะเลือกเพลง และรายการวิดีโอที่น่าจะตรงตามความชอบของผู้ใช้งานให้
การใช้งานมีสามปุ่มหลักคือ
หน้า Home รวมเพลย์ลิสต์ที่น่าสนใจเอาไว้ ทั้งเพลงและวิดีโอ รวมถึงเพลย์ลิสต์ที่ YouTube คัดมาให้ด้วย เช่น รวมเพลงฮิตวันนี้ รวมเพลงไทยป๊อบ ลูกทุ่ง เพลงไทยฮิปฮอป และเพลย์ลิส์ตามแนวเพลง รวมเพลงอินดี้ โซล เพลงใหม่จากศิลปินดัง รวมถึงวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับศิลปินที่เราติดตาม เป็นต้น
หน้า Hotlist รวมมิวสิควิดีโอออกใหม่จากศิลปินดัง ดูจากการแสดงผลแล้ว ระบบเลือกที่จะแสดงวิดีโอจากศิลอินที่มียอดดูสูง ทั้งไทย และต่างประเทศ หรือขึ้นอยู่กับประสบการณ์ฟังเพลงดูวิดีโอของแต่ละคน
หน้า Library จะเป็นช่องทางที่เราสามารถสร้างเพลย์ลิสต์เองได้
หนึ่งในฟีเจอร์คนใช้งาน YouTube ต้องการกันมากคือให้ฟังเพลงต่อได้แม้ปิดล็อกหน้าจอมือถือ ซึ่งใน YouTube Music ทำได้แล้ว สามารถทำได้แม้กระทั่งดู MV อยู่ แม้ปิดหน้าจอไม่ได้ดู MV ต่อ เพลงก็ยังคงเล่นต่อไปได้
ผู้ใช้สามารถเลือกโหมดเพลงได้ ว่าจะฟังแบบเวอร์ชั่น MV หรือเวอร์ชั่นเพลงเฉยๆ โดยจะมีไอคอนด้านบนตรงเพลงที่ฟังอยู่ ว่า Song หรือ Video
YouTube Music มีฟีเจอร์ด้านการฟังเพลงไม่แพ้ Apple Music, Spotify, Soundcloud หน้าตาการใช้งานสวย ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ที่สำคัญมีเพลงไทยเยอะพอที่จะตอบโจทย์รสนิยมคนฟังเพลงไทยได้
การเข้าใช้แอพช่วงแรกๆ ระบบจะเสนอเพลงให้เราโดยอิงกับประวัติการใช้ YouTube ซึ่งยังไม่ค่อยหลากหลายนัก แต่จากการกดฟังเพลงไปได้สักพัก ระบบจะเริ่มเสนอเพลงที่สอดคล้องกับรสนิยมมาให้ในหน้า Home มากขึ้น
ฟีเจอร์ที่ชอบคือฟังเพลงต่อได้แม้ล็อกหน้าจอ ถือเป็นฟีเจอร์สำคัญมาก เพราะเราจะได้ฟังเพลงจากคอนเสิร์ตของศิลปินที่เราชอบ ซึ่งหลายครั้ง เพลงในคอนเสิร์ตมีเฉพาะจากคลิปบน YouTube เท่านั้น ไม่มีบนแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Spotify และก่อนหน้านี้ผู้ใช้งานไม่มีทางเลือกอื่น ต้องกดเข้ามาฟังใน YouTube แบบเปิดจอ
ฟีเจอร์นี้ของ YouTube Music ช่วยให้คนชอบฟังเพลงเวอร์ชั่นคอนเสิร์ตใช้ชีวิตง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องรำคาญโฆษณา และฟังได้แม้ปิดล็อกหน้าจอ
YouTube Music มีแอพพลิเคชั่นบนเดสก์ทอปด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์สำคัญของ Spotify ที่ช่วยให้การฟังเพลงบนโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ทำได้ง่ายและเร็วขึ้น ไม่ต้องเข้าเว็บไซต์ก่อนเสมอไป สามารถตั้งปุ่มแอพให้สแตนด์บายบนแถบปักหมุดด้านล่างหน้าจอได้
อีกสิ่งที่สังเกตเห็นคือ YouTube Music ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพอดคาสต์มาก ไม่มีเพลย์ลิสต์หรือเมนูแยกเฉพาะสำหรับพอดคาสต์ และเมื่อลองค้นหาดูก็ไม่ได้มีเพลย์ลิสต์มาก เทียบกับ Spotify ที่เอาจริงเรื่องพอดคาสต์มากๆ แล้วยังห่างไกล
ข้อจำกัดอีกอย่างของ YouTube Music คือยังแชร์เพลงไปยัง Stories ใน Instagram และ Facebook ไม่ได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คนยุคใหม่นิยมทำเพื่อเป็นการแสดงออกถึงตัวตนและรสนิยมเพลงให้เพื่อนๆ รับทราบ
YouTube เปิดตัว YouTube Music เวอร์ชั่นใช้งานฟรีในไทยด้วย หน้าตาการใช้งานเหมือนกันทุกอย่าง แต่มีฟีเจอร์สำคัญที่หายไปคือ เล่นเพลงบนแบคกราวด์ตอนปิดหน้าจอไม่ได้, มีโฆษณา ซึ่งอาจจะเป็นโฆษณาที่มาตอนเริ่ม คั่นกลางก็ได้ และ ไม่สามารถโหลดเพลงฟังออฟไลน์ได้
แต่ YouTube Music เวอร์ชั่นใช้งานฟรีสามารถสร้างเพลย์ลิสต์ได้ตามใจชอบ และสามารถเข้าถึงคลังเพลงได้เท่ากับ YouTube Music แบบเสียเงิน