เราคงพูดได้เต็มปากแล้วว่า Kubernetes กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญของโลกเซิร์ฟเวอร์ในยุคนี้ (อ่าน รู้จัก Container มันคืออะไร และ Kubernetes คืออะไร)
บริษัทอย่าง VMware ที่สร้างชื่อมาจากเทคโนโลยี virtualization ย่อมเริ่มโดนคุกคามจากเทคโนโลยี container ที่สามารถทดแทนกันได้ (ในบางรูปแบบการใช้งาน) ทำให้รอบปีที่ผ่านมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักของ VMware ในการปรับตัวเข้าสู่ยุค Kubernetes
ผมได้รับเชิญจาก VMware ให้เข้าร่วมงาน vFORUM 2019 Singapore ที่สิงคโปร์ เปรียบได้กับการยกงานใหญ่ VMworld จากสหรัฐอเมริกามาจัดที่เอเชีย โดย Pat Gelsinger ซีอีโอของ VMware เป็นคนบินมากล่าวเปิดงานเอง และหัวใจสำคัญของงานปีนี้ก็คือคำนี้ "Kubernetes"
Pat Gelsinger ซีอีโอ VMware
ปี 2019 ถือเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของ VMware หลายอย่าง ในเรื่อง Kubernetes มีตั้งแต่การซื้อ Heptio บริษัทของผู้ร่วมก่อตั้ง Kubernetes, การซื้อ Pivotal บริษัทพี่น้องที่ทำธุรกิจ Kubernetes ด้วยเช่นกัน, การเปิดตัว VMware Tunzu ชุดซอฟต์แวร์สำหรับจัดการ Kubernetes และ Project Pacific ที่จะเปลี่ยนซอฟต์แวร์แกนหลักของบริษัทอย่าง vSphere ให้รองรับ Kubernetes ด้วย
ในรอบปีนี้ VMware ยังซื้อกิจการด้านอื่นอีกหลายราย ได้แก่
ก่อนหน้านี้ VMware ยังประกาศความร่วมมือกับผู้ให้บริการคลาวด์แทบทุกราย นับตั้งแต่การจับมือกับ AWS ตั้งแต่ปี 2016 ไล่มาจนถึง Azure, Google Cloud, IBM และ Oracle
อะไรคือวิธีคิดของ VMware ในเรื่องนี้? คงต้องย้อนกลับมาดูกันที่ยุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ของบริษัทกัน
สไลด์ข้างต้นคือแผนภาพที่ Pat Gelsinger นำมาโชว์บนเวที เขาย้ำว่าโลกยุคนี้หลีกเลี่ยงความเป็น multi-cloud ไม่พ้น ตัวโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นคลาวด์ VMware ในองค์กร หรือจะเป็น public cloud ยี่ห้อต่างๆ ก็ได้ทั้งนั้น (ถ้าประเทศไหนไม่มีศูนย์ข้อมูลคลาวด์ระดับโลกไปตั้ง ก็ยังมีกลุ่มพาร์ทเนอร์ที่เรียกว่า VMware Cloud Verified Partners ให้เรียกใช้ได้ ในบ้านเราคือ INET)
สิ่งสำคัญคือคลาวด์แต่ละตัวต้องเหมือนกัน (consistent infrastructure) การที่ VMware ไล่จับมือกับคลาวด์ทุกเจ้า สร้างพาร์ทเนอร์เป็นผู้ให้บริการรายย่อยๆ จำนวนมาก จึงเป็นสิ่งสำคัญของยุทธศาสตร์นี้ เพราะลูกค้าสามารถย้ายงานไปรันบนคลาวด์ค่ายไหนก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป เพราะคลาวด์ทุกค่ายมี VMware รันอยู่ทั้งหมด
เมื่อฐานพร้อมแล้ว ในฝั่งของผลิตภัณฑ์เอง VMware แบ่งธุรกิจของตัวเองออกเป็น 5 ส่วนคือ
การผลักดัน Kubernetes เกิดขึ้นในฝั่งธุรกิจ Build ที่ก่อนหน้านี้ VMware ไม่เคยมี และไล่ซื้อกิจการในรอบ 1-2 ปีนี้เพื่อสร้างธุรกิจนี้ให้เกิดขึ้น
การซื้อกิจการ Pivotal เป็นจิ๊กซอที่สำคัญมาก เพราะ Pivotal มีธุรกิจหลักอยู่ 3 อย่างคือ
การซื้อ Pivotal ทำให้ VMware ได้ชิ้นส่วนสำคัญทั้ง 3 ก้อนมา (แม้ Cloud Foundry กับ Kubernetes มีส่วนที่ทับซ้อนกันบ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมด และช่วงหลัง Cloud Foundry ก็พัฒนาตัวเองให้รันบน Kubernetes ได้ด้วย)
VMware จับชิ้นส่วนของ Pivotal และ Spring เข้าไปอยู่ในธุรกิจส่วน "Build" หรือการพัฒนาแอปพลิเคชัน ร่วมกับ Bitnami อีกบริษัทที่ซื้อกิจการมา (เป็นบริการ marketplace สำหรับแพ็กเกจแอปพลิเคชันพร้อมใช้บน Kubernetes)
ส่วนตัว PKS ที่เป็นดิสโทร Kubernetes ในองค์กร (ลักษณะเดียวกับ Amazon EKS, Microsoft AKS, Google GKE หรือดิสโทรอื่นๆ) จับเข้ามาอยู่ในธุรกิจ "Run" ที่เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ทำให้ VMware มีระบบจัดการโครงสร้างในยุค container/orchestration เพิ่มเข้ามาทันที
เดิมที VMware เป็นเจ้าตลาดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีอยู่แล้ว เพราะเป็นเจ้าของเทคโนโลยี virtualization ที่ตลาดองค์กรใช้กันมายาวนาน บริษัทตอบรับภัยคุกคามจาก container ด้วยการซื้อ PKS เข้ามาเสริมทัพ ให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะรัน virtualization (vSphere/vCloud) แบบดั้งเดิม หรือจะรันงานแบบ container ยุคใหม่ (PKS)
แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะกระแสความเชี่ยวกรากของ container น่าจะเข้ามากินตลาด virtualization มากขึ้นเรื่อยๆ VMware จึงรับมือด้วยกระบวนท่าที่สองคือ "Project Pacific"
Project Pacific คือการนำซอฟต์แวร์ดั้งเดิมของบริษัทอย่าง vSphere (server CPU virtualization) มาปรับโครงสร้างพื้นฐานหลังบ้านใหม่ ให้รองรับ container ได้ในตัวแบบเนทีฟ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ vSphere ในรอบ 20 ปีเลยก็ว่าได้
แนวคิดของ VMware คือไม่ว่าตัวเครื่องเสมือนนั้นจะเป็น VM แบบดั้งเดิม, เป็น pod หรือ cluster ในยุค container แต่ในภาพรวมแล้วมันก็คือเครื่องเซิร์ฟเวอร์เสมือนเช่นกัน สามารถใช้เครื่องมือเดิมๆ ที่แอดมินองค์กรคุ้นเคยมายาวนาน ใช้จัดการทรัพยากรเหล่านี้ได้ทันที
ตอนนี้ Project Pacific ยังมีสถานะเป็น Beta และคงต้องรออีกสักระยะถึงจะออกรุ่นสมบูรณ์
ชิ้นส่วนสุดท้ายคืองานกลุ่ม Manage ซึ่งจะมี Tanzu Mission Control ซอฟต์แวร์ตัวใหม่ที่ใช้ควบคุม Kubernetes บนคลาวด์หลายๆ ตัว ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มาจากบริษัท Heptio หรือใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่มีอยู่ในโลก Kubernetes อยู่แล้ว
กล่าวโดยสรุปคือ ยุทธศาสตร์ VMware ในการเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่โลก Kubernetes จึงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ทั้งหมดถูกแบรนด์ในชื่อว่า VMware Tanzu (มาจากภาษาสวาฮีลี แปลว่า กิ่งไม้งอกจากต้น, พ้องเสียงกับภาษาญี่ปุ่น tansu แปลว่าตู้ที่แยกส่วนได้)
VMware Tanzu จึงถือเป็นก้าวสำคัญของ VMware ในการก้าวตามให้ทันโลกใหม่ของ Kubernetes โดยอาศัยแต้มต่อของตัวเองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างไอทีองค์กร มาผนวกกับการซื้อกิจการบริษัทต่างๆ เข้ามาเติมเต็ม
ส่วนการก้าวเดินครั้งนี้ (ที่อาจจะช้าไปสักหน่อย) จะตามทันคู่แข่งรายอื่นๆ ในโลก Kubernetes อย่าง Red Hat OpenShift (ที่ปัจจุบันไปรวมร่างกับ IBM แล้ว) หรือ Google Anthos (ที่ใช้บางส่วนของ VMware ในการจัดการคลัสเตอร์ด้วย) หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตากันต่อไป