หนึ่งในเทคโนโลยีที่กล่าวถึงมากในปีนี้คือ การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ หรือ Cloud Computing หากแต่เทคโนโลยีนี้อาจทำให้หลายๆ คนสงสัยและถกเถียงถึงบทบาทที่แท้จริงของมัน Joe Weinman จาก AT&T Business Solutions ได้สรุปคุณสมบัติ 6 ข้อที่เขาคิดว่าทุกคนน่าจะเห็นร่วมกันจากมุมมองธุรกิจ เพื่อให้เป็นประเด็นทางความคิดกันต่อไป ดังนี้
1. ประโยชน์ของกลุ่มเมฆคือการลดค่าใช้จ่าย
โครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มเมฆจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้ได้ หากความต้องการใช้งานหรืออุปสงค์ (demand) มีมากพอที่จะทำให้เกิดต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง หรือในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าการประหยัดจากการขยายการผลิต หรือ Economies of Scale นั่นเอง
จะเห็นได้ชัดว่าธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็กอาจใช้ประโยชน์ข้อนี้ผ่านผู้ให้บริการกลุ่มเมฆได้ ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่อาจเห็นประโยชน์ได้น้อยกว่า เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนในการสร้างระบบที่มีขนาดใหญ่จะใกล้เคียงกับระบบของผู้ให้บริการกลุ่มเมฆ แต่ในขณะเดียวกับหากผู้ให้บริการกลุ่มเมฆสามารถจัดสรรทรัพยากรให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ โดยใช้หลักการควบรวมอุปสงค์ที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน (uncorrelated demand) เช่นจัดสรรให้กับลูกค้า 2 รายที่ต้องการใช้ระบบในช่วงเวลาที่ต่างกันได้ การลดต้นทุนต่อหน่วยสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้
2. ระบบสารสนเทศทุกอย่างจะถูกย้ายไปอยู่บนกลุ่มเมฆ
Nick Carr ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Big Switch ว่า ในอนาคตการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆจะเดินตามรอยของระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบไฟฟ้า จากเดิมที่บริษัทและโรงงานต่างๆ ต้องใช้เครื่องปั่นไฟเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง ปัจจุบันโรงงานผลิตไฟฟ้าสามารถทำได้ด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่า อันเนื่องมาจากการผลิตในปริมาณมาก ประกอบกับความสามารถของระบบส่งกระแสไฟฟ้าไปยังที่ต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นที่บริษัทหรือโรงงานต่างๆ ต้องผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองนั้นลดลง
ในระบบสารสนเทศต่างๆ นั่นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ลดลง ทั้งในส่วนของสัญญาอนุญาต (license) ที่อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายล่วงหน้า และในส่วนของบุคลากรที่ต้องดูแลระบบ ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จของเทคโนโลยีนี้ก็น่าจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และขณะเดียวกันบริษัทและองค์กรต่างๆ ก็ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเลือกใช้ระบบสารสนเทศภายในกับการใช้ผ่านผู้ให้บริการกลุ่มเมฆ ซึ่งจุดนี้จะถูกกำหนดด้วยราคาของผู้ให้บริการ (utility price premium) และอัตราส่วนของความต้องการ ณ จุดสูงสุด เทียบกับความต้องการโดยเฉลี่ย (peak-to-average ratio of demand)
3. กลุ่มเมฆจะเปลี่ยน “ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน” เป็น “ค่าใช้จ่ายในที่จัดการและควบคุมได้”
ระบบสารสนเทศในบริษัทปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่นับว่าเป็น “ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน” (CAPEX: CAPital EXpenditure) เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรในการดำเนินงาน ในขณะที่การใช้บริการกลุ่มเมฆผ่านผู้ให้บริการนั้น จะแปลงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้เป็น “ค่าใช้จ่ายที่จัดการและควบคุมได้” (OPEX: OPerating EXpenditure) เพราะนับว่าเป็นค่าใช้บริการ ไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ
คำศัพท์สองตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ซีเอฟโอของบริษัทจะต้องพิจารณาเมื่อมีการลงทุนใดๆ ก็ตาม ซึ่งในความหมายโดยทั่วไปนั้น OPEX จะถือว่ามีความคล่องตัวมากกว่า (เงินไม่จมและมีการไหลเวียนของเงิน) อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่า CAPEX จะแย่ และ OPEX เป็นสิ่งที่ดีกว่าเสมอไป แต่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบริษัท ณ ขณะนั้น
4. กลุ่มเมฆสาธารณะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากลุ่มเมฆส่วนตัว
ไม่ว่าจะเป็นแบบสาธารณะ (public cloud) หรือแบบส่วนตัว (private cloud) ระบบทั้งสองก็มีความสามารถไม่แตกต่างกัน ทั้งในด้านการจัดสรรทรัพยากรการประมวลผล, Virtualization, หรือการปรับแต่งระบบ เนื่องจากถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานเดียวกัน ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือ หากเลือกสร้างระบบกลุ่มเมฆแบบส่วนตัวเพื่อใช้งาน ก็ต้องใช้เงินลงทุน นั่นหมายถึงสร้างข้อผูกมัดให้กับตัวบริษัทเองในระยะยาว
การเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งก็คล้ายกับการเลือกใช้ ระบบไฟฟ้า (ผลิตเองหรือซื้อจากการไฟฟ้าฯ), การเช่ารถ (ซื้อรถบริษัทหรือใช้รถเช่า), หรือเช่าโรงแรม (สร้างโรงแรมส่วนตัว หรือไปเช่าโรงแรมเมื่อจำเป็น) ทั้งนี้การตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจำเป็นและความคุ้มค่าในการลงทุนนั่นเอง
5. กลุ่มเมฆจะได้ประโยชน์จาก Virtualization
เทคโนโลยี Virtualization จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของบริการกลุ่มเมฆ และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี Virtualization ด้วยตัวของมันเองก็ช่วยเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างบนพื้นฐานของกลุ่มเมฆ
6. กลุ่มเมฆช่วยลดโลกร้อน
การนำทรัพยากรการประมวลผลมาแบ่งใช้กับระบบสารสนเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถลดปริมาณการผลิตอุปกรณ์, การใช้พลังงานไฟฟ้า, และความร้อนที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ที่มา – GigaOM