ช่วงนี้มีการแชร์ข่าวจากเพจเฟซบุ๊กบางเพจว่า "อวสานยูทูปช่องเด็ก" (ขออนุญาตสะกดตามต้นทาง) ที่ระบุว่า YouTube ออกกฎห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีมาแสดงในคลิป ทำให้เกิดความสงสัยกันมาก
Blognone ตรวจสอบประเด็นข่าวนี้กับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Google Thailand และประกาศของ YouTube ฉบับภาษาอังกฤษ สรุปได้ว่าข่าวเรื่องการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีแสดงในคลิปไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
สิ่งที่ YouTube ประกาศจริงๆ คือคลิปวิดีโอที่เจาะกลุ่มผู้ชมเป็นเด็ก (made for kids) จำเป็นต้องประกาศตัวให้ชัดเจน และจะถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ชม (ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็ก) โดย YouTube ไม่ได้ห้ามเด็กแสดงในคลิปแต่อย่างใด ประกาศของ YouTube มีรายละเอียดดังนี้
ต้นเหตุที่กูเกิลเปลี่ยนนโยบายเรื่องเด็กใน YouTube เกิดจากข่าวในเดือนกันยายน 2019 ที่คณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (FTC) สอบสวน YouTube ว่าละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเด็ก (Children's Online Privacy Protection Act หรือตัวย่อ COPPA) ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2000
สิ่งที่ YouTube ทำคือเก็บข้อมูลของผู้รับชมคลิปวิดีโอ (ที่เป็นเด็ก) เหมือนกับผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ แล้วนำข้อมูลส่วนบุคคลนี้เปิดให้ผู้ลงโฆษณาสามารถทำ targeting ads เป็นรายบุคคลได้
กูเกิลยอมความกับ FTC โดยจ่ายค่าปรับ 170 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5,200 ล้านบาท) และประกาศปรับเปลี่ยนการทำงานของ YouTube หลายอย่าง ดังนี้
ประกาศต้นฉบับของกูเกิลอ่านได้จาก An update on kids and data protection on YouTube หรืออ่านได้จากเธร็ดนี้ในทวิตเตอร์ @YouTube ก็ได้เช่นกัน
จะเห็นว่าประเด็นสำคัญของกูเกิลคือ ทุกคลิปบน YouTube ต้องแยกแยะให้ชัดว่าเป็นคลิปสำหรับเด็กหรือไม่ (made for kids) เพราะกูเกิลมีวิธีปฏิบัติตัวที่แตกต่างกันชัดเจนระหว่างคลิปเด็กและคลิปทั่วไป (ตามที่ยอมความกับ FTC) แต่กูเกิลไม่ได้ระบุว่าห้ามเด็กเป็นตัวแสดงในคลิป (ซึ่งจะเป็นคลิปสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ไม่ได้สนใจ)
กูเกิลอ้างตามนิยามของ FTC ตามกฎหมาย COPPA ว่าคลิปนั้นจะเป็น made for kids สำหรับเด็ก (ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาคือต่ำกว่า 13 ปี) ต่อเมื่อ
ปัจจัยที่ว่านี้มีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น
ประกาศของกูเกิลสามารถดูได้จาก Determining if your content is made for kids และรายละเอียดจาก FTC
ฝั่งของผู้ชม YouTube แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เพราะยังมีคลิปสำหรับเด็กให้ดูเหมือนเดิม
กลุ่มที่กระทบจริงๆ คือผู้สร้างคลิปสำหรับเด็กบน YouTube หรือที่เราเรียกว่า "ครีเอเตอร์" เพราะโอกาสทำเงินจากโฆษณาจะลดลงนั่นเอง เนื่องจากกูเกิลปิดระบบ personalized ad บนคลิปสำหรับเด็ก เหลือเพียงโฆษณาธรรมดาที่ยิงหว่านๆ แบบไม่ระบุตัวตน รายได้จากการดูโฆษณาต่อครั้งย่อมลดลงไปด้วย
ส่วนครีเอเตอร์ทั่วไป ที่แม้ไม่ได้ทำคลิปสำหรับเด็กก็ตาม ยังได้รับผลกระทบว่าต้องไประบุว่าคลิปของเราที่อัพโหลดไปแล้ว เป็นคลิปสำหรับเด็กหรือไม่ วิธีการสามารถทำได้จากหน้า YouTube Studios แล้วเลือก Settings > Channel > Advanced settings ตามภาพ
เราสามารถเลือกได้ว่าคลิปทั้งช่องของเราทำมาเพื่อเด็ก (ตัวเลือกแรก Yes) หรือไม่ได้ทำมาเพื่อเด็กเลย (ตัวเลือกที่สองคือ No) หรือต้องการระบุเป็นรายคลิปไปก็ทำได้เช่นกัน ในหน้าตั้งค่าของคลิปวิดีโอแต่ละลิป - อ้างอิงจากประกาศของ YouTube
เพื่อความง่ายในการรับชม ทาง YouTube ก็ทำคลิปอธิบายเรื่องนี้ออกมาให้ครีเอเตอร์ดูกันด้วย
YouTube ยังไม่ระบุกรอบเวลาว่าต้องตั้งค่าผู้ชมในคลิปภายในช่วงเวลาไหน บอกเพียงแค่ว่าจะเริ่มปิดฟีเจอร์บางอย่างในคลิปสำหรับเด็กตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 เป็นต้นไป
สุดท้าย YouTube ยังโฆษณาว่า สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง แนะนำให้ใช้แอพ YouTube Kids เปิดคลิปให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีดีกว่า เพราะมีมาตรการคัดกรองคลิปที่เข้มงวดกว่า มีฟีเจอร์จัดการคลิปให้เด็กเป็นรายบุคคล (สร้างโพรไฟล์ของเด็กแต่ละคน) ที่ผู้ปกครองสามารถดูได้ว่าเด็กดูคลิปใดบ้าง นานแค่ไหน ฯลฯ
YouTube Kids มีให้ใช้ทั้งบน iOS, Android และหน้าเว็บ